ไขข้อสงสัย ที่มา-ที่ไปราคาน้ำมันไทย แพงเพราะกำไรเยอะจริงเหรอ ?

ไขข้อสงสัย น้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูปแตกต่างกันอย่างไร ทำไมไม่ควรเอามาเปรียบเทียบกัน และกว่าน้ำมันแต่ละลิตรจะถึงมือผู้ใช้ ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง พร้อมตอบคำถามคาใจน้ำมันไทยแพงจริงหรือเปล่า 

เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่หลายคนสงสัยมานานว่า ทำไมหนอ...ราคาน้ำมันเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง ต้องคอยติดตามข่าวอยู่ตลอด จะได้ตัดสินใจว่าควรจะรีบตบไฟเลี้ยวเข้าปั๊มวันนี้เลยดีไหม หรืออดใจไว้รอเติมวันรุ่งขึ้นดีกว่า และทุกครั้งที่เหลือบไปเห็นป้ายตัวเลขราคาน้ำมันสีแดงฉาน ก็แอบคิดไม่ได้ว่า…

            ราคาน้ำมันประเทศเพื่อนบ้านจะแพงแบบไทยไหมนะ
            ราคาน้ำมันไทยแพงไปหรือเปล่า ? 
            ราคาน้ำมันดิบลง ทำไมราคาหน้าปั๊มไม่ลดด้วยล่ะ ?
            ผลิตน้ำมันใช้เองได้ จะต้องนำเข้าอีกเหรอ ? 
            ฯลฯ

            ถ้าอย่างนั้นเราลองไปย้อนดูเส้นทางของน้ำมันตั้งแต่ต้นสายการผลิตกันดีกว่า ว่าก่อนน้ำมันจะมาถึงมือผู้บริโภคต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง และเงินทุกสตางค์ที่เสียไปถูกนำไปจ่ายให้กับส่วนไหน พร้อมหาคำตอบน้ำมันไทยที่ว่าแพง เพราะค้ากำไรหรือมาจากต้นทุนจริง ๆ กันแน่ 

น้ำมันดิบ VS น้ำมันสำเร็จรูป ต่างกันอย่างไรนะ ?

หลายคนมักจะเรียกรวม ๆ กันว่า น้ำมัน ซึ่งจริง ๆ แล้วน้ำมันทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณสมบัติและการนำไปใช้งาน เราเลยไม่ควรเอามาเปรียบเทียบกันเพราะ... 


"น้ำมันดิบ" ได้มาจากแหล่งธรรมชาติ ต้องผ่านการกลั่นเพื่อแยกสิ่งปนเปื้อนก่อน ถึงจะนำไปใช้งานได้


"น้ำมันสำเร็จรูป" เป็นน้ำมันดิบที่ผ่านกระบวนการกลั่นมาแล้ว พร้อมใช้งานได้ทันที
 

อย่างที่เห็นว่า น้ำมันสำเร็จรูป ต้องผ่านขั้นตอนการกลั่นและเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน มีการใช้ทั้งเทคโนโลยีและเงินลงทุนสูงกว่า ก็เลยทำให้น้ำมันสำเร็จรูปมีราคาสูงกว่านั่นเอง

น้ำมันไทยมาจากไหน ผลิตเองได้ แต่ทำไมต้องนำเข้ากันนะ ?

แม้ประเทศไทยจะมีแหล่งธรรมชาติที่สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นเองได้ แต่ก็ยังนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศอยู่ดี เพราะเราผลิตน้ำมันได้แค่ 20% ของความต้องการใช้ทั้งหมดในประเทศ ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม น้อยมากใช่ไหมล่ะ...

เพราะแหล่งน้ำมันดิบในประเทศไทยแต่ละที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ถ้าจะออกแบบให้โรงกลั่นทุกแห่งมีความสามารถในการกลั่นน้ำมันได้ทุกชนิดและมีคุณภาพดีที่สุด คงต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มมหาศาล และคิดดูว่าราคาน้ำมันขายปลีกจะแพงขึ้นอีกขนาดไหน

ต้นทุนการผลิตน้ำมัน 1 ลิตร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างนะ ?

กว่าน้ำมัน 1 ลิตรจะมาถึงมือผู้บริโภค ในแต่ละขั้นตอนก็มีค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งต้นทุนการผลิตน้ำมันมีอยู่ 3 ส่วนหลัก ๆ คือ


1. ผู้ประกอบการโรงกลั่น เป็นค่าการผลิตของผู้ประกอบการโรงกลั่น เรียกสั้น ๆ ว่า “ต้นทุนน้ำมัน” หรือ “ราคาหน้าโรงกลั่น” คิดเป็นประมาณ 65% ของราคาน้ำมัน


2. รัฐบาล คิดเป็น 28% ของราคาน้ำมัน แบ่งออกเป็น 2 กองด้วยกัน คือ
                    ► ค่าภาษี ที่รัฐบาลจะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ
                    ► ค่ากองทุน รัฐไว้ใช้สำหรับอุดหนุนราคาน้ำมัน ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้ค่าราคาน้ำมันสูงจนเกินไป พร้อมทั้งนำไปวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนต่อไป

3. ค่าการตลาด ที่จ่ายให้กับเจ้าของสถานีบริการอีกประมาณ 7% ซึ่งเป็นปัจจัยเดียวที่ผู้ประกอบการสามารถปรับขึ้น-ลงได้ แต่เห็นตัวเลขเยอะ ๆ นี้ ก็ยังไม่ใช่กำไรทั้งหมดของพวกเขาหรอกนะ เพราะปั๊มน้ำมันยังต้องนำเงินส่วนนี้ไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าสถานที่ และอื่น ๆ อีกมากมายเลย

ค่าการกลั่นคืออะไร เป็นกำไรของโรงกลั่นด้วยหรือเปล่า ?

“ค่าการกลั่น” เป็นเพียงส่วนต่างระหว่างราคาขายกับราคาซื้อวัตถุดิบ ยังไม่ใช่กำไรสุทธิของผู้ประกอบการโรงกลั่น เพราะยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั่นเอง

ค่าการกลั่น = ราคาเฉลี่ยของน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ทั้งหมด – ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบที่จัดหามาเป็นวัตถุดิบ

แตกต่างจากราคาหน้าโรงกลั่น ที่มาจากต้นทุนการผลิตทั้งหมด และมีส่วนแบ่งที่ผู้ประกอบการโรงกลั่นจะได้รับไป เห็นไหมล่ะว่าเป็นคนละส่วนกันเลย ฉะนั้นจะเอาไปเทียบกันไม่ได้นะ

ราคาหน้าโรงกลั่น = ราคาน้ำมันสำเร็จรูป + ค่าขนส่ง + ค่าปรับปรุงคุณภาพ + ภาษี

ทำไมต้องอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์ ?

เนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก ดังนั้นราคาน้ำมันของไทยเลยมีการปรับขึ้น-ปรับลงตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยในตลาดโลก สาเหตุสำคัญก็มาจากการใช้ราคาอ้างอิงจาก “สิงคโปร์” แหล่งส่งออกหลักของภูมิภาคและเป็นแหล่งการค้าที่ใกล้ที่สุด อีกทั้งยังมีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินจากต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

ส่วนเหตุผลว่า ทำไมต้องใช้ราคาอ้างอิงจากสิงคโปร์ ก็เพราะว่าราคาน้ำมันของที่นี่เป็นราคากลางที่เกิดจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ค้าน้ำมันทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นราคาที่สะท้อนความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง 

จริงไหมราคาน้ำมันไทยแพงกว่าทุกประเทศในอาเซียน ?

***ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในอาเซียน ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 จากกระทรวงพลังงาน

จากอันดับราคาน้ำมันของเพื่อนบ้านเราก็จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันไทยจัดอยู่อันดับกลาง ๆ ไม่ได้แพงไปกว่าทุกประเทศอย่างที่เคยเข้าใจกันซะทีเดียว แต่มีบางประเทศ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา และบรูไน ที่หลายคนข้องใจว่าทำไมราคาน้ำมันถูกกว่าบ้านเรานัก ?

แล้วทำไมราคาน้ำมันไทยสูงกว่าบางประเทศในอาเซียน ?

สาเหตุที่ราคาน้ำมันไทยแพงกว่าบางประเทศ อย่าง มาเลเซียและบรูไน ก็เพราะว่าผลิตน้ำมันใช้เองได้ แถมยังเหลือจำหน่ายไปต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็ยังมีนโยบายอุดหนุนราคาจากรัฐ ส่วนทางเวียดนาม และเมียนมา ก็เก็บภาษีน้ำมันถูกกว่าและใช้น้ำมันมาตรฐานยุโรปต่ำกว่า เลยทำให้ราคาน้ำมันต่ำกว่าราคาน้ำมันไทยนั่นเอง

หลังจากทราบข้อมูลกันไปแล้ว คงทำให้หลายคนหายข้องใจได้บ้าง อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันไทยจะดูว่าสูง แต่ก็ไม่ได้แพงอย่างที่เข้าใจ เพราะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องนโยบายรัฐ โครงสร้างราคา และอัตราแลกเปลี่ยน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อสงสัย ที่มา-ที่ไปราคาน้ำมันไทย แพงเพราะกำไรเยอะจริงเหรอ ? อัปเดตล่าสุด 28 ตุลาคม 2562 เวลา 08:50:57 18,024 อ่าน
TOP