x close

กรมทางหลวง สั่งแก้แล้ว - แจงปมดราม่า ศาลาริมทาง 518 ล้าน ทำไมถึงสร้างแบบนี้


          อธิบดีกรมทางหลวง แจงปมดราม่า ศาลาริมทาง 518 ล้าน ชี้ปรับปรุงถนนใหม่ ไม่เหลือที่ว่างสร้างศาลา จึงกลายเป็นเหมือนป้ายรถเมล์ สั่งให้แก้ไขแล้ว

ศาลาริมทาง 518 ล้าน

          จากกรณีข่าวร้อนที่ตกเป็นที่วิจารณ์ไปทั่วประเทศ กรณีที่ชาวบ้านใน จ.ศรีสะเกษ ร้องเรียนเรื่องการสร้าง ศาลาริมทาง ที่มีขนาดเล็กกว่าเดิมที่เป็นอาคาร ไม่สามารถใช้กันแดดกันฝนได้ เพราะรูปร่างหน้าตาเหมือนกับ ป้ายรถเมล์ โดยสังคมได้วิจารณ์อย่างหนัก เพราะศาลาริมทางนี้ ใช้งบประมาณมากถึง 518 ล้านบาท !

          (อ่านข่าว - ชาวบ้านศรีสะเกษวิจารณ์หนัก ศาลาริมทาง งบ 518 ล้าน แต่ใช้หลบแดด-ฝนไม่ได้)

ศาลาริมทาง 518 ล้าน

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 14 มิถุนายน 2563 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวง รายงานว่า นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า หลังมีการเผยแพร่ข่าวจากสื่อมวลชน ที่อ้างถึงข้อมูลที่มีการแชร์จากผู้ใช้ Social Media เป็นภาพงานก่อสร้างศาลาริมทาง จุดจอดรถโดยสาร (Bus Stop) ทางหลวงหมายเลข 220 ตอน ศรีสะเกษ - อ.วังหิน นั้น

          จากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ทราบว่า ศาลาริมทางดังกล่าวอยู่ในโครงการก่อสร้างขยายทางเป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 220 จริง โดยงานก่อสร้างเริ่มต้นสัญญาตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 งานแล้วเสร็จในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 (เสร็จก่อนสัญญา) และได้ส่งมอบพื้นที่ให้แขวงทางหลวงศรีสะเกษที่ 1 ดูแลรักษาต่อไป

ศาลาริมทาง 518 ล้าน

          ส่วนสาเหตุที่มีการก่อสร้างศาลาริมทางในลักษณะดังกล่าว มีการชี้แจงว่า ถนนสายดังกล่าวแบ่งรูปแบบการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่มีเขตทาง 30 เมตร และ 40 เมตร โดยช่วงเขตทาง 30 เมตร เมื่อก่อสร้างเป็นทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยกกว้าง 3 เมตร แล้ว จะเหลือพื้นที่จากไหล่ทางจนถึงเขตทางหลวงเพียง 4 เมตร

          พื้นที่เพียง 4 เมตร ไม่สามารถก่อสร้างช่องจอดรถ และศาลาทางหลวงแบบเดิมที่มีความกว้างประมาณ 6.25 เมตร ได้ จึงจำเป็นต้องก่อสร้างที่พักผู้โดยสารเป็นรูปแบบตามที่ปรากฏอยู่ โดยมีความกว้างประมาณ 2.50 เมตร เท่านั้น เพื่อให้ไม่เลยออกนอกเขตทาง

          ส่วนช่วงเขตทาง 40 เมตร เมื่อขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยกกว้าง 4.2 เมตร พร้อมช่องจอดรถโดยสาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการจอดรับผู้โดยสารแล้ว จะเหลือพื้นที่ก่อสร้างที่พักผู้โดยสารกว้างประมาณ 4.4 เมตร ซึ่งก็ไม่สามารถก่อสร้างศาลาทางหลวงแบบเดิมที่มีความกว้างประมาณ 6.25 เมตร ได้เช่นกัน

          นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้แก้ไขปรับปรุงแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยให้มีการทำกันสาดเพิ่มเติมทั้งด้านหน้า ด้านหลัง เพื่อกันแดดกันฝน รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้ดูร่มรื่นขึ้น

          ส่วนประเด็นที่มีการแชร์ภาพศาลา จุดรอรถโดยสารของหมู่บ้าน ที่มีการก่อสร้างใหม่นั้น จุดดังกล่าวเดิมมีศาลาที่ใช้งานมานานกว่า 10 ปี แต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ศาลาหลังเดิมของชาวบ้านโดนลมพายุพัดพังลงมา ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างศาลาขึ้นมาใหม่แทนหลังเดิมที่พังลง

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมทางหลวง 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมทางหลวง สั่งแก้แล้ว - แจงปมดราม่า ศาลาริมทาง 518 ล้าน ทำไมถึงสร้างแบบนี้ อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2563 เวลา 11:58:27 34,859 อ่าน
TOP