x close

MEA ต่อยอดความสำเร็จชุมชนคอยรุตตั๊กวา พัฒนารายได้-ลดรายจ่าย ด้วยพลังงานสะอาด

          การไฟฟ้านครหลวง (Metropolitan Electricity Authority) หรือเรียกสั้นๆ จำง่ายๆ ว่า MEA เดินหน้าสนับสนุนชุมชนคอยรุตตั๊กวาสู่ความพอเพียง ติดตามโครงการพัฒนาโซลาร์เซลล์ ผสานองค์ความรู้ท้องถิ่นทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้สู้โควิด 19 พร้อมต่อยอดความสำเร็จ จัดอบรมช่างไฟฟ้ามืออาชีพในชุมชนเพื่อความยั่งยืน  

          จากแนวคิดของ MEA ที่ต้องการส่งเสริมความเข้มแข็ง สร้างความยั่งยืน และยกระดับชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จำหน่ายของ MEA ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ ผสานกับองค์ความรู้สมัยใหม่ และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ในการ "ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้" โดยยึดการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ

          เมื่อปี 2559 ทาง MEA จึงได้ตรวจสอบและลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสม โดยเริ่มจาก "ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา" หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 5 แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร มีจํานวนครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 189 ครัวเรือน บนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ และเป็นชุมชนมุสลิมแห่งเดียวของกรุงเทพมหานคร ที่น้อมนำแนวปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้สำหรับการบริหารจัดการชุมชน

          การดำเนินงานเริ่มจากการสนับสนุนกิจกรรมภายในชุมชน ได้แก่ บำรุงรักษาและปรับปรุงระบบไฟฟ้าในชุมชน สนับสนุนการเสริมสร้างอาชีพการเพาะเลี้ยงปลา สนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โคมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่ชุมชน ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา MEA ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงาน พบว่า โครงการสนับสนุนกิจกรรมด้านพลังงานทดแทนโดยการให้ความรู้ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) แบบ On Grid ขนาด 5.4 kWp เพื่อใช้ในกิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ถูกใช้ประโยชน์เป็นศูนย์กลางกิจกรรมของชุมชน และยังเป็นจุดที่เปิดให้หน่วยงาน ชุมชนภายนอก และเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียน เข้ามาศึกษาดูงานในรูปแบบของการใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน ตามแนวคิดวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านฐานการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจและสามารถขยายผลให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนของตนเอง เช่น การนำผลไม้ที่ปลูกได้ในชุมชนมาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพ การปลูกผักสวนครัว การเพาะเห็ด และการแปรรูปอาหารเป็นแหนมเห็ดและเห็ดทอด เป็นต้น

          รวมถึงได้มีการติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 3 จุด ในบริเวณมัสยิด เพื่อเพิ่มแสงสว่าง และอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวมุสลิมในชุมชน ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และทดสอบการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจากการจัดเก็บข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า ชุมชนสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้เฉลี่ย 40% ต่อปี คิดเป็นจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ประหยัดได้เริ่มตั้งแต่ติดตั้ง ประมาณ 4,600 หน่วย เป็นเงินประมาณ 16,100 บาท เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนลงได้กว่า 2,300 กิโลกรัม นั่นเอง     

           นอกจากนี้ทางคณะกรรมการชุมชนและชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมสนับสนุนไว้ให้เป็นอย่างดี อาทิ การเพาะเลี้ยงปลาดุก จำนวน 8 บ่อ เนื่องจากชุมชนอยู่ติดกับคลองลำไทร สภาพแวดล้อมยังเป็นธรรมชาติ น้ำในคลองค่อนข้างสะอาด สามารถใช้ในการเพาะเลี้ยงปลาดุกเพื่อการบริโภคภายในชุมชน ตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียงได้ ทำให้มีผลผลิตเฉลี่ยบ่อละ 43 กิโลกรัมต่อรอบการจับ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ 11,920 บาทต่อปี และคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น 6,960 บาทต่อปี

          ทั้งนี้ นายสมใจ มณี ประธานชุมชนคอยรุตตั๊กวา เปิดเผยว่า "ในฐานะตัวแทนของชุมชนต้องขอขอบคุณ MEA ที่เข้ามาสนับสนุนชุมชนทั้งในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ทำให้สามารถช่วยประหยัดค่าไฟในกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนได้อย่างมาก และยังมีการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ ทำให้นอกจากจะสามารถลดรายจ่ายในเรื่องของอาหารแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อีกด้วย ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความรัก ความสุข และสามัคคีกันเป็นอย่างดี หลังจากที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชุมชน"

นายสมใจ มณี ประธานชุมชนคอยรุตตั๊กวา

          ด้าน พ.ท. อัมพร สะนิละ รองประธานชุมชนคอยรุตตั๊กวา ระบุว่า "ที่ผ่านมาชาวบ้านชุมชนคอยรุตตั๊กวา ก็มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความเข้าใจด้านองค์ความรู้สมัยใหม่ และขาดทุนทรัพย์ในการจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสม ซึ่งทาง MEA ก็ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ โดยการส่งเสริมความรู้ในเรื่องของไฟฟ้า และติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ให้ที่มัสยิด ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางกิจกรรมของชุมชน ทำให้สามารถประหยัดค่าไฟ และยังได้รับเงินคืนส่วนหนึ่งกลับมาเพื่อสะสมเอาไว้ใช้ในกิจกรรมของชุมชน ซึ่งถือว่าดีมาก และยังส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงปลา เพาะเห็ด เพื่อนำมาใช้ประกอบอาหารในครัวเรือน ซึ่งสามารถช่วยชาวบ้านได้อย่างมากในสภาวะเช่นนี้"

 พ.ท. อัมพร สะนิละ รองประธานชุมชนคอยรุตตั๊กวา

          ขณะที่ นางนวลจันทร์ รอดสการ หรือ ครูแดง เจ้าของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานสะอาดชุมชนคอยรุตตั๊กวา เล่าอย่างอารมณ์ดีพร้อมพาชมสวนของตนเอง ว่า "ตอนนี้มีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงกันมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตโควิด 19 ทาง MEA ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ จึงเข้ามาช่วยเหลือให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีความพร้อมมากขึ้น โดยมีการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของไฟฟ้าที่สามารถนำมาปรับใช้ได้เป็นอย่างดี ทั้งในส่วนของการเลี้ยงปลาในบ่อ และฟาร์มไก่อารมณ์ดี"

นางนวลจันทร์ รอดสการ (ครูแดง) ผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานสะอาดชุมชนคอยรุตตั๊กวา

           ครูแดง เล่าเพิ่มเติมพร้อมพาไปดูบ่อปลาดุกที่ได้รับการส่งเสริมจาก MEA ที่ขณะนี้ถูกแปรสภาพเป็นบ่อเลี้ยงกบ ว่า หลังจากได้รับบ่อซีเมนต์มาก็ได้มีการเลี้ยงปลาดุก ซึ่งถือว่าเป็นตัวช่วยในการลดรายจ่ายได้อย่างดีเลยทีเดียว แต่หลังจากนั้นบ่อก็เกิดปัญหาการรั่วซึมเพราะรากของต้นไม้ ทำให้บ่อสามารถเก็บน้ำได้เพียงประมาณ 30 เซนติเมตร เท่านั้น ทางเราจึงได้ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงกบแทน ซึ่งทุกวันนี้ก็สามารถสร้างรายได้เสริมได้อย่างน่าพอใจ โดยมีลูกค้ามารับถึงที่ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท โดยสามารถจับขายได้ทุก ๆ 3-4 เดือน

          ส่วนผัก ไข่ไก่ หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่ผลิตได้เองนั้น หากมีจำนวนมากกว่าที่คนในครอบครัวจะกินได้หมดแล้ว ตนก็จะนำไปวางขายหน้าบ้าน โดยไม่ได้กำหนดราคา ลูกค้าพอใจจ่ายเท่าไหร่ก็ใส่ตู้ หรือที่เรียกว่า "ร้านค้าแลกใจ" โดยถือว่าเป็นการแบ่งปันให้กับคนอื่น ๆ ที่อยู่ในชุมชน ซึ่งหากเขามาเขาก็จะแบ่งมาให้เช่นกัน

ร้านค้าแลกใจ บ้านครูแดง

          อย่างไรก็ตาม หลังลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านชุมชนคอยรุตตั๊กวาในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าการนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นจริง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ MEA ที่ต้องการสร้างชุมชนเข้มแข็งที่พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน จึงได้ต่อยอดกิจกรรม ด้วยการสนับสนุนให้คนในชุมชนที่มีความรู้ ความสนใจเรื่องไฟฟ้า เข้ารับการอบรมและทดสอบ กิจกรรมช่างไฟฟ้ามืออาชีพ เพื่อพัฒนาอาชีพช่างไฟฟ้าให้ได้มาตรฐาน และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด สามารถนำไปประกอบอาชีพ หรือนำความรู้กลับมาใช้ในการดูแลระบบไฟฟ้าภายในชุมชนได้ต่อไปนั่นเอง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
MEA ต่อยอดความสำเร็จชุมชนคอยรุตตั๊กวา พัฒนารายได้-ลดรายจ่าย ด้วยพลังงานสะอาด อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2563 เวลา 15:48:04 5,533 อ่าน
TOP