โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ แจงแล้ว หลังเจอดราม่านัดผู้ป่วยนานข้ามปี ทั้งที่ปวดท้องหนัก นิ่วในไตอักเสบ เผยต้องรอคิวตรวจ 1 ปี เพราะผู้ป่วยล้น แต่มีหมอแค่ 2 คน เฉลี่ยต้องดูแล 55 คนต่อวัน แต่รักษาได้เพียงวันประมาณ 3 คน ล่าสุดลัดคิวตรวจให้แล้ว
ภาพจาก รายการทุบโต๊ะข่าว
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chanon Vigo Zing ได้โพสต์เล่าเรื่องการให้บริการของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์ โดยพาพ่อไปโรงพยาบาลเนื่องจากปวดท้องหนัก เป็นนิ่วในไต แต่กลับไม่ได้พบแพทย์ ได้เพียงใบนัดให้เข้ามาพบแพทย์อีกที 1 ปีข้างหน้า จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์
ภาพจาก รายการทุบโต๊ะข่าว
โดยหลังจากรอพบแพทย์เกือบ 3 ชั่วโมง ที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ พยาบาลได้เรียกให้ไปรับใบนัด บอกว่าวันนี้ไม่ได้พบแพทย์ เมื่อสังเกตใบนัด ก็ถึงกับตกใจเพราะระบุวันให้มาอีกทีเดือนตุลาคม 2563 จึงได้สอบถามว่าทำไมต้องรอนานข้ามปี ซึ่งพยาบาลแจ้งว่างบประมาณไม่พอ มีแพทย์คนเดียวจึงต้องรอคิวนาน
ภาพจาก รายการทุบโต๊ะข่าว
ตนจึงถามกลับไปว่า พ่อปวดท้องหนัก ขอยาแก้ปวดได้ไหม แต่ได้คำตอบให้ไปขอที่โรงพยาบาลเดิม หรือหากรอไม่ไหวก็จะส่งตัวไปโรงพยาบาลอื่น ทำให้ตนรู้สึกเครียดมากเพราะพ่อปวดท้องหนักมาก คิดว่าโรงพยาบาลเดิมส่งตัวมาที่นี่จะได้รับการผ่าตัด แต่นี่กลับไม่ได้พบแพทย์ด้วยซ้ำ แม้กระทั่งยาแก้ปวดก็ไม่ให้ จึงนำเรื่องราวโพสต์ลงในกลุ่มข่าวคนเพชรบูรณ์
ภาพจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้
ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ได้ติดต่อเข้ามาขอโทษแล้ว และเลื่อนนัดให้พ่อเข้าไปพบแพทย์ได้ทันที แต่ก็ยังรู้สึกไม่เบาใจจนกว่าพ่อจะได้เอกซเรย์และผ่าตัด พร้อมฝากไปถึงทางโรงพยาบาลว่าอยากให้ปรับปรุงขั้นตอนการแพทย์ให้ดีกว่านี้
ขณะที่ พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผอ.โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ชี้แจงว่า หลังเกิดเรื่องทางโรงพยาบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมเผยว่าแต่ละปี มีผู้ป่วยเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะโรคนิ่วในไตประมาณ 1 หมื่นคน แต่มีแพทย์ที่ดูแลเพียง 2 ท่าน เฉลี่ยต้องดูแลผู้ป่วย 55 คนต่อวัน
สำหรับผู้ป่วยรายนี้ แพทย์ได้ทำการนัดหมายใหม่อีกครั้งแล้ว อาจต้องรักษาอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหรือรักษาอาการติดเชื้อให้ดีไปก่อน โดยทางโรงพยาบาลยอมรับผิดในด้านการสื่อสาร เพราะคนไข้นอกของโรงพยาบาลมีประมาณวันละ 1,300 คน ทำให้เกิดความหนาแน่นของผู้ป่วย การสื่อสารจึงอาจจะไม่ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณผู้ใช้บริการที่สะท้อนการบริการของโรงพยาบาล เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก