รู้จัก #สมรสเท่าเทียม หนุนสิทธิคู่รักเพศเดียวกัน ทำไมโลกออนไลน์ร่วมหนุนจนติดเทรนด์

            โลกออนไลน์ติดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม หนุนกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน เปิดโอกาสคู่รัก LGBT ได้รับสิทธิในการดูแลคู่ชีวิตมากขึ้น

สมรสเท่าเทียม
ภาพจาก Daniel Jedzura / shutterstock.com

            จากกรณีที่โลกออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ติดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ให้ความรู้เกี่ยวกับการผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ถูกเสนอโดย คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ว่าด้วยการให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น

สมรสเท่าเทียม แก้ไขอะไรบ้าง


            รายละเอียดเกี่ยวกับ สมรสเท่าเทียม ประกอบด้วย

            - การแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับการสมรส จากเดิมที่ระบุ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา เป็น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส
            - ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เป็น ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส รวมถึงการแบ่งมรดกของผู้ตายที่มีคู่สมรส โดยได้ขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า สามีและภรรยา เป็น คู่สมรส

            การหมั้น

            - ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ทำการหมั้นกันได้
            - เสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น แทนคำว่า ชาย และ หญิง
            - แบบของการหมั้นให้ผู้หมั้นส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น ในส่วนของเรื่องสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่หมั้นยังคงตามหลักการเดิม เพียงแต่ปรับถ้อยคำเป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น

            การสมรส

            - ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 18 บริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
            - สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า ชาย หรือ หญิง เป็น บุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล เช่น

            - บุคคลซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา จะทำการสมรสกันมิได้
            - บุคคลจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้
            - การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองยินยอมเป็นคู่สมรส
            - คู่สมรสต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรสและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามความสามารถและฐานะของตน
            - การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของคู่สมรส สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
            - การหย่า เหตุหย่า การฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส สิทธิได้รับค่าทดแทน การแบ่งสินสมรส
            - การเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
            - การรับบุตรบุญธรรม
            - การรับมรดก กรณีผู้ตายมีคู่สมรส ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยให้นำเรื่องส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสที่ร้างกันหรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่ากันตามกฎหมาย ยังคงมีสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกันและกัน

สมรสเท่าเทียม
ภาพจาก Syda Productions / Shutterstock.com

การสมรสเท่าเทียม จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดบ้าง

            โดยสรุปเกี่ยวกับ สมรสเท่าเทียม จะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกัน สามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถได้รับสิทธิในการสมรส ยกตัวอย่างเช่น

            - สิทธิในการใช้นามสกุล
            - สิทธิในการเซ็นยินยอมในการรักษาพยาบาล เช่น การผ่าตัด ให้ยา หรือหยุดรักษาในกรณีเร่งด่วน
            - สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
            - สิทธิในการกู้เงินซื้อบ้านและทำประกันชีวิตร่วมกันในฐานะคู่สมรส
            - สิทธิทางมรดก คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกก่อนทายาทลำดับอื่น
            - สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม
            - สิทธิในการจัดการศพ เช่น การรับศพออกจากโรงพยาบาล การรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ การขอออกใบมรณบัตร
            - สิทธิในการใช้สถานะสมรสเพื่อลดหย่อนภาษี
            - สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
            - สิทธิเข้าเยี่ยมในเรือนจำกรณีที่นักโทษป่วย ในฐานะคู่สมรส
            - สิทธิในการขอวีซ่าเดินทาง กรณีบางประเทศต้องตรวจสอบยอดเงินในบัญชี คู่สมรสสามารถยื่นบัญชีของอีกฝ่ายเป็นหลักฐานได้ เป็นต้น

อยากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำอย่างไร

            สำหรับ ร่างการแก้ไขกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับประเด็นดังต่อไปนี้

            - ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น "เพศเดียวกัน" และ "ต่างเพศ" สามารถทำการหมั้นกันได้หรือไม่
            - ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น "เพศเดียวกัน" หรือ "ต่างเพศ" สามารถสมรสกันได้ ตามกฎหมายหรือไม่
            - ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะทำการสมรสกันได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือไม่
            - ควรแก้ไขให้คู่สมรสทั้งที่เป็นเพศเดียวกันและต่างเพศ มีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกัน เหมือนสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา หรือไม่

            ผู้ที่สนใจแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการ สมรสเท่าเทียม สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ ที่นี่

สมรสเท่าเทียม
ภาพจาก cunaplus / Shutterstock.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก #สมรสเท่าเทียม หนุนสิทธิคู่รักเพศเดียวกัน ทำไมโลกออนไลน์ร่วมหนุนจนติดเทรนด์ อัปเดตล่าสุด 7 กรกฎาคม 2563 เวลา 15:46:19 9,367 อ่าน
TOP
x close