x close

นึกภาพตาม ซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส ฝนตกในญี่ปุ่นวันเดียว 1,000 มม. ตื่นเช้ามาน้ำท่วมมิดหัว

          เปรียบเทียบปริมาณน้ำฝนตกในญี่ปุ่น จากซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส สูงสุด 1,000 มิลลิเมตร เท่ากับตื่นขึ้นมาน้ำท่วมมิดหัว บางพื้นที่จ่อท่วมสูงถึง 10 เมตร เหตุเพราะคันกั้นน้ำเตี้ยกว่าอีกฝั่ง น้ำอาจล้นทำนบเข้าท่วมพื้นที่ได้

          นับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก สำหรับประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังเตรียมรับมือกับ ซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส (Hagibis) ความรุนแรงเทียบเท่าพายุเฮอริเคนระดับ 5 และเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่คงอยู่ยาวนานที่สุดในปีนี้ ระยะเวลานานกว่า 60 ชั่วโมง โดยก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก และจะเคลื่อนผ่านหมู่เกาะโองาซาวาระ และมุ่งหน้ามายังภูมิภาคคันโต ในช่วงคืนวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม หรือเช้าวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม นี้ ทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงมาก และคาดว่ากระแสลมจะมีความเร็วสูงสุดถึง 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

          อ่านข่าว : เตรียมรับมือ ซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส ถล่มญี่ปุ่น สะพรึง...รุนแรงเทียบเฮอริเคน ระดับ 5

พายุ Hagibis
ภาพจาก Japan Meteorological Agency

          ทั้งนี้หลายคนอาจยังนึกภาพไม่ออกนักว่า ซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส จะมีความรุนแรงมากเพียงใด ล่าสุด (11 ตุลาคม 2562) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wisaruth Wisidh เปิดเผยข้อมูลพร้อมเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ระบุว่า ปริมาณน้ำฝนที่ญี่ปุ่นจะได้รับเมื่อซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิสเข้าฝั่งนั้น เช่น พื้นที่นาโงยะ (Nagoya) อาจจะได้รับปริมาณน้ำฝนสูงสุด 1,000 มิลลิเมตร หรือ โตเกียว (Tokyo) อาจมีปริมาณน้ำฝน 750 มิลลิเมตร ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง


          พร้อมยกตัวอย่าง กรุงเทพมหานคร ในปีนี้ มีปริมาณน้ำฝนรวมทั้งปีอยู่ที่ 950 มิลลิเมตร ซึ่งยังน้อยกว่าปริมาณน้ำฝนที่ประเทศญี่ปุ่นจะต้องได้รับภายในแค่ 2 วันนี้ ซึ่งยังไม่รวมน้ำขึ้นจากพายุ (Tidal surge) คลื่นที่เกิดจากการยกตัวของน้ำทะเลนอกชายฝั่ง จากอิทธิพลของความกดอากาศต่ำและพายุ และพลังน้ำขึ้นจากพระจันทร์เต็มดวงอีก ดังนั้น ลองนึกภาพถ้าเป็นกรุงเทพฯ ตื่นมาเช้าวันอาทิตย์ (13 ตุลาคม) พวกเราน่าจะจมน้ำมิดหัวกันไปเลย


          นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่คาดว่าน้ำจะท่วมสูงถึง 10 เมตร คือ แขวงเอโดงาวะ (Edogawa) ในกรุงโตเกียว ซึ่งมีข้อมูลว่าสาเหตุเป็นเพราะคันกั้นน้ำของฝั่งเอโดงาวะ เตี้ยกว่าคันกั้นน้ำอีกฝั่ง จึงทำให้น้ำอาจล้นทำนบขึ้นมาได้ ซึ่งหากน้ำท่วมล้นเข้ามาในพื้นที่จริง ๆ ก็เป็นภัยพิบัติที่น่ากลัวมากทีเดียว


          อย่างไรก็ตาม คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ มีข้อมูลว่า กรุงเทพฯ เคยรับน้ำฝนปริมาณ 150-203 มิลลิเมตร เนื่องจากมีฝนตกหนักถึงหนักมากนานติดต่อกันถึง 6 ชั่วโมง ผลคือน้ำท่วมทั้งเมือง ซึ่งถนนที่มีระยะเวลาน้ำท่วมขังน้อยที่สุดคือถนนลาดพร้าว (ซ.112 - คลองเจ้าคุณสิงห์) น้ำท่วมขังนาน 1 ชั่วโมง ขณะที่ถนนเพชรเกษม บริเวณเขตภาษีเจริญ ซอยเพชรเกษม 37 มีน้ำท่วมขังนานที่สุดถึง 21.15 ชั่วโมง




https://twitter.com/NOAASatellitePA/status/1182076389694070786
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก Wisaruth Wisidh, คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นึกภาพตาม ซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส ฝนตกในญี่ปุ่นวันเดียว 1,000 มม. ตื่นเช้ามาน้ำท่วมมิดหัว อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2562 เวลา 18:11:45 51,652 อ่าน
TOP