
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ของชาวจีน หรือ "วันตรุษจีน" กันแล้วนะคะ เชื่อเลยค่ะว่าใครหลาย ๆ คน ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตารอยคอยเทศกาลแห่งความสุขที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า... เพราะพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนจะได้พบปะญาติมิตร และได้ร่วมไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ รวมไปถึงไหว้เจ้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตต้อนรับปีใหม่ ส่วนเด็ก ๆ ในวัยเรียน ก็ได้ยิ้มกันแก้มปริ เพราะจะได้รับอั่งเปาซองแดง ๆ เป็นค่าขนมด้วยล่ะ นอกจากนี้ยังมีการแสดงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจุดประทัด หรือการเชิดสิงโต ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนสืบทอดกันมา
เอ... ว่าแต่ว่า ทำไมชาวจีนจึงต้องจุดประทัด และเชิดสิงโตในวันตรุษจีนกันด้วยล่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอนำเรื่องราวธรรมเนียมของชาวจีนมาฝากกัน ไปดูกันซิว่า การจุดประทัด และเชิงสิงโตในวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน จะมีความเชื่อ และความหมายอย่างไรกันบ้าง


ประวัติ ความเป็นมาของการจุดประทัดในวันตรุษจีนนั้น เกิดขึ้นเมื่อในอดีตมีคนช่างคิดนำดินระเบิดใส่เข้าไปในบ้องไม้ไผ่เล็ก ๆ แล้วจุดไฟ จนเกิดเสียงดังสนั่นไปทั่ว คราวนี้บรรดาลูกเล็กเด็กแดงเมื่อได้ฟัง ก็พากันร้องไห้จ้าละหวั่น สุนัขสัตว์เลี้ยงทั้งหลายต่างพากันวิ่งหนีกันอลหม่าน จึงทำให้คนคิดว่า เสียงดังปัง ๆ ของประทัดจะสามารถไล่ตัว "เหนียน" ไปได้
ส่วนเจ้าตัว "เหนียน" นั้นชาวจีนมีความเชื่อว่า เป็นสัตว์ร้ายชนิดหนึ่งที่มีร่างกายใหญ่โต มีลักษณะคล้ายวัวผสมกับแรด แถมยังมีนิสัยดุร้าย และมักออกหากินช่วงเวลากลางคืน ในวันที่อากาศหนาว ๆ เนื่องจากวันที่มีอากาศหนาวนั้นชาวบ้านจะมานั่งผิงไฟ หรือปิ้งย่างอาหารกันกลางหมู่บ้าน และเมื่อเจ้าเหนียนสัตว์ร้ายเห็น ก็จะรีบกระโจนมาแย่งอาหาร แต่ทันใดนั้นนั่นเอง กองไฟที่ทำจากไม้ไผ่ก็เกิดประกายไฟ แตกปะทุดังเปรี้ยงปร้าง เป็นเหตุให้เจ้าเหนียนหวาดกลัวและวิ่งหนีไปในที่สุด ส่วนชาวบ้านบางกลุ่มก็เชื่อว่า เจ้าเหนียนกลัวสีแดงของประกายไฟ จึงได้นำผ้าแดง และกระดาษแดง มาเขียนตัวอักษรถ้อยคำที่เป็นสิริมงคล ติดไว้ตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ เพื่อให้เหนียนเห็นแล้วไม่กล้าเข้าใกล้ ทั้งนี้ การเขียนกระดาษแดงก็เป็นที่นิยม และเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากชาวจีนจะเชื่อว่า "เหนียน" นั้นเป็นสัตว์ร้ายแล้ว คำว่า "เหนียน" ยังพ้องเสียงกับคำศัพท์ที่แปลว่า "ปี" ซึ่งคนจีนจะเชื่อว่า ช่วงสิ้นปีนั้น อากาศจะหนาวเย็นจัด ผู้คนมักไม่สบายกันมาก เพราะเจ้าตัวเหนียนออกอาละวาด ทั้งนี้การจุดประทัดเสียงดัง ก็น่าจะไล่เจ้าตัวเหนียน โรคภัยไข้เจ็บได้ และความอัปมงคลไปได้ ส่วนคนจีนบางกลุ่มก็เชื่อว่า การจุดประทัดนั้นเป็นการเรียกโชค ส่วนบางกลุ่มก็บอกว่า เป็นการจุดเพื่อให้เทพเจ้าได้ยิน ท่านจะได้มาช่วยคุ้มครองให้ชาวจีนอยู่เย็นเป็นสุข


การเชิดสิงโต หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า "ไซ่จื้อบู่" นั้น ถือว่าเป็นการละเล่นที่เป็นสัญลักษณ์ของวันตรุษจีนเลยทีเดียว โดยเฉพาะชาวจีนตอนเหนือ และชาวจีนตอนใต้ ที่มักจะเชิดสิงโตในวันที่มีงานแห่เจ้า หรือพิธีเซ่นสังเวยของฝน
ส่วนประวัติความเป็นมาที่ชาวจีนจะต้องเชิดสิงโตในวันตรุษจีนนั้น มีบันทึกของราชวงศ์ทางตอนเหนือและทางตอนใต้ในช่วง พ.ศ. 850 – พ.ศ. 1132 ระบุว่า ชาวบ้านได้นำหัวสิงโตมาสวมใส่และเชิดเพื่อไล่ผีร้าย ที่ชาวบ้านต่างพากันเชื่อว่า จะลงมากินผู้ชายและสัตว์เลี้ยง จึงก่อเกิดเป็นความเชื่อว่า ถ้าเชิดสิงโตแล้วจะสามารถไล่ภูตผีปีศาจได้ จึงได้ปฎิบัติกันเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานับตั้งแต่บัดนั้น
สำหรับ การเชิดสิงโตในวันตุรษจีน จะมีกลุ่มชายรูปร่างแข็งแรงเดินเชิดสิงโตเพื่อขอเงินบริจาค โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มคนที่เล่นดนตรีประกอบ และกลุ่มคนที่สวมหัวสิงโต ชุดสิงโต และคนที่ใส่หัวแปะยิ้มถือพัด จากนั้นก็จะเดินผ่านไปยังถนนหนทางหมู่บ้าน พอชาวบ้านได้ยินเสียงกลอง ก็จะนำซองอั่งเปามาแขวนไว้บนยอดไม้สูง ๆ ซึ่งกลุ่มคนเชิดสิงโตก็จะต้องปีนหรือต่อตัวขึ้นไปหยิบซองดังกล่าว นับว่า เป็นประเพณีที่สนุกสนาน และน่าตื่นเต้นมากทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
educatepark.com