เปิดชัด ๆ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เท่าเทียมคู่สมรส จริงหรือไม่ หลังมติ ครม. ให้ผ่านร่าง แต่ยังโดนต้าน !

        เปิดข้อมูลเทียบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ พ.ร.บ.คู่สมรส ไม่เท่าเทียมกันอย่างไร หลัง ครม. มีมติให้ผ่านร่าง แต่กลับโดนต้าน ชี้ยังเป็นการแบ่งแยกชนชั้น ยังให้สิทธิที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่

พ.ร.บ.คู่ชีวิต

         จากกรณีโลกออนไลน์ผุดแฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต แม้ ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อคุ้มครองกลุ่มหลากหลายทางเพศ ให้สามารถแต่งงานและจดทะเบียนสมรสได้ โดยมองว่าแท้ที่จริงแล้วยังไม่ได้รับความเท่าเทียมแต่อย่างใด ยังคงเป็นการแบ่งแยกชาย-หญิง กับกลุ่มความหลากหลายทางเพศอยู่นั้น


อ่านข่าว : ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ.คู่ชีวิต รักร่วมเพศจดทะเบียนสมรสได้ เผยสาระสำคัญ 9 ข้อ ดูเลย

         วันนี้ (9 กรกฎาคม 2563) ข่าวช่องวัน รายงานว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต สังคมส่วนใหญ่มองว่ายังไม่ได้ให้สิทธิความเท่าเทียมทางเพศเท่ากับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรส และยังเป็นการแบ่งแยกอยู่ เทียบชัด ๆ คือ คู่สมรส ใช้สำหรับคู่รักชาย-หญิง แต่ คู่ชีวิต เป็นคำที่เพิ่มขึ้นมา ใช้สำหรับ คู่ชีวิต กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT

         ปัญหาที่ตามมา การเข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของคู่ชีวิต ที่ยังไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น คู่สมรสชาย-หญิง หากฝ่ายชายรับราชการ ตัวภรรยาที่เป็นแม่บ้าน สามารถใช้สิทธิราชการในการรักษาพยาบาลได้ แต่หากเป็นคู่ชีวิต ชาย-ชาย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับราชการ คู่ชีวิตไม่สามารถใช้สิทธิราชการในการรักษาพยาบาลได้

         ทั้งนี้ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นคนละฉบับกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 (สมรสเท่าเทียม) เพื่อการสมรสเท่าเทียมที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ คือ การที่เราแก้ไขสมรสเท่าเทียม คำว่าคู่สมรสนั้นถูกบัญญัติอยู่แล้วในกฎหมายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการของราชการ สวัสดิการเอกชน ที่จะให้สิทธิกับคำว่าคู่สมรส และการสมรสเท่าเทียมจะปกป้องและดูแลคู่สมรสให้ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เป็นการยืนอยู่อย่างเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายของประเทศ

         แต่คำว่า คู่ชีวิต ไม่ได้ถูกบัญญัติมีอยู่ในกฎหมายอื่น ๆ เป็นคำใหม่ จึงทำให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่สามารถทำให้คู่ชีวิตได้รับการปกป้องดูแลและรับสิทธิเหมือนคู่สมรสได้

         จากการตรวจสอบไปยังเพจเฟซบุ๊ก iLaw เคยมีการพูดถึงประเด็นดังกล่าว โดยเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับแนวทางแก้ไขกฎหมายสมรส ของทางพรรคก้าวไกล แสดงให้เห็นว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ได้ให้สิทธิเพศเดียวกันสามารถหมั้นกันอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงไม่ให้สิทธิเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์คู่ชีวิต เหมือนกันกับคู่สมรส 

พ.ร.บ.คู่ชีวิต

         ตารางเปรียบเทียบระหว่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับแนวทางแก้ไขกฎหมายเพื่อการสมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล มีรายละเอียด ดังนี้...

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

         - เป็นการเพิ่มออกมาจาก คู่สมรส ที่เป็นชาย-หญิง
         - สามารถแต่งงานได้ เมื่ออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์
         - การหมั้น ไม่ได้
         - การดำเนินคดีแทนอีกฝ่าย ได้
         - จัดการทรัพย์สินส่วนตัว และสินสมรส ได้
         - รับบุตรบุญธรรม ได้
         - สิทธิการรับมรดก ได้
         - สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของคู่ชีวิต ไม่ได้

ร่าง สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล

         - สามารถแต่งงานได้ เมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์
         - การหมั้น ได้
         - การดำเนินคดีแทนอีกฝ่าย ได้
         - จัดการทรัพย์สินส่วนตัว และสินสมรส ได้
         - รับบุตรบุญธรรม ได้
         - สิทธิการรับมรดก ได้
         - สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของคู่ชีวิต ได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ให้สิทธิต่อคู่รักเพศเดียวกัน มีดังนี้

         -สิทธิในการรับสวัสดิการทั้งภาครัฐและเอกชน
         -สิทธิในการเซ็นอนุญาตหากคู่สมรสต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน
         -สิทธิในการจัดการศพคู่ชีวิต
         -สิทธิในการรับสวัสดิการ หากคู่สมรสเป็นข้าราชการ
         -สิทธิในการลดหย่อนภาษี
         -สิทธิในการรับบัตรบุญธรรมร่วมกัน
         -สิทธิในการอุ้มบุญ
         -สิทธิในกองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
         -สิทธของคู่ชีวิตชาวต่างชาติ หากขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย
         -สิทธิในการเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย



ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก iLaw, ข่าวช่องวัน, สำนักข่าว INN

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดชัด ๆ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เท่าเทียมคู่สมรส จริงหรือไม่ หลังมติ ครม. ให้ผ่านร่าง แต่ยังโดนต้าน ! อัปเดตล่าสุด 9 กรกฎาคม 2563 เวลา 18:30:19 10,841 อ่าน
TOP
x close