x close

บีทีเอส แจงข่าวมั่ว ยันไม่ขึ้นค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท พร้อมแบกหนี้ 8,000 ล้าน


          บีทีเอส แจงข่าว ขึ้นราคาค่าโดยสารเป็น 158 บาท มั่วทั้งเพ ยืนยัน ไม่ได้กำหนดค่าโดยสารทั้งหมด เพราะ กทม. เป็นคนควบคุมส่วนต่อขยาย

รถไฟฟ้า BTS
ภาพจาก artapartment / Shutterstock.com

          จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่อนโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า รถไฟฟ้าบีทีเอส เตรียมขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดเส้นทางเป็นจำนวน 158 บาท ทำให้คนวิจารณ์เป็นวงกว้างว่าแพงไปไหม

          ล่าสุด วันที่ 4 ธันวาคม 2563 สปริงนิวส์ รายงานว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และผิดข้อเท็จจริง ดังนี้

          1. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารและรับรายได้จากระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามอายุสัญญา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2542-2572 โดยมีวัตถุประสงค์ ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาการจราจร ลดมลภาวะในเมืองใหญ่ ทำให้พี่น้องประชาชนเดินทางสะดวกขึ้น

          หลังจากนั้นมีความร่วมมือกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ของกรุงเทพมหานคร สำหรับการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจากเส้นทางเดิมของสัมปทาน คือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) รวมถึงส่วนต่อขยายเพิ่มเติมของสายสุขุมวิทจากแบริ่งไปเคหะ และจากหมอชิตไปคูคต

          2. การกำหนดราคาค่าโดยสารตามสัมปทานเดิม อัตราปัจจุบันอยู่ที่ 16-44 บาท ตามระยะทาง ตรงส่วนนี้บีทีเอสเป็นคนกำหนด แต่ส่วนต่อขยายทั้งหมด กทม. เป็นคนกำหนด

          3. ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC จะอยู่ในฐานะลงทุนขบวนรถ ส่วน กทม. จะลงทุนงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งรับผิดชอบดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ส่วนขยายช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า, อ่อนนุช-เคหะ และหมอชิต-คูคต จำนวน 59 สถานี ระยะทาง 68.25 กิโลเมตร สามารถเดินทางเชื่อมได้ครบ 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี, กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ซึ่งจะเปิดบริการครบ 59 สถานี วันที่ 16 ธันวาคม นี้

          4. อีกข้อเท็จจริง ประเด็นค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจากเส้นทางเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย ยังคงเป็นการกำหนดโดย กทม. ส่วน BTSC อยู่ในฐานะผู้รับจ้างการเดินรถส่วนต่อขยายเท่านั้น และที่ผ่านมาทางหน่วยงานรัฐมีเป้าหมายทำให้ค่าโดยสารอยู่ในอัตราที่เหมาะสม มีการเก็บค่าโดยสารระยะทางเริ่มต้น 15 บาท รวมตลอดเส้นทางไม่เกิน 65 บาท เพื่อไม่ให้กระทบกับคุณภาพชีวิตประชาชน

          ทั้งนี้ จากเดิมเคยมีการศึกษาค่าโดยสารตลอดเส้นทาง สูงสุด 158 บาท แต่ก็มีการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าโดยสารตามเป้าหมาย และแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของ กทม. ซึ่งทางคณะกรรมการ กระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติจากที่ประชุม ครม.

          5. BTSC ขอยืนยันในข้อเท็จจริงข้างต้น ขอย้ำอีกครั้งว่า ถึงแม้จะต้องแบกค่าใช้จ่ายในช่วงส่วนต่อขยาย จากหนี้คงค้างของ กทม. 8 พันล้านบาท ทางบริษัทให้คำมั่นสัญญาว่าจะรับผิดชอบการเดินทางรถไฟฟ้าแก่ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นปกติเช่นเดิมจนถึงที่สุด และจะร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อทำให้แผนการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะทาง 68.25 กิโลเมตร มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด จนกว่าจะมีความชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งในที่ประชุม ครม.


ขอบคุณข้อมูลจาก สปริงนิวส์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บีทีเอส แจงข่าวมั่ว ยันไม่ขึ้นค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท พร้อมแบกหนี้ 8,000 ล้าน อัปเดตล่าสุด 4 ธันวาคม 2563 เวลา 15:29:19 4,149 อ่าน
TOP