x close

เปิดประวัติ 10 รัฐมนตรี น่าจับตามอง ในรัฐบาลใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ 2


            เจาะโผคณะรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ พร้อมเปิดประวัติ 10 รัฐมนตรี ที่น่าจับตาในชั่วโมงนี้

          ประกาศอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย สำหรับคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายรายชื่อที่เข้ารับตำแหน่งน่าจับตามองมีดังนี้

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ครม. ประยุทธ์
ภาพจาก รัฐบาลไทย

          จบการศึกษาจากนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 23 โดยเริ่มต้นรับราชการที่หน่วย "ทหารเสือราชินี" (กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ ร.21 รอ.) และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป

          พล.อ. ประยุทธ์ ได้ทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อบริหารประเทศ จากนั้นได้มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ หรือ สนช. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศ จนในที่สุด สนช. ได้มีมติเอกฉันท์เลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29

          ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาล และให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาขานชื่อลงมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ครม. ประยุทธ์
ภาพจาก INN

          พล.อ. ประวิตร ได้เข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนก้าวเข้าสู่รั้วเตรียมทหาร (ตท.6) และเข้าสู่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 (จปร.17)

          พล.อ. ประวิตร เข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2551 ถึง 9 สิงหาคม 2554 และเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 พล.อ. ประวิตร ได้รับตำแหน่งรองหัวหน้า คสช. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ครม. ประยุทธ์
ภาพจาก INN

          พล.อ. อนุพงษ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 21 และยังได้ศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักสูตรทางด้านการทหาร และได้จบปริญญาตรีทางด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 26

         
พล.อ. อนุพงษ์ เป็นหนึ่งในทหารผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทยปี 2549 ซึ่งขณะนั้น พล.อ. อนุพงษ์ อยู่ในยศ พลโท (พล.ท.) และเป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 โดย พล.อ. อนุพงษ์ ได้รับเลือกให้เป็น ผู้บัญชาการทหารบก (คนที่ 36) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550 อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2557 พล.อ. อนุพงษ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ครม. ประยุทธ์
ภาพจาก INN

          จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

          ปัจจุบัน นายจุรินทร์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในอดีตเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ครม. ประยุทธ์
ภาพจาก INN

          นายอนุทิน ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นบุตรของ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

          ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ STEC และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ต่อมาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ก่อนโยกมาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย และเป็นหัวหน้าพรรคมาตั้งแต่ปี 2555

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ครม. ประยุทธ์
ภาพจาก INN

          ร.อ. ธรรมนัส เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 และจบนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 เริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองที่พรรคไทยรักไทยของ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2542 ดูแลยุทธศาสตร์เลือกตั้งในสนามกรุงเทพฯ พอเข้าปี 2557 ร.อ. ธรรมนัส เป็นผู้เข้าสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

          ปัจจุบัน ร.อ. ธรรมนัส เป็นนักการเมืองคนสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ ในตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ รวมทั้งเป็นคนประสาน ส.ส. หลายกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องตำแหน่ง จนทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ดี มีการตั้งคำถามจากบางส่วนถึงความเหมาะสมในการรับตำแหน่ง จากกรณีเคยถูกจับคดียาเสพติดที่ออสเตรเลียในอดีต

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ครม. ประยุทธ์

          น.ส.มนัญญา เป็นน้องสาวของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย และก่อนหน้านี้ได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี เดิมทีมีกระแสข่าวว่า ชาดา จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์จากบางส่วน ที่มองว่า ชาดา เป็นผู้กว้างขวางและมีอิทธิพล ส่งผลให้มีการเสนอชื่อ มนัญญา เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแทน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ครม. ประยุทธ์
ภาพจาก ไทยโพสต์

          นายศักดิ์สยาม เป็นบุตรของ ชัย ชิดชอบ และน้องชายของ เนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองคนสำคัญ เคยรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ ต่อมาจึงลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. และเคยเป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาในปี 2550 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ครม. ประยุทธ์
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

           ม.ร.ว.จัตุมงคล หรือ หม่อมเต่า หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย เริ่มต้นรับราชการในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จนกระทั่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตามด้วย อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสรรพากร ปลัดกระทรวงการคลัง และเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2539

           ม.ร.ว.จัตุมงคล ลาออกจากราชการในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จากนั้นในปี 2541 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้ดึงเขาเข้ามาเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไทย ก่อนที่ในปี 2544 จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร 

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ครม. ประยุทธ์
           นายณัฏฐพล จบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมรสกับ นางทยา ทีปสุวรรณ ผู้บริหารโรงเรียนศรีวิกรม์ นักธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน

           นายณัฎฐพล เคยเป็น ส.ส. อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2556-2557 ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเคยเป็นข่าวดังกับกรณีที่ตนเองและ นางทยา เป่านกหวีดใส่ คุณหญิงพจมาน ภรรยานายทักษิณ กลางห้างเอ็มโพเรียม

           ภายหลังจากที่มาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ นายณัฏฐพล ได้ถูกใส่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรค

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ครม. ประยุทธ์
ภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

           จบการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง (2545) และระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2547)

           นายสันติ เริ่มทำงานการเมืองโดยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ในปี พ.ศ. 2537 และเป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ เป็น ส.ส.เพชรบูรณ์ 2 สมัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ปัจจุบันย้ายมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประวัติ 10 รัฐมนตรี น่าจับตามอง ในรัฐบาลใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ 2 อัปเดตล่าสุด 11 กรกฎาคม 2562 เวลา 14:46:29 27,439 อ่าน
TOP