x close

เรื่องจริงที่ต้องเจอเมื่อเรียนที่ VISTEC

          เปิดมุมมองศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ดี ๆ ภายใต้รั้วสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ทั้งเรื่องเรียน ชีวิตความเป็นอยู่ และงานวิจัยสุดเจ๋งที่อยากให้คนสนใจเรียนต่อได้ลองฟัง
          ท่ามกลางโลกยุคสมัยใหม่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนพึ่งพาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงแวดวงการศึกษา ที่คอยทำหน้าที่ผลิตบุคลากรเฉพาะทางที่รอบรู้ มีความสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศ ซึ่ง VISTEC ถือเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าที่บ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ได้ก้าวไปเป็นนักวิจัยคุณภาพ โดยวันนี้เรามีเรื่องเล่าจากศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จและศิษย์ปัจจุบัน มาแชร์ พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในรั้วสถาบัน ว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ พวกเขาเป็นอย่างไร ? ผ่านอะไรมาบ้าง ? ไปติดตามกันเลย

“สถาบันวิทยสิริเมธี” ที่ที่เป็นมากกว่าสถานศึกษา

VISTEC

          ความทุ่มเทของกลุ่ม ปตท. และพันธมิตรที่ร่วมมือในการวางรากฐานการสร้าง “คน” ในด้านวิทยาศาสตร์ และได้ก่อกำเนิดสถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology) สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนเฉพาะทาง ด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ใน 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (MSE), สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (ESE), สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST)
VISTEC

VISTEC

          VISTEC เปิดพื้นที่ให้นิสิตได้ทำวิจัยเชิงลึกเพื่อสร้างองค์ความรู้และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ มีคณาจารย์ที่เพียบพร้อมด้วยความสามารถและคุณวุฒิ รวมถึงเครื่องมือวิจัยและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย โดยให้ทุนการศึกษาทั้งหมด ไม่มีข้อผูกมัด สนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือน มีทุนเรียนต่อและทำงานวิจัยในต่างประเทศอีกด้วย จุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ให้ก้าวสู่มาตรฐานชั้นนำระดับโลกในอนาคต รายล้อมด้วยบรรยากาศที่โล่ง ปลอดโปร่ง กว้างขวาง ท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา และอากาศที่บริสุทธิ์ จึงทำให้นิสิตมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่นี่มากขึ้น
VISTEC

VISTEC

          แต่สิบปากว่า ยังไม่เท่าตาเห็น… จะมีอะไรดีไปกว่าการได้ฟังจากปากผู้ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ VISTEC ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่จะมาถ่ายทอดแง่คิดและมุมมองต่าง ๆ รวมถึงงานวิจัยของพวกเขาเหล่านี้กัน

มุมมองของนิสิตปัจจุบัน : ต้นกล้าแห่งนักวิจัยคุณภาพเกิดขึ้นที่นี่

          รอยยิ้มกว้างบนใบหน้าที่ทำให้แววตายิ้มตามไปด้วยของ “จุ๋ม” ธมลวรรณ วรฤทัย” นิสิตปริญญาเอกชั้นปีที่ 2 สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) บอกเล่าความรู้สึกถึงโครงการวิจัย “ขยะเพิ่มทรัพย์” ที่กำลังทำอยู่ด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ จากภูมิหลังที่เรียนมาทางด้านชีวเคมีทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท นำมาสู่เส้นทางการเป็น “นักวิจัย” อย่างเต็มตัว
VISTEC

          จากสิ่งที่เธอได้รับจาก VISTEC ตั้งแต่วันแรก ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร แบบไม่มีข้อผูกมัด ค่าใช้จ่ายรายเดือน เวทีแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการต่างประเทศ คำแนะนำจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับบรรยากาศสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทำให้เธอมีเวลาโฟกัสกับสิ่งที่เรียนอย่างเต็มที่ รู้ตัวอีกที...เธอก็ขยับเข้าใกล้ความฝันการเป็นนักวิจัยมากขึ้นทุกขณะเช่นกัน และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดพัฒนาโครงการวิจัยขยะอินทรีย์ของชาวบ้านในจังหวัดน่าน แปรเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สารชีวภัณฑ์ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ต่อไป
 

"เหตุผลที่เลือกจังหวัดน่าน เพราะตอนลงพื้นที่แล้วพบว่า ชุมชนที่น่านมีความเข้มแข็ง และมีวินัยการแยกขยะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ในส่วนของขยะอินทรีย์ยังไม่มีวิธีการจัดการที่เหมาะสม โครงการนี้จะเข้าไปเติมเต็มให้ชาวบ้านรู้จักวิธีกำจัดขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับประโยชน์จากพลังงานสะอาดด้วย อย่างแก๊สหุงต้มและปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ”


           ในอนาคตหากงานวิจัยชิ้นนี้ประสบความสำเร็จและได้รับเสียงตอบรับที่ดีต่อไปเรื่อย ๆ เธอหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ “ขยะเพิ่มทรัพย์” จะสามารถเข้าไปช่วยในภาคส่วนของจังหวัดอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดการสนับสนุนจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและเพื่อนร่วมทีมที่คอยให้คำปรึกษา ช่วยเปิดโลกทัศน์ความคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกประทับใจ และนั่นก็คือความสุขตลอดช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่จวบจนปัจจุบัน

VISTEC

          ขณะที่ “แม็ค” ไพโรจน์ อุทสาร นิสิตปริญญาเอกชั้นปีที่ 4 สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) ที่ได้ก้าวเข้าสู่รั้ว VISTEC พร้อมกับความฝันในการเป็น Data Scientist ซึ่งต้องแลกมาด้วยความมานะบากบั่นมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว เพราะก่อนหน้านี้เขาเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์เคมีมาก่อน และเปลี่ยนสายมาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เท่ากับว่าเขาต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากอาจารย์และเพื่อน ๆ ทำให้เขารู้ได้ทันทีว่า… ไม่สำคัญว่าจะเรียนจบมาทางด้านไหน ถ้ามุ่งมั่นและตั้งใจก็จะพาไปเจอกับสิ่งที่ “ใช่” ได้ไม่ยากเลย
VISTEC

          ปัจจุบันแม็คได้ปะติดปะต่อฝันเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เขาเผยว่า โครงการวิจัยที่เขาคิดค้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อครั้งที่คุณพ่อได้เสียชีวิตลงด้วยโรคนี้ ทำให้หันมาสนใจทางด้าน “Data Science” และ
“Neural Engineering” จึงเลือกเข้ามาเรียนที่ VISTEC เพื่อพัฒนางานวิจัยที่คิดไว้ให้สำเร็จ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ต่อไปในอนาคต
 

“ตอนที่คุณพ่อเสียด้วย Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มเห็นว่า บุคลากรทางด้าน Data Sceince ในไทยยังขาดแคลนอยู่มาก และผมเห็นว่าสาขาวิชานี้ที่ VISTEC ได้ชี้ช่องทางให้ผมสามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้กับคนหมู่มากได้”

VISTEC

          การผสมผสานของศาสตร์ทางด้าน Data Sceince และ Neural Engineering ช่วยให้แม็คเรียนรู้ที่จะจัดการข้อมูลจำนวนเยอะ ๆ และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับ “Brain-computer interface” แปลงสัญญาณสมองของมนุษย์ ควบคุมและสั่งการเครื่องกลหรือเก้าอี้สำหรับคนพิการ ซึ่งเมื่องานวิจัยชิ้นนี้เสร็จสมบูรณ์ จะสามารถสร้างประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ในประเทศไทย ที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยความคาดหวังไม่ได้หยุดอยู่ที่ “ผลสำเร็จของงานวิจัย” หากแต่หวังต่อยอดสร้างเป็น “Product ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้” นี่เป็นคำพูดทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงที่ฟังแล้วดูเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นของแม็ค จนทำให้คนฟังอย่างเรารอลุ้นและอยากติดตามดอกผลแห่งความสำเร็จนี้โดยเร็ว 

ศิษย์เก่าขอเล่าเรื่อง : แชร์ประสบการณ์ในรั้ว VISTEC เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ

          คำนิยามจากความทรงจำของ “ทิวลิป” อธิวีณา กฤตยาวัฒนานนท์ ศิษย์เก่าปริญญาเอก VISTEC จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (ESE) ปัจจุบันทำงาน ณ สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขอแชร์ประสบการณ์เมื่อครั้งยังเป็นนิสิต

          จากความคิดเดิมที่ว่า “การเรียน ป.เอก ก็เพื่อเอาใบปริญญาเฉย ๆ” แต่มุมมองความคิดของเธอก็ค่อย ๆ เปลี่ยน “การมาเรียนที่นี่จะว่าไปก็เหมือนเล่นเกม มีตัวเองเป็นผู้เล่น มีอาจารย์เป็นโค้ช และมี VISTEC เป็นสนามประลองขนาดใหญ่” เธอยอมรับว่าบรรยากาศการเรียนการสอนที่นี่ เป็นตัวแปรสำคัญทำให้เธอรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ตัวเองลงสนามประลอง ความเครียดและความกังวลต่าง ๆ แปรเปลี่ยนเป็นประจุพลังงานบวก และมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้ลงมือทำงานวิจัยของตัวเอง
VISTEC

          ในช่วงระหว่างศึกษาเธอได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ และหวังเป็นผลงานสำหรับเรียนจบเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป VISTEC สร้างโอกาสความเป็นไปได้ที่ทำให้เธอเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ผลงานวิจัยของเธอจะสร้างคุณประโยชน์กับประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยการทำ ”แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน” ที่ผลิตและประกอบโดยคนไทย มีการพัฒนาให้มีค่าการเก็บประจุไฟฟ้าและอายุการใช้งานมากขึ้น เพื่อใช้ในวงการยานยนต์ ทำให้คนไทยมีแบตเตอรี่ใช้ในราคาประหยัดและเข้าถึงง่าย เหล่านี้เป็นแรงผลักดันทำให้เธอเข้ามาทำงานอยู่ที่สถาบันนวัตกรรม ปตท. เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยให้สำเร็จลุล่วง และยังได้ฝากข้อคิดถึงคนที่สนใจอยากมาเรียนที่นี่ไว้ว่า
 

“สนามประลองแห่งนี้พร้อมเปิดให้ทุกคนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี
ได้เข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์การต่อสู้ และเอาชนะตัวเองให้ได้
นั่นคือความอิ่มเอมใจสูงสุดที่จะได้รับจากสถาบันการศึกษาแห่งนี้”

          พันธกิจสำคัญของสถาบันที่สะท้อนผ่านถ้อยคำของ “ปุ้ย” วรรณฤดี วรรณภักดี ศิษย์เก่าปริญญาเอก จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (ESE) ที่ปัจจุบันเป็นนักวิจัยของส่วนวิจัยวัสดุนาโน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และถึงแม้ว่าในปัจจุบันงานวิจัยที่รับผิดชอบอยู่ จะไม่เหมือนกับโครงการวิจัยที่เคยศึกษาในสมัยเป็นนิสิต แต่การเรียนการสอนที่ VISTEC ได้ฝึกทักษะและปลูกฝังการทำงานแบบนักวิจัยให้เธอโดยไม่รู้ตัว
VISTEC

          “ช่วงที่เรียน ปุ้ยทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งอาจจะไม่ได้ตรงกับงานที่ทำในปัจจุบันสักทีเดียว แต่ปุ้ยสามารถนำทักษะจากสมัยเรียนมาต่อยอดในการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บ การคิดวิเคราะห์ รวมถึงการวางแผนงานวิจัยต่าง ๆ มาปรับใช้กับการทำงาน ทำให้ปุ้ยสามารถแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์งานวิจัยนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี”

          และมากไปกว่าการเรียนการสอน VISTEC ยังได้บ่มเพาะทัศนคติในการเป็น “ผู้ให้” ผ่านโครงการดี ๆ ที่ทำให้แก่สังคม ซึ่งเปิดโอกาสให้นิสิตได้เข้ามามีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการร่ำเรียนวิชาการ อีกทั้งเป็นการสร้าง “จิตสาธารณะ” ให้แก่นิสิต
 

“หลายครั้งที่ปุ้ยและนิสิตคนอื่น ๆ ที่เคยเป็นผู้รับ ได้มีโอกาสเป็นผู้ให้ โดยทาง VISTEC มักจะมีกิจกรรมดี ๆ เช่น การสอนหนังสือ การจัดค่ายวิทยาศาสตร์ ให้แก่โรงเรียนในชุมชนโดยรอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้บ่งบอกให้เห็นว่า VISTEC นั้นเป็นสถาบันการศึกษาของไทยที่พร้อมผลิตนักวิจัยไทยที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่ออนาคตคนไทยทุกคน”

          หลากหลายเรื่องราวความประทับใจและแง่มุมจากทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าของ VISTEC  สะท้อนวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของสถาบันการศึกษา ที่พร้อมผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อสร้างงานวิจัยและองค์ความรู้ทางนวัตกรรมที่มีคุณภาพในระดับสากล ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ หลักสูตร ตลอดจนคุณสมบัติการเข้ารับการศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.vistec.ac.th หรือ www.facebook.com/Vidyasirimedhi/
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องจริงที่ต้องเจอเมื่อเรียนที่ VISTEC อัปเดตล่าสุด 15 ตุลาคม 2563 เวลา 11:28:47 22,800 อ่าน
TOP