x close

GPSC พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่เก็บพลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมใหม่มุ่งสู่ New S-Curves

           จะเป็นอย่างไร ? ถ้าโลกของเรามีแบตเตอรี่สำรอง มาทำความรู้จักเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่จากพลังงานแสงอาทิตย์ ลดต้นทุนพลังงาน มีไฟใช้ตลอดเวลา

          คงจะดีไม่น้อยหากประเทศไทยของเรามีแบตเตอรี่สำรองสามารถนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ได้ในยามจำเป็น เหมือนกับที่เรามี Power Bank สำหรับชาร์จมือถือติดตัวไว้ใช้ตลอดเวลา ซึ่งความคิดนี้อาจไม่ใช่เพียงความฝันอีกต่อไป เพราะบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าในเครือ ปตท. ได้ร่วมทุนกับบริษัท 24M Technologies สตาร์ตอัพด้านการวิจัยของสหรัฐฯ นำงานวิจัย “เซลล์แบตเตอรี่” มาพัฒนาต่อเพื่อประกอบเป็น “อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน”  
 

          นอกจากนี้ยังร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการวิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ หรือ Pilot Plant โดยใช้เทคโนโลยี Semi-Solid เพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ทั้งในด้านเทคนิค ต้นทุน รวมถึงเชิงพาณิชย์อีกด้วย
 

GPSC


          คุณชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวถึงความมุ่งมั่นของ GPSC ในการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าแบตเตอรี่ต้นแบบนี้ว่า มาจากความต้องการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งพลังงานหมุนเวียนที่ตอบโจทย์มากที่สุด คือ พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะมีต้นทุนถูกกว่าพลังงานที่มาจากฟอสซิล (Fossil) อีกทั้งยังเป็นพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด

          แต่พลังงานแสงอาทิตย์มีข้อจำกัดและความท้าทายอยู่หลายเรื่อง อย่างแรก คือ โลกเราไม่สามารถจะมีพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกันพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน ยังเป็นพลังงานที่ “ไม่สามารถกักเก็บได้” อีกทั้งยังมีต้นทุนการใช้ที่ค่อนข้างสูงผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อนำส่งไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าไปสู่ครัวเรือน สิ่งเหล่านี้นับเป็นความท้าทายของ GPSC รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานที่จะต้องคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถเข้ามาแก้ไข Pain Point ด้านพลังงานเหล่านี้ให้ได้ ซึ่ง GPSC เล็งเห็นแล้วว่า การพัฒนา Energy Storage จะเป็นคำตอบของเรื่องนี้

GPSC

คุณชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC

          สำหรับโรงงานต้นแบบนั้นเป็นการวิจัยต่อยอดการผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี Semi-Solid เป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technologies จะช่วยลดขั้นตอนการผลิตลงได้กว่า 50% และได้รับการออกแบบเซลล์แบตเตอรี่ให้มีความปลอดภัยสูง ช่วยให้มีประสิทธิภาพที่จะแข่งขันได้ในธุรกิจแบตเตอรี่และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (ESS) ได้ในระยะยาว
 
GPSC

"New S-Curves เป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาธุรกิจ ต้องใช้เงินจำนวนมาก มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง แต่ถ้าเราไม่ตัดสินใจพัฒนา ประเทศไทย และ GPSC ก็อาจจะตกรถไฟก็ได้”
          คุณชวลิต ทิพพาวนิช ยังกล่าวต่ออีกว่า โครงการนี้นับเป็นโครงการที่จะช่วยสร้างฐานความรู้และเพิ่มความเชี่ยวชาญเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ GPSC และ PTT ด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เพราะการพัฒนาแบตเตอรี่เป็นหนึ่งใน New S-Curves Business ของบริษัท และเป็น 1 ใน 3 เป้าหมายสำคัญในการขยายธุรกิจของ GPSC
GPSC

          การมุ่งไปสู่ New S-Curves เป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาธุรกิจ ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงควบคู่กันไป แต่ถ้าเราไม่ตัดสินใจพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็น New S-Curves ประเทศไทย และ GPSC ก็อาจจะตกรถไฟก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเดินหน้าไปอย่างระมัดระวังและเป็นขั้นตอน หาก Pilot Plant ประสบความสำเร็จ เราเตรียมการพัฒนาธุรกิจต่อไปพร้อมกับพันธมิตรอย่างแน่นอน
 
          นวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าแบตเตอรี่ต้นแบบของ GPSC ในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นวิวัฒนาการของพลังงานยุคใหม่ที่น่าสนใจเลยทีเดียว ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสร้างความมีเสถียรภาพในระบบจ่ายไฟในประเทศไทยอย่างยั่งยืนอีกด้วย
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
GPSC พัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่เก็บพลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมใหม่มุ่งสู่ New S-Curves อัปเดตล่าสุด 12 กันยายน 2562 เวลา 10:45:02 3,647 อ่าน
TOP