x close

ตอบทุกกรณี ถ้าโดนจับเพราะโพสต์-แชร์ข้อความโซเชียล จะทำอย่างไร เรามีสิทธิอะไรบ้าง


          คำแนะนำ หากถูกตำรวจจับกุม จากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เรามีสิทธิที่จะทำหรือไม่ทำอะไรได้บ้าง รู้ไว้ไม่เสียเชิง และอาจสู้คดีได้ไม่ยาก

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

          ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ทุกคนมีสื่อในมือ เปิดกว้างเรื่องการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าใครก็สามารถโพสต์ คอมเมนต์ หรือทวีตข้อความต่าง ๆ ได้บนโลกออนไลน์ แต่ความเสรีดังกล่าวก็เป็นเหมือนดาบสองคมเช่นกัน เพราะการโพสต์ข้อความต่าง ๆ หรือแม้แต่การแชร์ข้อความเหล่านั้น โดยไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด ๆ ก็ตาม อาจนำไปสู่การถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดังนั้น เราควรรู้เท่าทันและศึกษาคำแนะนำ การปฏิบัติตัว รวมถึงข้อจำกัดและสิทธิต่าง ๆ เบื้องต้น กรณีถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวหรือได้รับหมายเรียกไปพบ

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 8 ตุลาคม 2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แนะนำข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ ไว้หลายกรณี เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว หรือได้รับหมายเรียก จากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย

เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารจับกุมตัว ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร ?

          การโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดียไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า แต่อาจถูกจับกุมเนื่องจากถูกออกหมายจับโดยศาล ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี

          1. สอบถามว่ามีหมายจับหรือไม่
          2. ขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ ว่าชื่ออะไร สังกัดอะไร
          3. เราจะถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร
          4. เราจะถูกพาตัวไปที่ไหน
          5. แจ้งให้ญาติ คนที่ใกล้ชิด และทนายความให้ทราบโดยด่วน
          6. หากมีการนำตัวท่านไปแถลงข่าว ท่านมีสิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมแถลงข่าวได้

หากเจ้าหน้าที่จะทำการค้นบ้านหรือที่ทำงานควรปฏิบัติอย่างไร ?

          1. สอบถามว่ามีหมายค้นหรือไม่
          2. การตรวจค้นต้องทำต่อหน้าเรา ผู้ครอบครองสถานที่ และให้คนใกล้ชิดมาเป็นพยาน
          3. ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน
          3. ขอบันทึกการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน

ผู้ต้องหาในคดีอาญา แม้จะถูกจับกุมหรือกล่าวหาดำเนินคดีแล้ว ยังคงมีสิทธิต่าง ๆ อยู่ อาทิเช่น...

          1. สิทธิที่จะได้รับการแจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา และข้อกล่าวหาก่อนสอบสวน
          2. สิทธิที่จะได้พบและปรึกษาทนายความ
          3. สิทธิที่จะแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจทราบ ขณะถูกควบคุมตัว
          4. สิทธิจะให้การหรือไม่ก็ได้ และไม่ถูกบังคับ ขู่เข็ญ ล่อลวง ให้สัญญา เพื่อให้การ
          5. สิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยินยอมให้แถลงข่าว
          6. สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน
          7. สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
          8. สิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม

เจ้าหน้าที่จะทำหรือสั่งให้เราทำสิ่งต่อไปนี้ได้ ต้องมี "หมายศาล" อนุญาตเท่านั้น !

          หากไม่มีหมายศาล เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจและเราก็มีสิทธิที่จะไม่ทำตามกรณีต่อไปนี้...

          - คัดลอกข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บแล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ของเรา

          - สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟลชไดรฟ์ หรือแผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่

          - ตรวจสอบ หรือ Log in (เข้าระบบ) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก มือถือ แท็บแล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา

          - ถอดรหัสผ่าน (Password) เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้า Password หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อกระทำการดังกล่าว

          - ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วันเท่านั้น


เมื่อถูกควบคุมตัวควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ และพึงระลึกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่เอาผิดตามกฎหมายกับเรา

          - ไม่ควรสนทนากับเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม หากถูกถามข้อมูล ไม่ควรให้ข้อมูลใด ๆ รวมทั้ง Username (ชื่อผู้ใช้) และ Password (รหัสผ่าน) และไม่ควรใช้อารมณ์โต้เถียงประเด็นต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่ เพราะจะเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกควบคุมตัว เช่น นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี

          - อย่าวิตกกังวลไปกับการข่มขู่รูปแบบต่าง ๆ พยายามควบคุมสติให้ได้มากที่สุด ภายใต้สถานการณ์กดดัน

          - ข้อเสนอแลกเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ที่ต่อรองว่า หากรับสารภาพจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือศาลจะพิพากษาลงโทษน้อยกว่าปกติ รวมถึงข้อเสนออื่น ๆ เราไม่ควรตกลงเนื่องจากจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง เพราะข้อเสนอล้วนไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและไม่สามารถกระทำได้จริง

          - หากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสาร ควรสงบสติอารมณ์ให้นิ่ง และอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และดูว่าตรงกับความเป็นจริงที่เรารับรู้หรือไม่ โดยต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมตัวคิดหรือคาดเดาไปเอง หากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่เซ็นได้

          - โปรดระวังเอกสารและข้อมูลทุกชนิดที่เราให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะถูกนำมาใช้ในชั้นศาลเพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้

          - หากเป็นการจับกุมตัว ตำรวจควบคุมตัวเราที่สถานีตำรวจได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่ไปถึงสถานีตำรวจที่ออกหมายจับ หลังจากนั้นจะถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาล ท่านมีสิทธิขอประกันตัวในชั้นตำรวจหรือในชั้นศาลได้

          - หากเจ้าหน้าที่ขู่ให้บอกข้อเท็จจริงหรือเซ็นเอกสารต่าง ๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการปล่อยตัว เราควรตั้งสติและตระหนักเสมอว่าคำขู่ต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้จริง เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

เราควรปฏิบัติตัวเช่นไร และควรให้การอย่างไรต่อพนักงานสอบสวน เมื่อถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจ ?

          - ไม่ควรให้การใด ๆ กับพนักงานสอบสวน จนกว่าจะปรึกษาทนายความของตนเองก่อนเท่านั้น

          - หากไม่มีทนายความของตนเอง เราควรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา หรือยืนยันกับพนักงานสอบว่าจะไม่ให้การใด ๆ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น

ข้อพึงระวัง

          - เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนได้

          - มีสิทธิจะให้ทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมการสอบสวนได้

          - การให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจะเป็นผลเสียอย่างมากในการต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่านในชั้นศาล


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตอบทุกกรณี ถ้าโดนจับเพราะโพสต์-แชร์ข้อความโซเชียล จะทำอย่างไร เรามีสิทธิอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 9 ตุลาคม 2562 เวลา 16:56:10 8,435 อ่าน
TOP