มาทำความรู้จักพลาสติกรีไซเคิลชนิดต่าง ๆ พร้อมหลากวิธีเพิ่มประโยชน์จากการใช้ซ้ำ ลดการเกิดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน และไอเดีย “Upcycle” เทรนด์เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นของใช้สุดเจ๋ง
การเดินทางของพลาสติกอย่างฉัน มีเรื่องที่เธออาจจะยังไม่เข้าใจอีกมากมาย แต่หลังจากที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตพลาสติกในอีกแง่มุมหนึ่งไปในตอนที่ 1 แล้ว (
I Am Plastic : ความในใจของน้องพลาสติก) หลายคนคงเริ่มจะเข้าใจถึงประโยชน์ของการแยกขยะพลาสติกขึ้นมาบ้าง เพราะนอกจากเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะได้แล้ว ยังง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ นำฉันกลับมาใช้ซ้ำ ๆ วนไปได้อีกไม่รู้จบ
เอาล่ะ… คงได้เวลาที่ต้องออกเดินทางไปท่องโลกของพลาสติกตอนที่ 2 กันแล้ว ฉันจะพาไปทำความรู้จักการรีไซเคิลขยะให้ลึกกว่าเดิม แล้วเธอจะยิ่งกระจ่างชัดมากขึ้นว่า ขยะพลาสติกรีไซเคิลมีกี่ชนิด และมีวิธีกำจัดอย่างไรให้เกิดประโยน์มากที่สุด เรามาออกสตาร์ตไปพร้อม ๆ กันเลย ณ บัดนาว
สัญลักษณ์พลาสติกบนบรรจุภัณฑ์ อยู่ตรงไหน ?
เคยเห็นตัวอักษรนูน ๆ ที่อยู่ใต้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ กันไหม นั่นคือป้ายชื่อของพวกฉันเอง ส่วนมากจะอยู่ด้านล่าง หรือตรงฉลากใกล้กับบาร์โค้ด หาไม่ยากหรอก สัญลักษณ์พวกนี้จะช่วยให้เธอสามารถแยกขยะพลาสติกได้ถูกประเภทนั่นเอง ถือเป็นการคัดกรองเบื้องต้นก่อนจะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแปรรูปพลาสติกได้ด้วย ฉันยกตัวอย่างมาให้ดู
อยู่ที่บริเวณด้านล่างของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
บางผลิตภัณฑ์จะอยู่ตรงฉลากด้านหลังของ Packaging ใกล้ ๆ กับบาร์โค้ด
7 ชนิดของพลาสติกรีไซเคิล มีอะไรบ้าง ?
สัญลักษณ์ทั้ง 7 กลุ่มนี้ ถูกกำหนดขึ้นมาโดยสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกแห่งสหรัฐฯ (The Society of the Plastics Industry, Inc.) เพื่อใช้ในการคัดแยกก่อนนำไปแปรสภาพนั่นเอง
1. “PET” ขวดชนิดใส
รีไซเคิลกลับมาเป็นขวดชนิดเดิมได้อีก หรือเป็นเส้นใยสังเคราะห์ใช้ทำเสื้อผ้า, เสื้อกันหนาว, พรม, ไส้หมอน-ที่นอน, แผ่นพลาสติกใส อย่างเช่น แผงไข่พลาสติก กล่องแซนด์วิช เป็นต้น
2. “HD-PE” เหนียว แข็ง ทนสารเคมี กันชื้นได้ดี หลากสี
รีไซเคิลใหม่เป็นขวดต่าง ๆ เช่น ขวดน้ำยาซักผ้า, ขวดน้ำมันเครื่อง, ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ
3. “PVC” แข็งแรง ทนทาน ทนน้ำ ทนสารเคมี
รีไซเคิลเป็นท่อประปา, รางน้ำการเกษตร, กรวยจราจร, สายเคเบิล, แผ่นไม้เทียม
4. “LD-PE” ใส นิ่ม ยืดได้
รีไซเคิลใหม่เป็นพลาสติกแผ่นบาง ๆ เช่น ถุงดำใส่ขยะ, ถุงหูหิ้ว, แผ่นพลาสติกปูพื้น
5. “PP” แข็ง อึด ทน สีสันสดใส
รีไซเคิลใหม่เป็นกล่องแบตเตอรี่รถยนต์, กันชนรถ,ไฟท้ายรถ, ไม้กวาดพลาสติก, แปรงพลาสติก
6. “PS” ใส แข็ง แต่เปราะบาง ราคาถูก ทนอุณหภูมิต่ำ
รีไซเคิลใหม่เป็นไม้แขวนเสื้อ, กล่องซีดี, ไม้บรรทัด, กระเปาะเทอร์โมมิเตอร์, สวิตช์ไฟ, ฉนวนความร้อน
7. “O หรือ Other” หลอมใหม่ได้ ผสมกับพลาสติกชนิดอื่นได้
รีไซเคิลเป็นแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด, แก้วน้ำพลาสติก, ขวดน้ำแบบขุ่น, ถุงร้อน ถุงเย็น, ฝาขวดน้ำ
แค่เธอใส่ใจสัญลักษณ์เหล่านี้ก่อนทิ้ง ก็ป้องกันไม่ให้ฉันกลับไปทำลายสิ่งแวดล้อมได้แล้ว แถมยังสร้างประโยชน์ใหม่ได้อีกครั้ง ส่วนวิธีการที่จะนำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำมีอะไรบ้าง เดี๋ยวจะพาไปทำความรู้จักนะ
Reuse - Recycle - Upcycle
“ใช้ซ้ำ = ช่วยโลก” เปลี่ยนขยะให้กลับมามีประโยชน์
“วิธีการเปลี่ยนขยะพลาสติกที่กำลังจะกลายเป็นขยะให้กลับมาใช้ได้ใหม่อีกครั้ง” คือหัวใจหลักของสิ่งที่เรียกว่า รียูส (Reuse), รีไซเคิล (Recycle) และอัพไซเคิล (Upcycle) แค่แตกต่างกันที่กระบวนการผลิตเท่านั้น เดี๋ยวฉันจะอธิบายสั้น ๆ ให้ทุกคนได้เข้าใจกันนะ
รียูสเป็นการนำขยะพลาสติกที่ยังสามารถใช้งานได้ตามหน้าที่เดิม กลับมาใช้ซ้ำวนไปแบบง่าย ๆ ทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรสภาพใด ๆ
การนำถุงพลาสติกมาใช้ซ้ำเป็นถุงใส่ขยะ หรือการนำขวดน้ำใช้แล้วมาตัดแต่งเอาไว้ใส่ไม้ประดับ
Recycle แปรรูปก่อนนำกลับมาใช้ซ้ำ
รีไซเคิลเป็นวิธีการนำขยะพลาสติกที่ใช้ซ้ำไม่ได้แล้ว อาจจะแตกหักหรือชำรุด ใช้งานตามหน้าที่เดิมไม่ได้แล้ว ไปเข้ากระบวนการทางเคมีหรือเครื่องจักรเพื่อหลอมและทำเป็นวัตถุดิบตั้งต้นอย่างเม็ดพลาสติก เพื่อนำไปผลิตเป็นพลาสติกชิ้นใหม่ ที่คุณภาพอาจด้อยลง และสามารถนำกลับมารีไซเคิลซ้ำได้อีก
กระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติกใส PET นำกลับมาใช้งานในรูปแบบเดิม
ขวดบรรจุภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิลพลาสติกชนิด HDPE
และยังสามารถนำไปรีไซเคิลซ้ำได้อีกหลายครั้ง
Upcycle ยกระดับขยะพลาสติกสู่ผลิตภัณฑ์ไอเดียเก๋
Upcycle หรือ Upcycling เป็นวิธีการดัดแปลงขยะพลาสติกเหลือใช้ หรือไม่สามารถใช้งานตามหน้าที่เดิมได้แล้ว มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเน้นขายไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มีความเก๋ในตัวเอง สามารถนำไปขายและสร้างรายได้กลายเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ใช้ทุนต่ำแต่กำไรคุ้มค่า และกำลังเป็นเทรนด์ของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ในขณะนี้
9 ไอเดียผลิตภัณฑ์ Upcycle ขยะพลาสติกเจ๋ง ๆ
1. “FREITAG Messenger Bag” กระเป๋าสะพายจากผ้าใบคลุมรถบรรทุก
เป็นผลงานการออกแบบสุดเท่ของสองพี่น้องตระกูล “Freitag” ชาวสวิส นำผ้าคลุมรถบรรทุกที่ใช้งานแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี มาดีไซน์ตัดเย็บเป็นกระเป๋าสะพายที่แข็งแรงทนทาน และยังใช้เข็มขัดนิรภัยมาทำเป็นสายสะพายด้วย
2. KHYA รองเท้าแตะจากขยะทะเลรีไซเคิล
รองเท้าแตะนันยางคอลเล็กชั่นพิเศษคู่นี้ ผลิตจากขยะทะเลกว่า 5 กิโลกรัม ผ่านการรีไซเคิลและออกแบบใหม่ให้มีลวดลายเก๋ ๆ ผ่านความคิดสร้างสรรค์ของนันยางและทะเลจร
3. กระเป๋าอเนกประสงค์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่สารละลายในการล้างไต
บรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่สารละลายในการล้างไต (ที่ไม่ได้ผ่านเชื้อโรค) มีจุดเด่นอยู่ที่ความเหนียวทนทาน ถูกนำมาออกแบบใหม่ให้กลายเป็นกระเป๋าสตางค์ ใส่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ดูเก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร
4. กระเป๋าจากถุงพลาสติก IKEA
จากถุงช้อปปิ้งใส่ของในอิเกียธรรมดา ๆ สู่การเป็นกระเป๋าแฟชั่นสุดคูล ถูกออกแบบและตัดเย็บอย่างมีไอเดีย ทั้งกระเป๋าสะพายข้าง เป้สะพายหลัง หรือกระเป๋าคาดอกหลากสไตล์
5. กระเป๋าแฟชั่นสุดเก๋จากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล
ผลงานการออกแบบที่มีชื่อว่า Illusionist ผ่านการตัดเย็บด้วยผ้าที่ทอมาจากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิลร่วมกับเส้นใยธรรมชาติ เป็นกระเป๋าถือที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์จากลายผ้า
6. คอลเล็กชั่นกระเป๋าเพื่อโลกจากเส้นใยขวดน้ำพลาสติก
กระเป๋าดีไซน์เก๋คอลเล็กชั่นนี้ทำมาจากขยะขวดน้ำพลาสติกแปรรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิลแล้วนำไปทอเป็นผ้าที่แข็งแรงทนทาน จากนั้นก็ออกแบบตัดเย็บให้ดูเท่ มีสไตล์ และใช้งานได้จริง
7. เสื้อ T-Shirt จากขยะขวดน้ำพลาสติก PET
จากขยะขวดน้ำพลาสติกชนิด PET จำนวนมาก ถูกนำไปแปรรูปให้เป็นเส้นใยรีไซเคิลแล้วนำไปทอผสมกับฝ้าย ออกแบบและตัดเย็บใหม่จนกลายเป็นเสื้อยืดแขนสั้นสวมใส่สบาย
8. G Bench เก้าอี้ม้านั่งแผ่นไม้สังเคราะห์จากพลาสติกรีไซเคิล
แผ่นไม้ที่นำมาประกอบเป็นเก้าอี้ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล แต่มีความทนทาน ทนแดด ทนฝน ดูแลรักษาง่าย มีหลายขนาดให้เลือก นำมาประกอบเป็นเก้าอี้ม้านั่งได้อย่างมีดีไซน์และใช้ประโยชน์ได้จริง
9. เฟอร์นิเจอร์และของแต่งร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขา PTT Station สามย่าน
ร้านกาแฟ Café Amazon แห่งนี้เป็นคาเฟ่รักษ์โลกภายใต้คอนเซ็ปต์ “Circular Living” ใช้เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งร้านที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล เช่น
Eco-Board ตกแต่งร้านหลังเคาน์เตอร์
จากถุงบรรจุเมล็ดกาแฟที่ใช้แล้วมารีไซเคิลกว่า 7,200 ถุง
ภาพจากบริษัทในกลุ่ม ปตท.
Upcycling Decorative Wall ผนังตกแต่งร้านรูปนกมาคอว์
จากการรีไซเคิลแก้วกาแฟพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) กว่า 5,000 ใบ
ภาพจากบริษัทในกลุ่ม ปตท.
Upcycling Armchair ชุดเก้าอี้และโซฟา
ทำด้วยผ้าที่ทอด้วยเส้นใยสังเคราะห์รีไซเคิลจากขวดน้ำดื่ม PET 1,200 ขวด
ภาพจากบริษัทในกลุ่ม ปตท.
Upcycling Vertical Garden กระถางสวนแนวตั้ง
จากแกลลอนนมพลาสติกใช้แล้วรีไซเคิลกว่า 6,300 ขวด
ยังมีข้าวของเครื่องใช้อีกหลายอย่างภายในร้านที่แปรรูปมาจากขยะรีไซเคิล ใครผ่านไปผ่านมาก็อย่าลืมแวะเข้าไปเยี่ยมชมกันดูนะ
ฉันขอเถอะนะ… ขอให้เธอช่วยใช้ฉันซ้ำ ๆ หรือทิ้งฉันให้ถูกวิธี เพียงแค่พวกเธอมองเห็นประโยชน์ของขยะพลาสติก นำมาใช้ใหม่ ฉันก็จะกลับมาสร้างประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล แล้วพบกันตอนต่อไปกับ Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทางรอดของปัญหาขยะล้นโลก
ขอบคุณข้อมูลจาก
pttgcgroup.com, mahidol.ac.th, great-pet.com, blisby.com, gccircularlivingshop.com, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, healthyliving.in.th, Park Ventures
ปตท. และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ขอเชิญร่วมบริจาคสมทบทุนโครงการมื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่ม โดยผู้บริจาคจะได้รับกระเป๋าผ้าผลิตจากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล จากขวดพลาสติกที่รวบรวมโดยพนักงาน กลุ่ม ปตท. และออกแบบลวดลายโดยคุณหยาดทิพย์ ราชปาล
ผู้ที่สใจสามารถติดต่อได้ที่ Email : info@worldvision.or.th หรือ Line : @worldvision-thai ระบุว่า "สั่งซื้อกระเป๋าจาก PTT Plastic Circular Economy"