x close

เปิดมุมมอง ดร.วิจารย์ สิมาฉายา กับทางออกปัญหาขยะในไทยที่ (ยัง) แก้ไขได้

          หลายปีที่ผ่านมา "ปัญหาขยะ" เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกต่อสู้มาอย่างยาวนาน และกำลังเป็นวิกฤต รวมถึงไทยด้วย ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยตัวเลขปี 2561 มีขยะมากถึง 27.8 ล้านตัน ทิ้งขยะเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนอยู่กับความเคยชินจนลืมไปว่า เราเองนี่แหละคือจุดเริ่มต้นของปัญหาขยะ 1 ชิ้น จากบ้านสู่ชุมชน จากชุมชนสู่จังหวัด จากจังหวัดสู่ประเทศ และจากประเทศสู่โลกในที่สุด กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามไปเรื่อย ๆ จนไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น และยังไม่รู้ว่าจะช่วยกันจัดการปัญหาขยะเหล่านี้ยังไงให้ได้ผล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 กระปุกดอทคอมได้รับเกียรติจาก "ดร.วิจารย์ สิมาฉายา" ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องสถานการณ์ปัญหาขยะในประเทศไทยที่เกิดขึ้น พร้อมแนะนำแนวทางในการจัดการขยะอย่างไรให้ได้ผลดี  รวมถึงมุมมองของโรงไฟฟ้าขยะกับอนาคตขยะในประเทศไทย หากมีระบบจัดการที่ดี ปัญหาขยะเหล่านี้จะแก้ได้ และ "ขยะ" จะไม่ไร้ค่าอีกต่อไป
 

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

          ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เป็นบุคคลที่ทุ่มเทและทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยก่อนหน้านี้ (พฤศจิกายน ปี 2559) ท่านดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (พ.ศ. 2554), เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2555), รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2555-2558) และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (พ.ศ. 2558 - ตุลาคม 2559)
 

บทบาทหน้าที่ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยคืออะไรคะ ?

          บทบาทของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยคือ การเป็นคลังสมอง เป็นหน่วยที่จะคิด เป็นองค์กรพัฒนาองค์กรเอกชน เป็นองค์การด้านสิ่งแวดล้อมที่จะประสานหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน ที่จะร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และอีกส่วนหนึ่งก็คือ เป็นองค์กรชี้นำในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศ และก็มีความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม 
 

สถานการณ์ขยะในประเทศไทยเป็นอย่างไร เป็นปัญหาไหม และส่งผลกระทบกับอะไรบ้าง ?

          ประเภทของ “ขยะ” แบ่งเป็น ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม ขยะจากโรงพยาบาล ซึ่งตอนนี้จะพูดถึงขยะที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ก็คือ ขยะจากชุมชน ประมาณ 27-28 ล้านตันต่อปี เฉลี่ยแล้วใน 1 วัน เราสร้างขยะถึง 75,000 ตัน และ 1 คน สร้างขยะประมาณ 1.1 กิโลกรัมเลยทีเดียว เพราะขยะที่เกิดขึ้นเราจะต้องจัดการให้ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้เรามีปัญหาอยู่
 
          ในขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่น มีทั้งหมดประมาณ 7,000 กว่าแห่ง แต่เราบริหารจัดการขยะได้จริง ๆ ในขณะนี้ ประมาณ 50% ของขยะที่เกิดขึ้น แล้วขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ก็ยังมีค่อนข้างน้อย หรือประมาณ 30% ที่เราสามารถรีไซเคิลขยะไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เพราะฉะนั้นส่วนที่เหลือที่สร้างปัญหานะครับ ก็คือขยะที่กองเต็มไปหมด

          ปัญหาใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือ เรื่อง “ขยะพลาสติก” ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ 6 ให้เป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุด ขยะพลาสติกในประเทศไทย 1 ปี ประมาณ 2,000,000 ตัน แต่เราจัดการได้ประมาณ 500,000 ตัน เหลืออีก 1,500,000 ตัน ซึ่งกองอยู่ตามที่ต่าง ๆ และออกสู่แม่น้ำ ทะเล ท้ายที่สุดเราก็มีปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ขยะพลาสติกเวลาอยู่ในน้ำ อยู่ในทะเล จะใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 400 กว่าปี เพราะฉะนั้นเราเริ่มใช้ขยะพลาสติกเมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว ขยะพลาสติกก็ยังอยู่ในทะเล

          ในขณะเดียวกันถ้าเราเพิ่มปริมาณการใช้ขยะพลาสติก ก็จะเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกในทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกในทะเลที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่เขาเรียกว่า “ไมโครพลาสติก” ซึ่งขณะนี้งานวิจัยต่าง ๆ มีมากมายระบุว่า มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ ในสัตว์ทะเล ท้ายที่สุดคนก็บริโภคหรือกินสัตว์ทะเล ก็จะสะสมไมโครพลาสติกในร่างกายด้วย

          เรามีสัตว์น้ำที่ตายไป อย่างล่าสุด “น้องมาเรียม” พะยูนที่ตายไป พบว่าพลาสติกก็เป็นประเด็นหนึ่งที่จะไปเสริมการตายของน้องมาเรียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราผ่าท้องมาเรียม และจะเห็นว่ามีเศษพลาสติกในท้องของมาเรียม 8 ชิ้น

          หรือในกรณีของปีที่แล้ว เรามีวาฬนำร่องที่เข้ามาตายในประเทศไทย ซึ่งตรงนั้นก็มีสาเหตุสำคัญมาจากขยะพลาสติกในทะเล มีถุงพลาสติกในท้องของวาฬนำร่อง ทั้งหมด 80 ใบ น้ำหนักรวมกัน 8 กิโลกรัม และสำคัญที่สุดก่อนที่วาฬจะตาย วาฬสำลักเอาถุงพลาสติกออกมาทีละใบสองใบ แล้วท้ายที่สุดก็เสียชีวิตลง ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
 

แล้วตอนนี้ประเทศไทยมีการจัดการขยะอย่างไร และมีแผนพัฒนาการจัดการขยะในอนาคตอย่างไรบ้าง ?

          การจัดการขยะมีหลายวิธี ซึ่งการจัดการก็ขึ้นอยู่กับประเภท ชนิด และปริมาณขยะด้วย ซึ่งตอนนี้ขยะเป็นเรื่องของท้องถิ่น หน้าที่ของท้องถิ่นคือการจัดการบริหารขยะให้ครบวงจร ท้องถิ่นขนาดใหญ่หลายแห่งสามารถดำเนินการจัดการขยะได้ มีเตาเผา มีระบบฝังกลบ หรือมีการแยกขยะ แล้วก็นำขยะไปจัดการให้ถูกต้อง แต่เนื่องจากเรามีท้องถิ่นเยอะ แล้วท้องถิ่นของเรามีขนาดเล็ก ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ คือมีพร้อมแล้ว แต่ปริมาณขยะเราต้องพอ และคุ้มค่ากับการลงทุน

          ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่จะสร้างเตาเผา จะต้องมีปริมาณขยะ 300 ตันขึ้นไปต่อวัน มีปริมาณมากพอ ในแง่ของการดูแลรักษาระบบต่าง ๆ ในอดีตเราเคยมีการฝังกลบ แต่ฝังกลบถ้าไม่ถูกหลักวิชาการก็จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำจากขยะ ก็จะออกไปปนเปื้อนกับน้ำใต้ดิน ปนเปื้อนกับแหล่งน้ำ

          หรือที่เรามีปัญหาตอนนี้คือ แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งประเภทเกาะ ไม่สามารถที่จะจัดการปัญหาขยะของตัวเองได้ ก็ไปกองขยะอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ท้ายที่สุดน้ำชะขยะก็ไหลลงสู่คลอง จากคลองก็ไหลลงสู่ทะเล

          ซึ่งจริง ๆ แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ขายความสวยงามของทะเล แต่ไม่ได้ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม แล้วเราจะดูแลกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะ จะต้องมีการจำกัดขยะบางประเภท หรือต้องมีระบบการจัดการที่ดี หรือถ้าจะขนขึ้นฝั่งก็ต้องขนให้หมด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เราจะต้องวางแผนระยะยาวก่อนที่จะมีการลงมือทำ
 

เราจะนำแนวคิดลำดับความสำคัญของการกำจัดขยะ (Waste Management Hierarchy) ปรับใช้ยังไงบ้าง ?

          ระบบบริหารจัดการขยะต้องมองให้ครบวงจร แบ่งง่าย ๆ ก็คือ มีต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ต้นทาง คือ มีระบบ 3R = Reduce, Reuse, Recycle ต้องมีการลดการใช้ขยะ ลดการก่อให้เกิดขยะ มีอะไรที่เราปฏิเสธได้ก็ปฏิเสธ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ส่วนหนึ่งคือ Reuse ใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้งได้ Recycle ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ อย่างพวกเศษพลาสติกต่าง ๆ ขยะพลาสติกในทะเล พวกนี้สามารถที่จะนำกลับมาเป็นวัตถุดิบหรือรีไซเคิลได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ

          ท้ายที่สุดถ้ามันเกิดขยะ ขยะต้องนำไปจัดการให้ถูกต้อง ทั้งระบบขนส่ง ระบบจัดการ จะต้องมีระบบที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การฝังกลบ จะต้องมีการคลุมด้วยพลาสติก เพื่อไม่ให้รั่วไหลลงสู่น้ำใต้ดิน กรณีการเผา ต้องมีระบบบำบัดมลพิษต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีระบบบำบัดมลพิษ เตาเผาขนาดเล็ก ๆ ไม่สามารถที่จะเผาได้ หลายแห่งซื้อในท้องถิ่น ท้ายที่สุดก็กลายเป็นอนุสาวรีย์ เป็นอะไรที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจน ว่าการเผาจะต้องมีปริมาณขยะที่มากพอ แล้วการเผาจะต้องมีเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากสากล ถ้าไม่มีระบบบำบัดมลพิษก็ก่อให้เกิดปัญหา อย่างกรณีสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สารไดออกซิน, สารฟิวแรน ก็จะออกมา พวกนี้ก็ต้องมีการตรวจสอบ มีการควบคุมที่ดี
 

ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ไหมว่าโรงไฟฟ้าขยะมีการปล่อยมลพิษมากเกินไปหรือไม่ ?

          เรื่องการตรวจสอบ ซึ่งจริง ๆ เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ตอนนี้สิ่งที่รัฐได้พยายามทำก็คือ เมื่อมีระบบบำบัดมลพิษ ระบบเตาเผาต้องแสดงผลการควบคุมมลพิษให้ประชาชนได้รับทราบด้วย ก็จะมีจอแสดงผลหน้าโรงงานต่าง ๆ ว่าตอนนี้กำลังตรวจวัดมลพิษทางอากาศตัวไหนบ้าง เป็นไปตามค่ามาตรฐานหรือเปล่าอย่างไร ก็จะต้องมีระบบรายงานที่ชัดเจน ซึ่งตอนนี้หลายแห่งก็มีการดำเนินการไปแล้ว

          ซึ่งในอนาคตประเทศไทยก็จะมีเตาเผาในพื้นที่ต่าง ๆ ก็ต้องนำระบบพวกนี้เข้าไปใช้ และมีการสื่อสารให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ มีระบบรายงาน จอแสดงผล วัดค่าในขณะนั้นและแสดงผลในขณะนั้นเลย ตอนนี้ก็ทำได้หลายแห่งแล้ว
 

แล้วจะทราบได้อย่างไร ว่าพื้นที่แต่ละแห่งควรจะใช้เทคโนโลยีแบบไหนในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ?

          ต้องมีการศึกษาการที่จะใช้เทคโนโลยี พื้นที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ว่า ปริมาณขยะเท่าไหร่ ชุมชนไหน ถ้าขยะในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งไม่พอ จะเอาขยะจากท้องถิ่นไหนเข้ามาร่วม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ไกลเกินไป ระยะทางที่จะขนขยะเข้ามาจะต้องเป็นระยะทางที่ไม่ไกลเกินไป ดูชนิด ดูปริมาณขยะ

          อีกสิ่งหนึ่งคือเทคโนโลยีที่จะเหมาะกับพื้นที่นั้น ๆ เพราะขยะในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นขยะที่มีความชื้นสูง ถ้าเราสามารถที่จะแยกขยะที่เป็นเศษอาหารไปหมักทำปุ๋ยก่อน ก็เป็นประโยชน์อีกทางหนึ่ง แล้วค่อยนำมาเผาก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณ ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี สำคัญที่สุดคือเรื่องของการยอมรับของพี่น้องประชาชน ทำอย่างไรที่จะสื่อสารทำความเข้าใจได้

          อย่างกรณีของภูเก็ต ซึ่งภูเก็ตก็มีเตาเผา แต่พี่น้องประชาชนก็เข้าใจว่าทำไมภูเก็ตจะต้องมีเตาเผา คือเตาเผาจะต้องมีระบบที่ได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบ มีการควบคุมมลพิษ และมีการแสดงผล ตรงนี้ต้องเป็นที่ยอมรับ แล้วท้ายที่สุดที่เรามองก็คือ ทำยังไงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แล้วประชาชนได้อะไรจากการที่มีเตาเผาอยู่ในพื้นที่ของเขา ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น
 

ทำไมต้องแยกขยะ ขยะมีกี่ประเภท และมีวิธีแยกขยะอย่างไร ?

          ขยะในประเทศไทย แบ่งออกได้ 4 กลุ่มใหญ่ คือ ขยะอินทรีย์ (หรือขยะเปียก) ที่มีมากกว่า 50%, ขยะอันตราย พวกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ พวกหลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ที่เราใช้ฉีดฆ่าแมลงในบ้าน พวกนี้ถือว่าเป็นขยะอันตราย, ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติกต่าง ๆ และขยะทั่วไป

          แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะแยกขยะประเภทต่าง ๆ ถามว่าเราจะต้องทิ้งให้ถูกไหม ? บางทีเราเลือกไม่ได้ว่าเราจะทิ้งขยะตรงไหน บางทีถังขยะไม่ได้เอื้ออำนวยให้ ยกตัวอย่างเช่น ที่สนามบิน ถ้าเราไปดอนเมืองก็จะมีถังขยะ 2 แบบ คือ ถังขยะรีไซเคิลกับขยะทั่วไป พวกนี้เราต้องรู้ว่าขยะทั่วไปคืออะไร

          ขยะทั่วไปก็คือ ขยะที่เราไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็ถือว่าเป็นขยะทั่วไป ถ้าเป็นขวดก็ทิ้งในถังขยะรีไซเคิล หลายแห่งก็จะแยกเป็น 4-5 ประเภท หรือตอนนี้ต่างประเทศในกรณีของญี่ปุ่น ก็แยกมากกว่า 20 ประเภท เวลาเราไปตามที่ต่าง ๆ ก็จะบอกเลยว่าที่ไหนอย่างไร ขึ้นอยู่กับพื้นที่

          การแยกขยะเป็นสิ่งจำเป็น อย่างที่บ้านเรา หน้าบ้านเรามีถังขยะใบเดียวทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด ขยะรีไซเคิลเราแยกไว้ก่อนเลย ซึ่งสามารถที่จะจำหน่ายได้ ขายได้ แต่ถ้าไม่อยากขายก็มีซาเล้งมาหน้าบ้าน เราก็ให้เขาไปได้ ไม่ต้องไปทิ้งในถังขยะทั่วไป

           อีกส่วนหนึ่งคือ ขยะอินทรีย์ ขยะที่เป็นเศษอาหาร สามารถนำมาหมักเป็นสารบำรุงดินได้ ขยะชิ้นใหญ่ ๆ เป็นเรื่องสำคัญว่าเราจะทิ้งที่ไหนอย่างไร ซึ่งตอนนี้เขตหลายเขตในกรุงเทพมหานคร ตอนนี้มีเขตสายไหมที่ทำอยู่ ก็มีที่นอน มีเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ ๆ ที่ไม่ใช้แล้ว เช่น ตู้เย็น สามารถที่จะเรียกทางเขตไปเก็บเป็นพิเศษได้ หรือจะมีวันที่เก็บในกรณีขยะชิ้นใหญ่ ๆ หรือของเสียอันตรายพวกแบตเตอรี่เก่าที่ไม่ใช้แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญว่าทำไมเราต้องแยกขยะ

          หลายคนมีคำถามว่า ทำไมต้องแยกขยะ แยกเสร็จแล้วกรุงเทพมหานครก็เอาไปรวมกัน เก็บขยะไปรวมกัน เพราะมีรถคันเดียว ซึ่งเรื่องนี้เราก็ต้องทำความเข้าใจว่า ขยะที่รีไซเคิลเราเก็บไว้ก่อน หรือต่อไปเราอาจจะมองในแง่ของการเก็บขยะ ซึ่งตอนนี้เราเก็บทุกวัน เพราะฉะนั้นคนไม่ได้เห็นความสำคัญของการแยกขยะเลย เพราะฉะนั้นอาจจะแบ่งวัน เช่น วันจันทร์ พุธ ศุกร์ เก็บขยะอินทรีย์ เพราะเรามีเยอะมากในประเทศไทย อังคารอาจจะเก็บขยะรีไซเคิลได้ อีกสักวันเก็บขยะที่เป็นของอันตราย ซึ่งพวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องไปจัดการต่างหาก ไม่สามารถที่จะไปจัดการกับขยะที่เป็นขยะชุมชนได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ก็ถ้าจะตอบว่าจะต้องแยกต้องเก็บยังไง อะไรที่มีประโยชน์แยกไว้ก่อน อะไรที่ไม่มีประโยชน์ก็สามารถทิ้งในถังขยะได้ ซึ่งต่อไปถ้าเราจัดระบบดี ๆ ขยะพวกนี้จะมีที่ไปแต่ละแห่งว่าจะไปยังไง ขยะเปียกจะต้องไปไหน ขยะทั่วไปจะต้องไปไหน ถ้าเรามีปลายทางที่ชัดเจน เช่น มีโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ อย่างที่ญี่ปุ่น หลายแห่งก็แยกเป็น 2 อย่าง คือ ขยะที่เผาได้กับขยะที่เผาไม่ได้ ขยะที่เผาได้ก็ส่งไปโรงไฟฟ้า ขยะที่เผาไม่ได้ก็ไปที่จัดการขยะอีกที่หนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีระบบ ทั้งต้นทางที่เราแยก กลางทางระบบขนส่งเป็นอย่างไร ปลายทางเราจะไปจัดการอย่างไร
 

ขยะที่ถูกส่งไปโรงไฟฟ้า มีขยะประเภทไหนบ้าง ?

          ขยะทุกอย่างที่สามารถเผาได้หมด ขยะเปียกก็เผาได้ แต่ให้พลังงานน้อย ก็ต้องใช้พลังงานที่เป็นต้นทุนเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะแยกขยะ โดยเฉพาะขยะทั่วไป ขยะแห้ง พวกเศษพลาสติก ถือว่าเป็นขยะที่มีพลังงานจากการเผา แต่การเผาพลาสติก ถ้าเผาทั่วไป เผากลางแจ้งก็จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษ การเผาในโรงไฟฟ้าจะต้องมีตัวกรอง มีระบบบำบัดมลพิษที่เป็นไปตามมาตรฐาน ถ้าเผาทั่วไปก็จะก่อให้เกิดสารพิษต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารทำความเข้าใจ เพราะขยะทั่วไปสามารถที่จะเผาได้ แต่ต้องลดความชื้นลงมา ไปกรองลดความชื้นแล้วก็เผาได้ แต่ถ้าเราสามารถแยกประเภทได้ เช่น ขยะแห้งจะเผาได้ง่าย แล้วให้พลังงานสูงด้วย ขยะเปียกจะต้องนำไปหมักก่อน แล้วนำไปใช้เป็นสารบำรุงดินได้ หรือขยะที่เป็นขยะเปียก หลายแห่งก็คือนำไปหมักใช้ผลิตไฟฟ้า เขาเรียกกันว่าแก๊สชีวภาพ ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องมองให้ครบวงจร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่เราจะทำว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรก็ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะ ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นต่าง ๆ การยอมรับของพี่น้องประชาชนด้วย
 

ขยะอันตรายสามารถนำไปเผาได้ไหม ?

          ขยะอันตรายสามารถเผาได้ แต่ต้องเผาแยกต่างหาก ซึ่งตอนนี้เราก็มีโรงเผาขยะอันตรายที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรม นำไปเผาแล้วบางส่วนก็เผาเป็นพลังงานได้ บางส่วนก็ไปแยกตามประเภท บางประเภทก็ยังมีประโยชน์อยู่ อย่างขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีทองแดง ก็แยกออกมาก่อน ซึ่งตรงนี้ก็มีระบบเผา ท้ายที่สุดเผาต้องใช้ความร้อนสูง ก็จะมีเถ้าถ่านออกมา ตรงนี้ก็ต้องนำมาวิเคราะห์ว่า เผาเสร็จแล้วพวกนี้ยังมีของเสีย มีสารพิษหรือเปล่า ถ้ามีของเสียก็ต้องนำไปจัดการให้ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่ของเสีย ก็สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ หลายประเทศที่มีเตาเผา เมื่อเผาเสร็จแล้วก็มีเถ้าถ่านออกมา ก็นำไปทำอิฐบล็อก ทำวัสดุต่าง ๆ ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องตรวจก่อนว่าไม่มีสารพิษเจือปน
 

จากกองขยะไปสู่การผลิตไฟฟ้า ผ่านกระบวนการขั้นตอนอะไรบ้าง ?

          จากขยะที่เราสร้าง ไปสู่การทำไฟฟ้า ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ต้นทาง กลางทาง และปลายทางเหมือนเดิม ต้นทาง คือ จากขยะที่เราสร้างขึ้นตามบ้าน มีขยะอะไรบ้าง ก็มีขยะ 4 ประเภท คือ ขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิลได้ และขยะอันตราย ซึ่งพวกนี้ต้องแยก

          ขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ ก็สามารถส่งไปโรงไฟฟ้าได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ว่าใช้เทคโนโลยีแบบไหน แล้วก็การขนส่งก็เป็นเรื่องสำคัญ มีการรวบรวมการขนส่งด้วยรถขยะ แล้วก็ไปปลายทาง ปลายทางจะเป็นแบบไหน โรงไฟฟ้า อย่างที่บอกโรงไฟฟ้าก็ต้องมีปริมาณขยะที่มากพอ เทคโนโลยีไปได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของขยะที่เกิดขึ้น

          ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีของระบบการเผาขยะและให้พลังงานก็มีมากมาย สมมติว่าเราสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า RDF ก็คือทำเป็นแท่งเชื้อเพลิง ก่อนที่จะนำไปเผา แท่งเชื้อเพลิงนี้ก็หมายความว่าเข้าสู่ระบบแบบเติมอากาศ แยกพลาสติกออกมา แยกเศษต่าง ๆ ออกมา ไปเผา ซึ่งพวกนี้จะให้ความร้อนสูง

          ในขณะเดียวกัน สารอินทรีย์ หรือขยะเปียก นำไปหมัก เวลาแยกออกมาสามารถที่จะจัดการได้ ซึ่งตรงนี้ก็มีหลายแห่งที่ทำ อย่างกรณีท้องถิ่นหรือชุมชนที่มีปริมาณขยะไม่สูงมากนัก เช่น 5 ตันต่อวัน หรือ 10 ตันต่อวัน สามารถนำมาทำเป็นแท่งเชื้อเพลิงก่อน เป็นขยะที่เป็นเชื้อเพลิงก่อน แล้วขนขยะที่เป็นเชื้อเพลิงเหล่านี้ไปโรงไฟฟ้า ซึ่งพวกนี้ก็สามารถที่จะลดผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ แล้วก็สิ่งสำคัญที่สุดคือ การควบคุมดูแลโรงไฟฟ้าก็จะง่าย เพราะเป็นการเผาที่มีความชื้นค่อนข้างน้อย เพราะเราแยกความชื้นจากขยะต่าง ๆ ออกไปแล้ว จากขยะที่เป็นขยะอินทรีย์
 

ในมุมมองของ ผอ. การสร้างโรงไฟฟ้าขยะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ?

          คิดว่าควรจะส่งเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะเดิมในอดีตที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่าเรามีข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ เรื่องการทำความเข้าใจ เพราะฉะนั้นก็เลยเลือกวิธีฝังกลบ ซึ่งตอนหลังเทคโนโลยีต่าง ๆ มีความก้าวหน้าแล้ว แล้วก็มีระบบบำบัดมลพิษที่ทันสมัย เรื่องนี้เราก็ต้องส่งเสริม อยากให้ท้องถิ่นซึ่งที่กระทรวงมหาดไทยแบ่งเป็นกลุ่ม หรือเรียกว่า คลัสเตอร์ และแต่ละคลัสเตอร์ต้องมีปริมาณขยะตั้งแต่ 300 ตันขึ้นไป มีศักยภาพที่จะทำโรงไฟฟ้าได้ แต่สำคัญที่สุดคือ ควรจะจ้างเอกชนเข้ามาดูแลเพื่อให้สามารถที่จะควบคุมได้ ในขณะเดียวกันท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นก็ไปควบคุมดูแลว่าเอกชนทำได้ตามมาตรฐานที่เรากำหนดหรือเปล่า ภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาตรวจสอบว่าสิ่งที่บริษัทเอกชนที่ท้องถิ่นต่าง ๆ มอบให้ทำ สามารถทำตามเงื่อนไขต่าง ๆ ได้หรือเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องวางกรอบให้ชัดเจนว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร เพราะว่าที่ผ่านมาท้องถิ่นหลายท้องถิ่นดูแลเอง แต่ไม่สามารถที่จะควบคุมดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบุคลากรก็ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง เป็นวิศวกรที่ดูแลทั้งระบบบำบัด กำจัดต่าง ๆ แล้วก็ต้องมีระบบตรวจสอบว่าสามารถที่จะดูแลเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามมาตรฐานของประเทศหรือเปล่า อันนี้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ

          ท้ายที่สุดเราก็ต้องส่งเสริม เพราะต่อจากนี้เรามีปัญหาเรื่องการฝังกลบ ก็ไม่มีพื้นที่ฝังกลบ อย่างเช่นในหลาย ๆ ประเทศ อย่างประเทศเยอรมนี ซึ่งตอนนี้เขาก็ประกาศแล้วว่าจะไม่มีการฝังกลบขยะ ขยะส่วนใหญ่ก็จะไปโรงไฟฟ้า หรือการเผา ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะมอง หรืออย่างญี่ปุ่น ในเมืองต่าง ๆ ก็ใช้การเผาทั้งนั้น แต่เผายังไงให้เกิดประสิทธิภาพ เผายังไงให้เกิดการยอมรับ ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมยังไง ซึ่งตอนนี้เราก็ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เพราะหลายแห่งที่เริ่มจะมีโครงการ ประชาชนก็รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยแล้วว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
 

ฝากถึงประชาชนเกี่ยวกับเรื่องของขยะ การแยกขยะ และการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ หน่อยค่ะ

          ขยะเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น และเป็นเพราะว่าทุกคนสร้างขยะ 1 กิโลกรัม 1 ขีด ต่อคนต่อวัน ในตรงนั้นก็มีทั้งขยะพลาสติก ขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย ขยะทั่วไป ถ้าเราไม่ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศมีทางออกในการแก้ไขปัญหา เราก็จะมีปัญหา ซึ่งตอนนี้เราก็มีปัญหาหลายที่แล้ว เมืองท่องเที่ยวเราก็มีขยะกองเต็มไปหมด หรือเมืองที่มีประชากรอยู่หนาแน่น ขยะก็กองเต็มไปหมด แล้วเราจะจัดการยังไง ต้องฝากให้ทุกคนมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ในท้ายที่สุดก็ต้องส่งเสริมรัฐบาลในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ แต่ก็อย่าถือว่าเราได้ไฟฟ้า เพราะว่าเป้าประสงค์ เป้าหมายสำคัญที่สุดของเราก็คือการกำจัดขยะ ไฟฟ้าถือว่าเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

          ท้ายที่สุดก็คือตัวเรา เราได้ลดขยะด้วย เมื่อยังมีขยะอยู่ จะไปจัดการอย่างไร ซึ่งตรงนี้ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมนะครับ ทั้งการฝังกลบ ทั้งการเผา ซึ่งการเผาขยะตอนนี้ก็เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับแล้ว ก็อยากให้พี่น้องประชาชนเปิดใจกับสิ่งที่เราจะประสบ ถ้าสมมติว่าเราไม่มีระบบการจัดการที่ถูกต้อง ปัญหาขยะก็จะสะสมแล้วส่งผลกระทบต่อเรา ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องสุขภาพอนามัย เรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะตามมา ก็ต้องช่วยกัน เพราะว่าขยะเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนสร้างขยะ เวลาจะจัดการ เวลาจะลดขยะ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมด้วยนะครับ 
 
          หากข่าวการตายของมาเรียม พะยูนน้อยแห่งท้องทะเลอันดามันในวันนั้น ได้เป็นเครื่องสะกิดใจให้คนไทยหันมาใส่ใจเรื่องปัญหาขยะได้เพียงสักนิด ทำความเข้าใจเรื่องการกำจัดขยะที่ถูกต้อง และมองเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะง่าย ๆ เริ่มที่ตัวเรา ให้ประเทศและโลกของเราน่าอยู่เหมือนอย่างเคย โดยรีบมาช่วยกันเร่งแก้ไขอย่างจริงจังก่อนจะลุกลาม และสร้างปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดมุมมอง ดร.วิจารย์ สิมาฉายา กับทางออกปัญหาขยะในไทยที่ (ยัง) แก้ไขได้ อัปเดตล่าสุด 7 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14:45:58 4,389 อ่าน
TOP