15 กันยายน วันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy)

          มาทำความรู้จัก “วันประชาธิปไตยสากล” อีกหนึ่งวันสำคัญของโลก ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 15 กันยายน เพื่อเฉลิมฉลองให้กับสังคมประชาธิปไตยที่เราอาศัยอยู่ในทุกวันนี้
วันประชาธิปไตยสากล

          โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยไปในตัว องค์กรสำคัญของโลกจึงได้มีการจัดตั้งวันประชาธิปไตยสากล หรือ International Day of Democracy ขึ้น ซึ่งถ้าหากใครสงสัยว่า วันประชาธิปไตยสากลคืออะไร มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร เป็นวันสำคัญแค่ไหน เข้าร่วมได้อย่างไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมมีข้อมูลคร่าว ๆ มาฝากกัน

ที่มาของวันประชาธิปไตยสากล

          ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2007 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UN องค์กรที่มุ่งเน้นเรื่องสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และสนับสนุนสังคมประชาธิปไตย ได้ร่วมประชุมและลงมติให้แต่งตั้งวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy) เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนทุกคน ทุกองค์กร ได้ร่วมรำลึกและเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย ที่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินชีวิตของพวกเขาเอง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกรัฐบาลกระตุ้น ยกระดับ และสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศของตนไปพร้อม ๆ กัน โดยเริ่มเฉลิมฉลองครั้งแรกในปี 2008 และจัดสืบเนื่องต่อจากนั้นมาเป็นประจำทุกปี
วันประชาธิปไตยสากล

วันประชาธิปไตยสากล หยุดไหม ?

          วันประชาธิปไตยสากลที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ถือเป็นวันสำคัญสากลที่ทุกคนควรรู้จัก ตระหนัก และเห็นคุณค่า แต่ไม่ใช่วันหยุดราชการ หรือวันหยุดประจำปี

ทำไมประชาธิปไตยถึงสำคัญ ?

          ประชาธิปไตย เป็นหนึ่งในแนวทางการปกครอง และแนวคิดสำคัญที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก อีกทั้งยังถือเป็นค่านิยมและหลักปฏิบัติของสหประชาชาติ (UN) ด้วย โดยแนวคิดนี้ให้อำนาจกับผู้คนหรือประชาชนเป็นหลัก และมี 3 เหตุผลที่เราควรให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและวันประชาธิปไตยสากล คือ

          1. เพราะประชาธิปไตยให้อำนาจกับประชาชนอย่างเต็มที่ จนนำไปสู่โลกแห่งนวัตกรรมและการพัฒนาได้

          2. เพราะประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือประชาชนทุกคนมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อจำเป็น ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้ง ที่เมื่อครบวาระ คนที่ทำงานดีก็ได้อยู่ต่อ และคนที่ทำงานไม่ดีก็ไม่ได้ไปต่อนั่นเอง

          3. เพราะประชาธิปไตยคือความเท่าเทียม ตามคำพูดที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า หนึ่งคน หนึ่งสิทธิ์ ไม่ว่าใครก็มีความเสมอภาคกัน

ย้อนดู Timeline สำคัญของประชาธิปไตย

          350 ปี ก่อนคริสตกาล อริสโตเติล (Aristotle) นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาคนสำคัญของโลก ได้จดบันทึกรูปแบบการปกครองต่าง ๆ ไว้มากมาย ซึ่งก็รวมถึงการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วย โดยมีเป้าหมายคือ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง และค้นหาว่าแบบไหนประสบความสำเร็จสุด ส่งผลให้งานเขียนนี้มีอิทธิพลต่อการพัฒนารูปแบบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน
 

          ค.ศ. 1215 พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ ยอมลงนามและให้อำนาจเด็ดขาดกับ Magna Carta รัฐธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ประชาธิปไตยสักเท่าไร แต่ก็ถือเป็นพื้นฐานของการปกครองแบบรัฐสภา
 

          ค.ศ. 1789 กำเนิดรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา (The U.S. Constitution) ที่สร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองชาวอเมริกัน
 

          ค.ศ. 1893 เริ่มให้ผู้หญิงมีสิทธิในการโหวต การเลือกตั้ง ตามรูปแบบประชาธิปไตย โดยนิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกของโลก

กิจกรรมวันประชาธิปไตยสากล

1. มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทางการจัดขึ้น

          ในแต่ละปี องค์การสหประชาชาติ (UN) รวมถึงหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ จะจัดงานเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยที่แตกต่างกันไป เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคม ดังนั้น เพียงแค่เราเช็กรายละเอียดและเข้าร่วมกิจกรรมตามความสนใจ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมเฉลิมฉลองให้กับวันสำคัญนี้แล้ว
 

2. เรียนรู้เกี่ยวกับการเมือง-การเลือกตั้ง

          สำหรับคนที่ไม่ถนัดเข้าร่วมกิจกรรม เพียงแค่ใช้เวลาในวันนี้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการเมือง การเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนเอาไว้ ก็ถือเป็นการเฉลิมฉลองให้กับวันนี้ได้เหมือนกัน เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคน และเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยนั่นเอง
 

3. ใช้สิทธิของตัวเองให้เต็มที่

          เพราะประชาธิปไตยคือการให้สิทธิเสรีภาพกับทุกคนอย่างเต็มที่ ดังนั้น จงจำไว้ว่าอย่าลืมใช้สิทธิของตัวเองให้คุ้มค่า มีส่วนร่วมกับส่วนรวม และไม่เบียดเบียนสิทธิของผู้อื่น เพื่อสร้างความแตกต่างแต่สงบสุขในแบบของเราเอง
 

           ในเมื่อได้รู้อย่างนี้แล้ว ทุกวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ก็อย่าลืมมาเฉลิมฉลองให้กับวันประชาธิปไตยสากลกันนะคะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, United Nation และ timeanddate.com
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
15 กันยายน วันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy) อัปเดตล่าสุด 14 กันยายน 2563 เวลา 16:31:15 6,460 อ่าน
TOP
x close