เปรียบเทียบความต่างระหว่างรถที่ใช้เครื่องยนต์ ไฮบริด และรถพลังงานไฟฟ้า EV Car แต่ละระบบมีดีอย่างไร มาดูกัน
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของยานยนต์ ที่ได้รับการพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานและทันสมัยอยู่เสมอ แต่ด้วยทรัพยากรเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัด และความต้องการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง ค่ายรถต่าง ๆ จึงเกิดแนวคิดที่จะผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือก หรือพลังงานทดแทนการใช้น้ำมัน ทั้ง Hybrid และมาถึง EV Car หรือรถยนต์ไฟฟ้า กับความคาดหวังที่จะใช้น้ำมันให้น้อยที่สุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราไปดูกันว่า รถยนต์ทั้ง 3 ระบบนี้มีความแตกต่างกันในด้านใดบ้าง มีอะไรที่น่าสนใจ และจะขอพาไปทำความรู้จักกับรถ EV Car รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันให้มากขึ้น
ทำความรู้จักกับรถยนต์ระบบต่าง ๆ
รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน
หรือรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์เบนซินหรือดีเซล ในปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งน้ำมัน หรือแก๊ส NGV, LPG ในการเผาไหม้เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ จึงทำให้เกิดมลพิษไอเสียขึ้น
รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV)
เกิดขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันให้น้อยลง เปลี่ยนมาใช้พลังงานแบบผสมผสานระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิงกับพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ซึ่งประหยัดน้ำมันมากกว่าและมีกำลังมากขึ้นกว่าเดิม ประโยชน์ของรถยนต์ไฮบริด คือ เมื่อมีการเหยียบเบรก พลังงานบางส่วนจะถูกจัดเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ และสามารถนำมาใช้งานในภายหลัง เป็นการขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าไปพร้อม ๆ กับการทำงานของเครื่องยนต์ได้ และถูกพัฒนาต่อมากลายเป็นรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) สามารถเสียบปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่ได้จากภายนอก (Plug-in) วิ่งไปได้ไกลกว่าเดิม ชาร์จไฟเพิ่มเพื่อกักเก็บประจุได้
รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)
ใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน 100% ไม่มีเครื่องยนต์ ไม่มีการใช้น้ำมันในการเผาไหม้ มลพิษเป็นศูนย์ ใช้วิธีชาร์จไฟเข้าไปยังแบตเตอรี่ที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงาน โดยระยะทางจะขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่
เปรียบเทียบรถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมัน - Hybrid - EV Car
ต่างกันอย่างไร ?
รถที่ใช้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน
เป็นที่นิยม เพราะมีราคาถูก ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ มีตัวเลือกเยอะ มีออปชั่นต่าง ๆ ตอบโจทย์ความสะดวกสบายในการใช้งาน สามารถเข้าถึงง่าย และซื้อ-ขายคล่อง แต่มีค่าน้ำมันสูง และค่าซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ตามอายุการใช้งาน
รถยนต์ Hybrid
เป็นรถ 2 ระบบ ใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า ใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าไปพร้อม ๆ กับการทำงานของเครื่องยนต์ได้ ช่วยเรื่องระบบส่งกำลังให้ออกตัวได้ดีขึ้น สามารถเอาพลังงานจากการเบรกกลับมาใช้งานทำให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น เครื่องเงียบ (ถ้าขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า) สามารถชาร์จไฟได้ที่บ้าน (รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด) แต่ค่าซ่อมบำรุงรักษาค่อนข้างสูง เนื่องจากมีทั้งระบบเครื่องยนต์และไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้า EV Car
ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ชาร์จไฟได้จากภายนอกและเก็บไฟฟ้าไว้ที่แบตเตอรี่ เมื่อมีการขับเคลื่อน พลังงานไฟฟ้าจะถูกส่งไปที่มอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนล้อ ตัดระบบเครื่องยนต์ต่าง ๆ ทิ้งไป จึงไม่มีไอเสีย สามารถชาร์จไฟได้ที่บ้าน เครื่องเงียบ ค่าซ่อมบำรุงต่ำ เพราะชิ้นส่วนใช้ระบบไฟฟ้าและใช้มอเตอร์ในการทำงานจึงสึกหรอช้า แต่ราคารถยนต์ค่อนข้างสูง แบตเตอรี่มีอายุจำกัด และมีราคาแพงเมื่อจะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่
เกร็ดความรู้ : แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า EV Car คืออะไร ?
เนื่องจากรถ EV Car ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน 100% แบตเตอรี่จึงเป็นหัวใจหลัก ซึ่งเมื่อถูกชาร์จแล้วจะเก็บพลังงานไว้ ก่อนส่งต่อผ่านตัวแปลงไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า และส่งไปยังเพลาขับเคลื่อน โดยแบตเตอรี่ที่ใช้คือ “ลิเธียมไอออน” สามารถเก็บพลังงานได้มากที่สุดและมีอายุการใช้งานนาน ดังนั้น ระบบกักเก็บพลังงานที่มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก แบตเตอรี่ได้ถูกพัฒนาและออกแบบให้มีอายุการใช้งาน ทนทานและนานขึ้น และแนวโน้มต้นทุนราคาของแบตเตอรี่ไฟฟ้าลดลง ยกตัวอย่าง การพัฒนาแบตเตอรี่ของทางสถาบันนวัตกรรม ปตท. นำความเชี่ยวชาญด้านระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) บวกกับความเชี่ยวชาญด้าน Battery Management System (BMS) เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย และยังสามารถพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานสำหรับที่พักอาศัย (Residential ESS) โดยจะเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่เหลือใช้ในช่วงเวลากลางวัน นำไปใช้ในช่วงเวลาที่ต้องการ และสำรองจ่ายไฟฟ้าเมื่อเวลาไฟดับได้
ซึ่งจุดเด่นก็คือ ระบบจะกักเก็บพลังงานแบบ All in One มีระบบอินเวอร์เตอร์ภายในขนาด 5 kW สามารถต่อแผงโซลาร์เซลล์ได้โดยตรง แบตเตอรี่ Li-Ion (ลิเธียมไอออน) ขนาด 13.5 kWh เพียงพอต่อการใช้โหลดขณะไฟดับ 3-8 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้า) และสามารถปรับตั้งค่าผ่านสมาร์ตโฟน รองรับฟังก์ชันการจำหน่ายพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย
สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มีที่ไหนบ้าง ?
รถยนต์ไฟฟ้า EV Car สามารถชาร์จไฟได้ด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ให้บริการหลายเจ้าด้วยกัน เช่น PTT EV Wall Charger ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) และ True Digital Park สุขุมวิท 101 ซึ่งเป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) ที่พัฒนาโดยสถาบันนวัตกรรม ปตท. รองรับรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-In Hybrid : PHEV) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ทุกรุ่นทุกแบรนด์ที่มีหัวชาร์จแบบ Type 2 กำลังไฟ 7 kW และ 22 kW โดยระยะเวลาการชาร์จขึ้นอยู่กับรุ่นของรถ และสามารถใช้งานง่าย ๆ ผ่าน SHARGE Mobile Application ที่รองรับทั้งระบบ Android และ iOS
PTT EV Wall Charger ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC)
นอกจากนี้ยังมีสถานีชาร์จในปั๊มน้ำมัน ปตท. อีก 14 แห่งทั่วประเทศ เช่น ปตท.วังน้อย อยุธยา, สระบุรี, สมุทรสาคร, คลองหลวง ปทุมธานี, พุทธมณฑลสาย 5 นครปฐม, สาขาโรงแยกก๊าซระยอง ระยอง, เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา, ราษฎร์บูรณะ, ลาดพร้าว-วังหิน นวลจันทร์ เป็นต้น และยังมีเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบติดผนัง (EV Wall Charger) เพื่อจำหน่ายให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ารายย่อยอีกด้วย (ข้อมูลจาก
securitysystems.in.th, สถาบันนวัตกรรม ปตท.,
nationtv.tv,
masii.co.th)
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับข้อมูลเปรียบเทียบจุดเด่นต่าง ๆ ของรถยนต์ทั้ง 3 ระบบ แต่ละประเภทต่างก็ตอบโจทย์การใช้งานที่ไม่เหมือนกัน หากใครที่กำลังมองหารถยนต์ที่เหมาะกับตัวเองสักคัน ก็ลองพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ดูนะคะ