I Am Plastic : ความในใจของน้องพลาสติก

          เกิดเป็นพลาสติกมันก็น่าน้อยใจในชะตาชีวิตจริง ๆ เมื่อมนุษย์คิดว่า "ฉันหมดประโยชน์" ก็พากันทิ้งขว้างไม่ไยดี ทั้งที่จริงแล้ว ฉันยังสามารถ "กลับ" มามีประโยชน์ได้อย่างคาดไม่ถึง บางทีฉันก็น้อยใจตัวเองที่มักถูกคนเข้าใจผิด เนื่องจากการกระทำของคนที่ไร้ความรับผิดชอบ อย่างข่าวพะยูนน้อย "มาเรียม" นางฟ้าตัวน้อยแห่งท้องทะเลที่ต้องจากเราไปอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น และนั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์ชวนสลดแบบนี้ แต่ยังคงมีอีกหลายกรณีที่ขยะชนิดต่าง ๆ ถูกทิ้งลงทะเลแล้วไปทำลายสภาพแวดล้อมอย่างไม่คาดคิด

          ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเหตุการณ์ "วาฬนำร่องครีบสั้น" มาเกยตื้นและขย้อนถุงพลาสติกออกมา เมื่อผ่าชันสูตรก็ได้พบขยะพลาสติกในกระเพาะอีกกว่า 80 ชิ้น น้ำหนักเกือบ 8 กิโลกรัม หรือจะเป็นกรณีของ "เต่าตนุ" ที่สัตวแพทย์พบว่าในกระเพาะอาหารของมันมีขยะพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ จำนวนมาก ทั้งหนังยาง เชือกฟาง ถุงพลาสติก และเศษเครื่องมือประมง ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการกำจัดขยะและการทิ้งขยะที่ไม่ถูกต้องของมนุษย์จนกลายเป็นขยะทะเล

          จริง ๆ แล้วคุณรู้ไหมว่า "ขยะ" คืออะไร สั้น ๆ ง่าย ๆ เลยก็คือ ของที่ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถไปสร้างมูลค่าต่อได้ แต่พลาสติกอย่างฉันที่คุณใช้แล้วก็ทิ้งขว้างกันไปนั้น จริง ๆ แล้วฉันยังมีประโยชน์และมีมูลค่ามหาศาล หากเพียงแค่คุณมีการจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี

          อย่าปล่อยให้ขยะพลาสติกอย่างฉันกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าเลย เพราะฉันยังมีประโยชน์อีกมากมายในมุมที่เธออาจจะนึกไม่ถึงก็ได้ ลองมาทำความรู้จักตัวตนของฉันจริง ๆ สักนิด แล้วเธอจะเข้าใจขยะพลาสติกได้มากขึ้น
 

เรื่องน่ารู้พลาสติก

          สวัสดี ฉันคือ “พลาสติก” เองไงจะใครล่ะ เชื่อว่าทุกคนต้องคุ้นเคยกับฉันดีอยู่แล้ว ในหนึ่งวันเราแทบจะตัดกันไม่ขาด ใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งของอุปโภคบริโภคที่อยู่รอบตัวก็ล้วนมีพลาสติกผสมอยู่ด้วยทั้งนั้น ไม่ว่าจะใช้ใส่อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องแต่งกาย ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือชิ้นส่วนยานยนต์ ในแง่ดีฉันก็มีอยู่เพียบ แต่ฉันก็มีอีกแง่ที่อยากถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น และจะมีใครสักคนไหมที่เข้าใจตัวตนของฉันจริง ๆ มาลองอ่านเรื่องราวของฉันใน 9 แง่มุมนี้สักนิด แล้วเธอจะเข้าใจฉันมากขึ้น
 

1. ฉันมาจากไหน ?

เรื่องน่ารู้พลาสติก

           จุดเริ่มต้นของพลาสติกเกิดขึ้นที่โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ในระหว่างกลั่นจะมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมาเรียกว่า "ปิโตรเคมี" เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) พอทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นสารโมโนเมอร์ (Monomers) สร้างพันธะเกาะเกี่ยวกันไปเรื่อย ๆ จนเป็นสายโพลีเมอร์เส้นยาว ๆ (Polymers) เอาไว้ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นก่อนจะถูกส่งไปผลิตเป็นพลาสติกต่าง ๆ ที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ พลาสติกก็คือหนึ่งในปิโตรเคมีนั่นเอง
 

2. ฉันมีประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างไร

          รู้ไหมว่า "ปิโตรเคมี" มีบทบาทอยู่ในทุกกิจกรรมประจำวันของมนุษย์ เพราะข้าวของเครื่องใช้ข้างกายล้วนมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น หันไปทางไหนก็ต้องเจอ ทีนี้ลองมาดูกันว่า ประเภทของพลาสติกที่อยู่รอบ ๆ ตัวเธอนั้นเรียกว่าอะไรบ้าง
 

เรื่องน่ารู้พลาสติก

  1. PET : ขวดสำหรับบรรจุของเหลวต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่ม น้ำมันพืช แชมพู เป็นต้น
  2. HDPE : พลาสติกที่ทนต่ออุณหภูมิต่ำ อย่างหลอดดูดน้ำ ขวดใส่น้ำ ขวดนม ลังผลไม้ ถังพลาสติก ฉนวนหุ้มสายไฟ นอกจากนั้นยังเป็นส่วนประกอบอยู่ในน้ำยาทำความสะอาดด้วย
  3. PVC : วัสดุเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย งานช่างต่าง ๆ เช่น ท่อ รางน้ำ กระเบื้องมุงหลังคา แผ่นพลาสติก สายเคเบิล กระเบื้องปูพื้น กระเป๋า รองเท้า เสื้อหนัง และเฟอร์นิเจอร์ในรถยนต์
  4. LDPE : พลาสติกยืดหยุ่นสูง ทนแรงฉีกขาดดี จำพวกแผ่นฟิล์มต่าง ๆ เช่น ฟิล์มถนอมอาหาร ถุงใส่อาหาร กระสอบ ถังบรรจุของหนัก ผ้าอนามัย เป็นต้น
  5. PP : ทนต่อแรงกระแทก ทนสารเคมี ทนความร้อน เช่น ภาชนะใส่อาหาร จาน ชาม ขวดยา พรมและแผ่นรองพรม ผืนผ้าใบ เชือกต่าง ๆ ถุงร้อน ซองขนม วัสดุอุดรอยรั่ว และกาว เป็นต้น
  6. PS : ดูดความชื้นต่ำ ไม่นำไฟฟ้า ทนความร้อนต่ำ เช่น โฟมใส่อาหาร ภาชนะใส่อาหารชนิดใส ไม้บรรทัด และยังเป็นชิ้นส่วนของใช้ในบ้านอย่างโทรทัศน์ ตู้เย็น และในรถยนต์อีกด้วย
  7. พลาสติกอื่น ๆ (Other) : เป็นพลาสติกที่ไม่ได้มีการระบุชื่อจำเพาะและไม่ใช่พลาสติก 6 ชนิดข้างต้น แต่นำไปหลอมใหม่ได้ และสามารถผสมกับพลาสติกชนิดอื่นเพื่อรีไซเคิลได้ เช่น แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด แก้วน้ำพลาสติก ขวดน้ำแบบขุ่น ถุงร้อน ถุงเย็น ฝาขวดน้ำ เป็นต้น
3. ทำไมทุกคนถึงคิดว่าฉันทำร้ายโลก
เรื่องน่ารู้พลาสติก

           เพราะพลาสติกเป็นสิ่งที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจึงมีสารประกอบบางอย่างที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เมื่อใช้แล้วทิ้งโดยไม่ผ่านการรีไซเคิลมากขึ้นเรื่อย ๆ ขยะพลาสติกจะไปอัดแน่นอยู่ในบ่อขยะและสะสมสารพิษจำนวนมาก ทำลายระบบนิเวศไปเรื่อย ๆ หรือถ้าถูกทิ้งลงน้ำลงทะเล สัตว์น้ำหลายพันหลายหมื่นตัวก็กินแทนอาหารจนตายไป นี่แหละปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
 
4. ถ้าทิ้งกันแบบไม่ไยดี ฉันจะเป็นอย่างไร

          จุดจบของขยะพลาสติกอย่างฉันก็คือ การโดนทิ้งไปยังที่ต่าง ๆ ถ้ามีการแยกพลาสติกออกจากขยะอื่น ๆ ตั้งแต่แรก พวกเราก็จะถูกเลือกและส่งไปที่โรงงานเพื่อทำการรีไซเคิลให้กลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นรอนำกลับไปผลิตเป็นพลาสติกชนิดใหม่ได้อีกครั้ง
 

เรื่องน่ารู้พลาสติก

         แต่ถ้าทิ้งกันแบบไม่ไยดี จะเป็นอย่างไร ? ฉันก็จะทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมยังไงล่ะ เพราะเมื่อรถขนขยะนำไปเทรวมอยู่ที่หลุมฝัง อัดแน่นทับถมต่อกันไปเรื่อย ๆ พอฝนตกลงมาน้ำก็ไหลผ่านขยะแล้วดูดซึมเอาสารประกอบที่เป็นพิษละลายน้ำได้จากตัวฉันเข้าไปด้วย เมื่อน้ำขังสะสมมาก ๆ เข้า ก็เกิดเป็นน้ำชะขยะข้น ๆ (Leachate) ซึมลงไปใต้ดิน แถมยังไหลซึมไปเรื่อย ๆ จนไปสู่แหล่งน้ำต่าง ๆ ระบบนิเวศก็เป็นพิษ ทำร้ายสัตว์น้ำและสัตว์ป่ามากมาย แล้วกว่าฉันจะย่อยสลายได้ต้องใช้เวลาเป็นพัน ๆ ปีเลยนะ นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมไม่ควรทิ้งขยะพลาสติกรวมกับขยะอื่น ๆ
 

5. การเดินทางของฉันสู่ท้องทะเล

เรื่องน่ารู้พลาสติก

         ทำไมฉันถึงลงไปอยู่ในทะเลได้ ? เพราะการที่พวกเธอไม่เห็นคุณค่าของการกำจัดขยะพลาสติกที่ถูกต้อง ทิ้งไว้ที่ริมหาดหรือโยนทิ้งลงไปในทะเล หรือแม้แต่ทิ้งลงไปในคลอง นานวันเข้าขยะก็ล้นทะลักลงสู่แม่น้ำใหญ่จนไหลลงไปสู่ทะเล และไปถึงมหาสมุทร ลอยไปลอยมาอยู่อย่างนั้น แล้วรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น ?

          น้ำวนในทะเลและมหาสมุทรก็จะดูดเอาฉันและเพื่อนพลาสติกอีกจำนวนมหาศาลไปสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่อุดมไปด้วยสารพิษติดตัวมา แบ่งเป็นหัวเมืองต่าง ๆ อยู่ในทุกมหาสมุทรของโลก แช่น้ำนานก็แตกหักเป็นชิ้นเล็ก ๆ ล่องลอยไปเรื่อย ๆ ทีนี้แหละ เจ้าสัตว์ทะเลอย่างมาเรียมและผองเพื่อนก็กินขยะพลาสติกเข้าไป นึกว่าเป็นอาหารกินแล้วอิ่มท้องแต่นั่นก็ไม่ใช่อาหารจริง ๆ ไปอุดตันลำไส้ สุดท้ายพวกมันก็สังเวยชีวิตให้กับขยะทะเลที่พวกเธอทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ แถมยังส่งต่อสารพิษให้ห่วงโซ่อาหารอื่น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ จนกลับมาที่มนุษย์ในที่สุด

6. ถ้าให้โอกาสฉันอีกครั้ง ฉันจะไม่ทำร้ายใคร
เรื่องน่ารู้พลาสติก

           เห็นกันแล้วใช่ไหมว่า ถ้าละเลยการกำจัดขยะพลาสติกแบบไม่ใส่ใจไยดี การเดินทางไปสู่จุดจบของฉันจะโหดร้ายต่อโลกใบนี้แค่ไหน เชื่อเถอะว่า การรีไซเคิลขยะพลาสติกมีประโยชน์มากมาย ทิ้งขยะพลาสติกลงในถังขยะรีไซเคิล ไม่นำไปทิ้งรวมกับขยะชนิดอื่น ๆ ฉันและเพื่อน ๆ จะถูกนำกลับมาสร้างคุณค่าให้เป็นมากกว่าขยะพลาสติก โดยไม่วนไปทำร้ายสิ่งแวดล้อมเหมือนที่ผ่านมา เหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้งเลยล่ะ
7. แล้วฉันจะกลับมาเป็นคนใหม่
           การรีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นวิธีที่จะชุบชีวิตฉันขึ้นมาใหม่ เมื่อเราแยกขยะพลาสติกออกจากขยะอื่น ๆ แล้ว พลาสติกเหล่านั้นจะถูกนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลที่โรงงาน คัดเลือกแล้วนำไปตัดบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทำความสะอาดแล้วนำไปหลอมด้วยความร้อน กรองเพื่อเอาสิ่งตกค้างออก จากนั้นนำไปผ่านเครื่องตัดเป็นเม็ดพลาสติกที่พร้อมใช้งาน เป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่รอการขึ้นรูปกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ ๆ ได้อีกครั้งนั่นเอง
เรื่องน่ารู้พลาสติก

8. ขยะอย่างฉันอาจดูไม่มีค่า แต่ฉันยังมีค่าอยู่เยอะ

          ขยะพลาสติกอย่างฉัน อาจมองดูว่าไม่มีค่า แต่เชื่อเถอะว่า ฉันยังมีค่าอยู่ถ้าได้รับการกำจัดทิ้งที่ถูกวิธี ฉันจะสามารถกลับมาทำประโยชน์และสร้างคุณค่าได้อีกมากมาย ออกแบบสร้างสรรค์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หมุนเวียนใช้ซ้ำต่อไป สามารถสร้างมูลค่าและเกิดเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จากขยะพลาสติก ที่สำคัญยังสร้างอาชีพให้กับชุมชนต่าง ๆ ได้อีกด้วย
 

ยกตัวอย่าง "ซองใส่ iPad" ทำจากเส้นด้ายที่รีไซเคิลมาจากขยะพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE)
ทอเป็นผืนผ้าลวดลายต่าง ๆ แล้วนำมาตัดเย็บเป็นซองใส่ iPad เก๋ ๆ

เรื่องน่ารู้พลาสติก

ภาพจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

เสื้อผ้าแฟชั่นที่ทำจากเส้นใยรีไซเคิลจากขยะพลาสติกมาผสมกับโพลีเอสเตอร์

เรื่องน่ารู้พลาสติก

ภาพจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

จีวรต้านแบคทีเรีย จากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่รีไซเคิลจากขวดพลาสติก
ผสมกับเส้นใยฝ้าย และเส้นใยซิงก์โพลีเอสเตอร์ต้านแบคทีเรีย

เรื่องน่ารู้พลาสติก

ภาพจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

9. เรามาร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้โลกกันเถอะ
เรื่องน่ารู้พลาสติก

          ถ้ารู้จักตัวตนของพลาสติกอย่างฉันจริง ๆ เข้าใจคุณค่า และหันมาใส่ใจการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง แยกก่อนทิ้งทุกครั้ง ขยะพลาสติกก็จะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และสามารถเปลี่ยนให้เป็นของมีค่า ต่อยอดแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำต่อไปเรื่อย ๆ แล้วพลาสติกอย่างฉันก็จะกลับมาเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนอีกครั้ง และฉันก็จะไม่ทำให้ลำไส้ของสัตว์ทะเลตัวไหนต้องอุดตันและเกิดการสูญเสียไปมากกว่านี้อีกแล้ว

         พลาสติกอย่างฉันก็ได้แต่หวังว่า จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับมาเรียมในครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนมองเห็นปัญหาของการกำจัดขยะพลาสติกที่ถูกที่ควรได้เสียที 


          ทุกคนคงพอจะรู้จักตัวตนจริง ๆ ของฉันกันแล้ว แต่เรื่องราวของพลาสติกรีไซเคิลยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะในตอนหน้าฉันจะพาไปผจญภัยกันต่อกับการเดินทางของพลาสติกตอนที่ 2 เพื่อไปทำความรู้จักกับพี่น้องตระกูลพลาสติกรีไซเคิลให้มากขึ้น พร้อมไอเดียชุบชีวิตขยะพลาสติกเทรนด์ใหม่สู่ของใช้สุดเจ๋ง ที่จะทำให้พลาสติกมีคุณค่าและไม่กลับไปทำลายสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
I Am Plastic : ความในใจของน้องพลาสติก อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2562 เวลา 17:30:49 39,266 อ่าน
TOP
x close