เปิดรายละเอียด ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญ

                   เปิดรายละเอียด ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญทุกลำดับพิธีการ สวยงดงามสะท้อนวัฒนธรรมไทย ผลิต 30 ล้านฉบับ พร้อมออกใช้ 12 ธ.ค. 63

          วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า ธปท. ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และยังเป็นการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญ ตลอดจนพระราชพิธีที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย

          โดยจะนำออกใช้ในวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันครบ 1 ปี ของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

          ทั้งนี้ ธนบัตรที่ระลึกชุดนี้มี 2 ชนิดราคา ภาพด้านหลังธนบัตรทั้ง 2 ชนิดราคา เป็นภาพจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้...

ธนบัตร 1,000 บาท
          จัดพิมพ์จำนวน 10 ล้านฉบับ มีรูปทรงแนวตั้ง ขนาด 127 มิลลิเมตร x 181 มิลลิเมตร โดยใช้หมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ เป็นลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ใช้อยู่ในธนบัตรแบบปัจจุบัน
          ลักษณะธนบัตรด้านหน้า : เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงฉลองพระองค์ครุย สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ สายสร้อยจุลจอมเกล้า เป็นภาพประธาน สำหรับภาพประกอบ ได้เชิญตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ภาพพระครุฑพ่าห์ ภาพดอกรวงผึ้ง และภาพเทวดาโปรยดอกพิกุล 10 ดอก
          ลักษณะธนบัตรด้านหลัง : ภาพลำดับขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ที่จัดวางร้อยเรียงภายในโครงตัวเลขไทย "๑๐" เพื่อแสดงถึงการเข้ารับตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ โดยเริ่มจากพระราชพิธีตามลำดับต่อไปนี้...

          1. ภาพพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

          2. พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระบรมมหาราชวัง

          3. ภาพพิธีเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล จากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

          4. พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงพระมุรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนาน

          5. ทรงรับน้ำพระพุทธมนต์จากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

          6. พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

          7. พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงฉลองพระองค์ครุย สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ สายสร้อยจุลจอมเกล้า และทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงรับพระแสงขรรค์ชัยศรี ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ  

          8. พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสถาปนาสมเด็จพระราชินี ให้ทรงดำรงราชฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ

          9. พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

          10. เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

          11. พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

          12. พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

          13. พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

          14. พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระบรมมหาราชวัง พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

          15. ภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง
          ตัวเลข "1000" และข้อความ "หนึ่งพันบาท" พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้น-ลงจะเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว
          ลายน้ำอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ซึ่งมีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ มองเห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้านเมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่าง
          ลายดอกพิกุลพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ ภายในมีตัวเลข “10” เมื่อพลิกธนบัตรขึ้น-ลงหรือพลิกซ้าย-ขวา จะเห็นรูปวงกลมเคลื่อนไหวได้รอบทิศทาง และเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว
          ภาพพระครุฑพ่าห์บนด้านหน้าและด้านหลังพิมพ์ในตำแหน่งตรงกัน เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่างจะเห็นซ้อนทับกันสนิท
          ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง ได้แก่ ลวดลายบางส่วนบนธนบัตร หมวดอักษรและเลขหมายจะเรืองแสงเป็นสีส้ม เส้นใยเรืองแสงในเนื้อกระดาษจะเรืองแสงเป็นสีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน

ธนบัตร 100 บาท
          จัดพิมพ์จำนวน 20 ล้านฉบับ ขนาด 72 x 150 มิลลิเมตร ลักษณะโดยรวมเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา 100 บาท แบบ 17 (แบบปัจจุบัน) โดยได้ปรับโทนสีให้เป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีแห่งวันพระบรมราชสมภพ
ลักษณะธนบัตรด้านหน้า

          - เปลี่ยนภาพพระตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยู่ตอนกลางของธนบัตร เป็นภาพตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

          - เปลี่ยนลายดอกห้ากลีบที่เบื้องขวาของพระบรมสาทิสลักษณ์ เป็นลายดอกพิกุล

 ลักษณะธนบัตรด้านหลัง

          - เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นภาพประธาน

          - เชิญพระปฐมบรมราชโองการไว้ที่เบื้องขวาของธนบัตร

          - ภาพประกอบ เป็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ภาพการเสด็จออกสีหบัญชร และภาพพสกนิกรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล




ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดรายละเอียด ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญ อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2563 เวลา 23:01:35 17,567 อ่าน
TOP
x close