แอลกอฮอล์ล้างมือแบบไหนดี ? จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นคำถามคาใจ ไม่ว่าจะเป็นเจลหรือสเปรย์ เลือกอย่างไรให้ใช่ โควิดพ่าย ร่างกายปลอดภัย
จากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ "เจลแอลกอฮอล์" และ "สเปรย์แอลกอฮอล์" กลายเป็นไอเทมจำเป็นสำหรับทุกคน ส่งผลให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาด เพราะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ประชาชนรวมถึงหน่วยงานมากมาย ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันบริจาค อาทิ กลุ่ม ปตท. เร่งจัดหาแอลกอฮอล์เพื่อมอบให้แก่หน่วยงานทางการแพทย์และโรงพยาบาลกว่า 170 แห่ง ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้กระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงผ่านการแจกฟรีในรูปแบบแอลกอฮอล์เจล และจัดหาแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมาจำหน่ายในราคาต้นทุน ผ่านบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ณ สถานีบริการน้ำมัน
อย่างไรก็ดี เพื่อความกระจ่างในการใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคที่ถูกต้อง เราได้รวบรวมข้อสงสัย เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ทำความสะอาด มาอธิบายให้เข้าใจตรงกัน
อย่างไรก็ดี เพื่อความกระจ่างในการใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคที่ถูกต้อง เราได้รวบรวมข้อสงสัย เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ทำความสะอาด มาอธิบายให้เข้าใจตรงกัน
1. แอลกอฮอล์ล้างมือมาจากไหน
แอลกอฮอล์ที่นำมาใช้ผลิตเจลล้างมือหรือสเปรย์แอลกอฮอล์สำหรับใช้กับผิวหนัง คือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) หรือเอทานอล (Ethanol) อยู่ในกลุ่มฟาร์มาเกรด (Pharma Grade) หรือฟู้ดเกรด (Food Grade) นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง เป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สามารถใช้กับผิวหนังมนุษย์ได้
2. แอลกอฮอล์ในเจลล้างมือกับในน้ำมันเชื้อเพลิง
คือชนิดเดียวกันหรือไม่
คือชนิดเดียวกันหรือไม่
ทำไมบริษัทน้ำมันถึงไม่ส่งเอทานอลที่ใช้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง
มาทำเป็นแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ของขาดตลาดกันล่ะ ?
ทำไมแอลกอฮอล์ทำความสะอาดของบริษัทน้ำมันถึงขายในราคาถูกไม่ได้ ?
ต้องอธิบายก่อนว่า “เอทานอลที่ใช้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง” กับ “เอทานอลที่ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ในเจลและสเปรย์ล้างมือ” เป็นคนละเกรดและคนละสูตรกันเลย ดังนี้
สำหรับผลิตเชื้อเพลิง
- เป็น “เอทานอลแปลงสภาพ” มีความเข้มข้น 99.5%
- ผ่านการผสมสารเคมีที่มีพิษต่อร่างกาย เช่น น้ำมันเบนซิน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง
- ไม่สามารถนำไปใช้ฆ่าเชื้อโรค หรือทำความสะอาดร่างกายได้
- ในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น แก๊สโซฮอล์ E85 ที่มีส่วนผสมของเอทานอลนั้น มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหนุนราคาอยู่ ทำให้ราคาน้ำมันชนิดนี้ถูก
สำหรับผลิตแอลกอฮอล์ในเจลและสเปรย์ล้างมือ
- เป็น “เอทานอล” ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง
- ต้องผ่านกระบวนการกลั่นเพื่อแยกสารเจือปนออก ให้ได้แอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย
- เจือจางด้วยน้ำ ให้ได้ความเข้มข้น 70-90% เพื่อไม่ให้ระคายเคืองผิว
- ต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน
- ไม่มีกองทุนมาหนุนราคาให้ และยังมีต้นทุนของสารประกอบเพิ่มเติมอย่างสารถนอมผิวและสารปรับปรุงคุณภาพ
และแม้ในปัจจุบัน ทางภาครัฐจะอนุญาตให้โรงงานผลิตแอลกอฮอล์ ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้ผลิตและส่งเอทานอลไปผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น สามารถนำแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากพืชเกษตร เช่น กากน้ำตาล มันสำปะหลัง มาผลิตเป็นแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ ที่มีประสิทธิภาพมากพอจะฆ่าเชื้อโรค เช่น โควิด 19 ได้ แต่ทั้งนี้แอลกอฮอล์ดังกล่าว ก็ต้องผ่านกระบวนการอัปเกรดเป็นแอลกอฮอล์ที่ได้ค่าความบริสุทธิ์ (Impurity) สูงขึ้น ซึ่งก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงไม่สามารถนำราคาแอลกอฮอล์ของทั้งสองชนิดนี้มาเทียบกัน หากจะเปรียบเทียบราคา ก็ควรเปรียบเทียบในกลุ่มผลิตภัณฑ์แบบเดียวกัน
3. แอลกอฮอล์ล้างมือ ฆ่าเชื้อโรคได้อย่างไร
สารฆ่าเชื้อโรคสำคัญในเจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ก็คือ “เอทานอล” ซึ่งแอลกอฮอล์ทำความสะอาดที่ได้มาตรฐาน สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 70% ขึ้นไป เพราะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับฆ่าเชื้อโรค เนื่องจากไม่ระเหยเร็วเกินไป และมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จุลินทรีย์จะดูดซึมและออกฤทธิ์ทำลายเซลล์เชื้อโรคได้ หรืออาจผสมสารฆ่าเชื้ออื่น ๆ เช่น ไตรโคลซาน หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ลงไปด้วย แต่หากไม่มีส่วนผสมของสารฆ่าเชื้ออื่น ๆ แค่เช็กให้ดีว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกัน
4. เลือกใช้แอลกอฮอล์ล้างมือยังไง
ให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด
ให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด
การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ให้สะอาด ฆ่าเชื้อโรคได้มากที่สุด ควรพิจารณา ดังนี้
- เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากระบุชื่อและส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และวันเดือนปีที่ผลิตชัดเจน
- เช็กส่วนผสมให้ดีว่ามีแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% ขึ้นไป
- เลือกที่มีส่วนผสมของสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว เช่น กลีเซอรีน ว่านหางจระเข้ หรือทีทรีออยล์ เพื่อป้องกันผิวแห้งกร้านจากการใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือ
- ตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง
5. ฆ่าเชื้อโรคให้ตาย ต้องใช้ให้ถูกวิธี
นอกจากการเลือกแอลกอฮอล์ล้างมือที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังต้องล้างมือให้ถูกวิธีด้วย ถึงจะฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีล้างมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์
- กดเจลแอลกอฮอล์ประมาณ 10 มิลลิลิตร หรือขนาดเท่าเหรียญ 5 บาท
- ถูให้ทั่วทั้งมือนานประมาณ 25 วินาที
- จากนั้นปล่อยให้เจลแห้งเองโดยไม่ต้องเช็ดมือหรือล้างน้ำออก
- หากใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือก็ควรฉีดพ่นให้ทั่วมือ และถูมือจนกว่าแอลกอฮอล์จะระเหยไปหมด
6. ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้แอลกอฮอล์ล้างมือที่ต้องรู้
การใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์อย่างปลอดภัย มีข้อควรระวัง ดังนี้
- ไม่ควรใช้กับเด็กทารกและบริเวณผิวที่บอบบาง เช่น รอบดวงตา
- ไม่ควรใช้ในบริเวณที่มีการอักเสบ เช่น เป็นสิว มีบาดแผล เพราะอาจเกิดการระคายเคืองได้
- พยายามหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และประกายไฟทุกชนิด โดยเฉพาะหลังถูมือเสร็จใหม่ ๆ แอลกอฮอล์ยังไม่แห้งดี เพราะอาจทำให้ติดไฟได้
- หลีกเลี่ยงแหล่งเกิดความร้อนทุกชนิด เช่น ห้ามเป่ามือที่ยังมีแอลกอฮอล์บนผิวกับเครื่องเป่าแห้งในห้องน้ำเด็ดขาด เพราะอาจเกิดประกายไฟ
- หลีกเลี่ยงการเก็บเจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ไว้ในรถ เพราะความร้อนจากแสงแดดและอุณหภูมิที่สูงในรถอาจทำให้แอลกอฮอล์ระเหย ลดประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคได้
หลังจากนี้ หากจะเลือกใช้เจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง ก็อย่าลืมใส่ใจกันสักนิด เลือกชนิดแอลกอฮอล์ให้ถูกต้อง ท่องจำวิธีใช้แอลกอฮอล์ล้างมือให้ขึ้นใจ จะได้ฆ่าเชื้อโรคร้าย ไม่ให้ก่ออันตรายต่อร่างกายเรา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
RAMA CHANNEL, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช., กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant, องค์การสุรา กรมสรรพสามิต, เฟซบุ๊กเชื้อเพลง 1-01
RAMA CHANNEL, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช., กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant, องค์การสุรา กรมสรรพสามิต, เฟซบุ๊กเชื้อเพลง 1-01