x close

แบบนี้ก็มีด้วย ! ไอเดียจัดการขยะของเมืองนอกสุดเจ๋ง

           น้องพลาสติกพาทัวร์ ! ชวนไปดูไอเดียคัดแยกขยะสุดสร้างสรรค์จากหลากหลายประเทศทั่วโลก ที่นอกจากจะเห็นผลชัดเจนแล้ว ยังช่วยทำให้บ้านเมืองสะอาด น่าอยู่ และสามารถนำไปเป็นแบบอย่างในการจัดการง่าย ๆ ได้อีกด้วย

          ในขณะที่ประเทศไทยกำลังตื่นตัวกับการ “คัดแยกขยะ” เพื่อลดปริมาณและเพิ่มประโยชน์ในการใช้งานให้ได้มากที่สุด ตามหลัก 3R : Reduce Reuse และ Recycle อยู่นั้น พี่ ๆ รู้ไหมว่า ในต่างประเทศก็มีวิธีจัดการขยะที่น่าสนใจไม่แพ้กัน วันนี้ “น้องพลาสติกพาทัวร์” ขออาสาพาไปดูไอเดียคัดแยกขยะสุดสร้างสรรค์ ที่มีทั้งแปลกแหวกแนว เด็ดขาดได้ใจ ไปจนถึงน่ารัก ๆ อย่างแยกถุงขยะออกเป็น 7 สี งานนี้บอกเลยว่าเห็นผลจนต้องยกนิ้วให้ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูพร้อม ๆ กันเลย
การแยกขยะของต่างประเทศ

1. ท่อลำเลียงขยะอัตโนมัติ - สวีเดน

          ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ได้นำระบบจัดเก็บขยะอัจฉริยะ (Smart Waste Collection) มาใช้แทนรถเก็บขยะ โดยให้ประชาชนคัดแยกขยะในบ้านออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ ขยะมูลฝอย ขยะกระดาษ และขยะบรรจุภัณฑ์ แล้วนำมาทิ้งไว้ที่ปล่องที่เชื่อมต่อกับท่อใต้ดินตามชนิดของขยะ ซึ่งภายในท่อมีระบบดูดอากาศช่วยลำเลียงขยะไปยังสถานีคัดแยกปลายทาง ถือเป็นไอเดียที่ทำให้ทั้งเมืองสะอาด ปราศจากกลิ่นเหม็น ที่สำคัญทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะตั้งห่างจากชุมชนไม่มาก แถมทั้งเมืองมีรองรับถึง 356 ปล่องเลยทีเดียว
การแยกขยะของต่างประเทศ

ภาพจาก Martien van Gaalen / Shutterstock.com

2. ถุงแยกขยะสีรุ้ง - สวีเดน

          สำหรับเมืองเอสกิลสตูนา ใกล้กับกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก็มีการจัดการขยะที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยจัดระเบียบการทิ้งขยะด้วยการใช้ถุง 7 สี เพื่อแยกขยะทั้ง 7 ชนิด คือ

  • สีน้ำตาล = ขยะโลหะ
  • สีเหลือง = ขยะสิ่งทอ
  • สีเขียว = ขยะเศษอาหาร
  • สีฟ้า = ขยะหนังสือพิมพ์
  • สีส้ม = ขยะบรรจุภัณฑ์
  • สีแดง = ขยะรีไซเคิลไม่ได้
  • สีขาว = ขยะจากทิชชู หรือผ้าอ้อมใช้แล้ว

          เมื่อเก็บรวบรวมส่งให้กับโรงงานขยะ เครื่องสแกนจะคัดแยกตามสีถุงเพื่อนำไปจัดการต่อได้อย่างถูกต้อง และส่งต่อไปรีไซเคิลได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เมืองเอสกิลสตูนาสามารถรีไซเคิลขยะได้มากถึง 50% ภายในปี 2020 ตามเป้าหมายของสหภาพยุโรป และเหลือขยะที่ต้องนำไปฝังกลบน้อยมากจนเกือบจะเป็น 0%

การแยกขยะของต่างประเทศ

3. ตู้คืนขวดเปลี่ยนเป็นเงิน - เยอรมนี

          ในประเทศเยอรมนีสร้างมูลค่าให้กับขวดน้ำหรือกระป๋องตั้งแต่แรกซื้อ ด้วยการเก็บเงินมัดจำค่าขวดไปพร้อมกับราคาสินค้าแล้ว โดยใส่เครื่องหมาย “DPG” กำกับไว้ เพื่อกระตุ้นให้คนนำขวดไปคืนที่ตู้ตามห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อแลกกับเงินมัดจำคืนมานั่นเอง
การแยกขยะของต่างประเทศ

ภาพจาก Namitha Hebbar / Shutterstock.com

4. ทิ้งขยะตามวัน-เวลาที่กำหนด - ญี่ปุ่น

           ประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้คนนำขยะมาทิ้งหน้าบ้านได้ตามวัน เวลา และชนิดที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งแต่ละเขตจะไม่เหมือนกัน โดยถุงขยะที่รอการเก็บจะบังคับให้ใช้เป็นถุงกึ่งใส แยกสี และปิดปากถุงให้สนิท ที่สำคัญต้องนำออกมาวางไว้ก่อนเวลาที่รถขยะจะมาเก็บ ไม่เช่นนั้นต้องรอรอบใหม่ หากใครทำไม่ถูกต้องขยะจะถูกวางไว้ที่เดิม พร้อมติดสติ๊กเกอร์แจ้งเตือน ถือเป็นเรื่องน่าอายมาก และบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นมีบทลงโทษ ทำให้คนญี่ปุ่นมีวินัยในการแยกขยะสูง รวมถึงไม่ค่อยมีถังขยะอยู่หน้าบ้าน ลดปัญหาความสกปรก และกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ให้กับเมืองได้ด้วย

5. แยกขยะแบบเผาได้กับไม่ได้ - ญี่ปุ่น

          นอกจากประเทศญี่ปุ่นจะต้องทิ้งขยะตามวันและเวลาที่กำหนดแล้ว ยังจัดการขยะด้วยการเผาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงแบ่งประเภทของขยะออกเป็นแบบเผาได้กับเผาไม่ได้ด้วย โดยขยะที่เผาได้จะเป็นขยะทั่วไป เช่น เศษอาหาร กระดาษ ผ้า ยาง หนัง ถุงและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ ส่วนใหญ่จะเก็บอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ส่วนขยะเผาไม่ได้เป็นขยะที่พบไม่บ่อย เช่น เครื่องครัว เซรามิก แก้ว เหล็ก ของมีคม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะเก็บเดือนละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ รายละเอียดและกำหนดการจะแตกต่างกันไปตามแต่ละเมืองเช่นเดียวกัน
การแยกขยะของต่างประเทศ

ภาพจาก Handatko / Shutterstock.com

6. ไม่แยกขยะต้องจ่ายค่าปรับ - เนเธอร์แลนด์

         ประเทศเนเธอร์แลนด์กระตุ้นให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการจัดการขยะ ด้วยการให้จ่ายค่ากำจัดขยะเองโดยรวมไปกับค่าสาธารณูปโภค และยังเรียกเก็บค่าปรับกับบ้านที่ไม่ยอมคัดแยกขยะด้วย ช่วยให้ผู้คนในเมืองมีวินัยเพิ่มขึ้น รวมถึงอำนวยความสะดวกในการนำขยะไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่ายขึ้นด้วย

7. เก็บภาษีถุงพลาสติก - ไอร์แลนด์

          เมื่อปี พ.ศ. 2545 ประเทศไอร์แลนด์ได้เริ่มนำแนวคิดการเก็บภาษีถุงพลาสติกมาใช้เป็นที่แรก ก่อนจะเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยราคาถุงพลาสติกในช่วงนั้นสูงถึง 9 เพนนี/ใบ (ประมาณ 5-6 บาท) เลยทีเดียว งานนี้ชาวไอร์แลนด์ก็เลยตระหนัก งดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง หันมาใช้ถุงผ้า หรือถุงใช้ซ้ำได้ จนช่วยลดปริมาณขยะและกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
 

          นอกจากนี้ประเทศอื่น ๆ อย่าง ไอซ์แลนด์, ไต้หวัน, แอฟริกาใต้, นิวซีแลนด์, แคนาดา, สเปน, เดนมาร์ก และเบลเยียม ก็ได้เก็บภาษีถุงพลาสติกเช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนของประเทศเบลเยียมนั้น มีการนำรายได้ส่วนนี้ไปเป็นต้นทุนในการจัดเก็บและรีไซเคิลถุงพลาสติกต่อไปด้วย

การแยกขยะของต่างประเทศ

8. กฎหมายแบนถุงพลาสติก ฝ่าฝืนปรับ 2,000 เหรียญสหรัฐ - บังกลาเทศ

          ประเทศบังกลาเทศเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2534 และปี พ.ศ. 2544 เพราะถุงพลาสติกอุดตันทำให้ท่อระบายน้ำไม่ทัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 เลยออกกฎหมายแบนการผลิต จำหน่าย และแจกจ่ายถุงพลาสติกที่ทำจากโพลีเอทิลีนซะเลย ใครที่ฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับสูงถึง 2,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 63,000 บาท และเป็นประเทศแรกที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง จนลดปริมาณขยะลงได้ทันตา ทั้งยังช่วยส่งเสริมการใช้ถุงที่ทำจากปอกระเจา ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นและย่อยสลายได้แทนอีกด้วย

9. ถุงขยะมีค่าใช้จ่าย - ไต้หวัน

          หากประชาชนชาวไต้หวันจะทิ้งขยะทั่วไปที่รีไซเคิลไม่ได้ ต้องใส่ในถุงขยะที่มีสัญลักษณ์ของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป โดยจะมีค่าใช้จ่ายอยู่จำนวนหนึ่ง คือถ้าหากใครทิ้งขยะเยอะจนต้องใช้ถุงใหญ่ ก็จะทำให้เสียเงินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะสูญเปล่า เพราะเงินที่จ่ายไปจะนำไปใช้เป็นค่าจัดการขยะในภายหลัง
ตัวอย่างไอเดียการจัดการขยะของไทย
           ย้อนกลับมาที่บ้านเรากันบ้าง ซึ่งก็มีหลายโครงการที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจกันของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อหาวิธีจัดการขยะได้อย่างน่าสนใจ อาทิ
 

          “ชุมชนไร้ถัง” จากชุมชนเทศบาลตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน ที่ยกเลิกถังขยะทั้งหมด รวมถึงค่าเก็บขยะ เพื่อให้คนในชุมชนได้คัดแยกและนำขยะไปใช้ประโยชน์ก่อนทิ้ง เช่น นำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก นำขยะรีไซเคิลไปขาย ส่วนขยะอื่น ๆ ให้ทิ้งในถุงที่เทศบาลจำหน่ายให้เท่านั้น และต้องเสียเงินค่าถุงเอง จนทำให้ชุมชนแห่งนี้สะอาด ไร้ถังขยะ ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า ช่วยลดขยะกันทุกครัวเรือน และสามารถลดการเก็บขยะเหลือเพียงเดือนละ 2 ครั้งเท่านั้น
 

         "เครื่องต้นแบบรับแก้วพลาสติก PET Café Amazon (แก้วแลกยิ้ม)" เป็นนวัตกรรมต้นแบบโครงการนำร่องสำหรับพนักงานในองค์กร ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยคัดแยกและจัดเก็บแก้วพลาสติก PET ของทางร้านที่มี QR Code ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิด Circular Economy เพื่อนำไปแปรรูปและนำกลับมาใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า (Premium Product) และยังสามารถแลกของที่ระลึกผ่านการกดเบอร์โทรศัพท์เมื่อสะสมคะแนนครบตามกำหนด ซึ่งวิธีนี้หากนำไปใช้ในวงกว้าง จะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากแก้วพลาสติกที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ และยังทำให้ผู้บริโภคได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในตัวอีกด้วย

การแยกขยะของต่างประเทศ

การแยกขยะของต่างประเทศ

ภาพจาก คณะทำงานพัฒนาการนำขยะพลาสติกจากร้าน Café Amazon ไปใช้ประโยชน์ในโครงการนำร่อง
(ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน))
 

          "ร้าน 0 บาท" ภายในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ กรุงเทพฯ ชุมชนที่เคยประสบปัญหาปริมาณขยะจำนวนมาก ต่อมาได้เปิดเป็นศูนย์กลางรับซื้อขยะ โดยให้ประชาชนนำขยะรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำ กระดาษ ลัง มาตีมูลค่าแลกเป็นเงินเพื่อซื้อของภายในร้านซึ่งเป็นของกินของใช้ทั่วไปได้ ช่วยแก้ปัญหาปริมาณขยะ และยังช่วยปลูกฝังจิตสำนึกในการแยกขยะได้ดีทีเดียว
การแยกขยะของต่างประเทศ

ภาพจาก เฟซบุ๊ก 0bahtshop
 

          และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการคัดแยกขยะและพลาสติกอย่างฉัน ให้อยู่ถูกที่ถูกทางอย่างเหมาะสม ซึ่งแม้จะมีวิธีแตกต่างกันออกไป แต่ล้วนแฝงไปด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกให้พี่ ๆ ได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญ และมีจุดประสงค์เดียวกันคือ การร่วมมือร่วมใจลดปริมาณขยะและใช้ประโยชน์จากฉันให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้บ้านเมืองสะอาดและน่าอยู่ขึ้นนั่นเอง
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แบบนี้ก็มีด้วย ! ไอเดียจัดการขยะของเมืองนอกสุดเจ๋ง อัปเดตล่าสุด 24 มิถุนายน 2563 เวลา 16:50:04 22,712 อ่าน
TOP