x close

พิธา เสนอ 3 ท. แก้ปัญหาไฟป่า ถามรัฐ เรือดำน้ำกับเครื่องบินดับไฟ อะไรสำคัญกว่ากัน

          พิธา เสนอแนวคิด 3 ท. ท้องถิ่น-ทรัพยากร-เทคโนโลยี แก้ปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืน พร้อมย้อนถามรัฐบาล ระหว่างเรือดำน้ำ กับเครื่องบินดับไฟป่า อะไรสำคัญกว่ากัน


          วันที่ 7 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาไฟป่าที่ภาคเหนือผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Pita Limjaroenrat โดยระบุแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย "3 ท." ได้แก่ ทรัพยากร, ท้องถิ่น และเทคโนโลยี โดยมีใจความว่า วิกฤตไฟป่าครั้งนี้นอกจากจะพรากชีวิตผู้คนไปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ทั้งการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนเป็นจำนวนมากในขณะนี้ 

          ด้วยเหตุนี้ตนจึงอยากถามรัฐบาลว่า ระหว่าง เรือดำน้ำ เครื่องบินรบ กับเครื่องบินดับไฟป่า อะไรสำคัญกว่ากัน และควรจะลงทุนกับอะไรก่อนเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนอยู่ได้ คงจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักถึงปัญหาและเปลี่ยนแปลงมุมมองวิธีคิดในการแก้ไขให้ถึงรากฐานอย่างจริงจัง ตนจึงขอเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืนตนเสนอหลักการง่าย ๆ ที่เรียกว่า "3 ท." ประกอบด้วย

          1. ท. ท้องถิ่น : แนวคิดในการจัดการและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ คือ ให้ผู้ที่ใกล้ชิดทรัพยากรที่สุด และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรมากที่สุด เป็นผู้ดูแลทรัพยากรให้มากที่สุด รัฐราชการที่รวมศูนย์ต้องถอยไปเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือในสิ่งที่ท้องถิ่นไม่สามารถทำได้เท่านั้น โดยต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนเป็นหลัก

          2. ท. ทรัพยากร : กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น ต้องมาพร้อมกับการกระจายทรัพยากร ซึ่งปัจจุบันอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการดูแลป่าทั้งหมด ดังนั้นหน้าที่ของรัฐส่วนกลางในฐานะผู้สนับสนุนท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องให้อำนาจและงบประมาณอย่างจริงใจ เพื่อให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และปลดล็อกปัญหาทางกฎหมายบางอย่างเพื่อให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเข้าไปช่วยดูแลปัญหาดังกล่าวได้ รวมถึงการลงทุนเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการควบคุมไฟป่า และส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความรู้ และอุปกรณ์ในการช่วยกันดับไฟป่าได้

          3. ท. เทคโนโลยี :
รัฐส่วนกลางดูเหมือนจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการผลิต หรือจัดซื้อเทคโนโลยีระดับสูงในการดับไฟป่า ซึ่งความหลากหลายของเครื่องมือก็เพื่อการใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ในการแก้ปัญหา และที่สำคัญต้องมีการประสานงานกับทีมภาคพื้นดินให้ดีด้วย รัฐบาลต้องกล้ายอมรับว่าทรัพยากรกับเทคโนโลยีของเราอาจไม่เพียงที่จะจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่นี้ได้โดยลำพัง ควรประสานขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ ที่มีความเชี่ยวชาญ มีเทคโนโลยีการจัดการไฟป่า นี่ไม่ใช่เรื่องต้องกลัวเสียหน้าแต่เป็นเรื่องมนุษยธรรมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับนานาชาติท่ามกลางวิกฤต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิธา เสนอ 3 ท. แก้ปัญหาไฟป่า ถามรัฐ เรือดำน้ำกับเครื่องบินดับไฟ อะไรสำคัญกว่ากัน อัปเดตล่าสุด 7 เมษายน 2563 เวลา 18:04:02 12,029 อ่าน
TOP