x close

ทนายอานนท์ เตือน โพสต์ยกหนี้ผ่านเฟซบุ๊ก - ไลน์ แม้พูดเล่น แต่มีผลตาม กม. หนี้หายวับ

          ทนายอานนท์ เชื้อสัตตบงกช เตือนโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก-ไลน์ ก่อหนี้-ยกหนี้ให้ใคร แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อ แต่ถือเป็นเอกสารมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย พร้อมยกเคสตัวอย่าง

ยกหนี้ผ่านเฟซบุ๊ก
ภาพจาก เฟซบุ๊ก อานนท์ เชื้อสัตตบงกช

          วันที่ 24 ธันวาคม 2563 มีรายงานว่า ทนายอานนท์ เชื้อสัตตบงกช ได้โพสต์เฟซบุ๊กเผยข้อมูลด้านกฎหมาย เตือนเจ้าหนี้ทั้งหลาย เกี่ยวกับการส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ต ยกหนี้/ยกสิทธิ มีผลบังคับทันที

          โดยระบุว่า การส่งข้อความทางสื่อออนไลน์ ไม่จะเป็นทางเฟซบุ๊ก ไลน์ ปัจจุบันถือเป็นเอกสารอย่างหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งถือว่า สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย และต้องรับผิดชอบตามข้อความที่ส่งไป โดยเฉพาะข้อความที่ก่อ เปลี่ยนแปลง หรือระงับซึ่งสิทธิ จำพวกยกหนี้ให้

          หากเจ้าหนี้ได้ส่งออกไปถึงลูกหนี้แล้ว ทางกฎหมายจะถือว่ามีผลสมบูรณ์ เป็นการปลดหนี้ให้ทันที แม้จะมาอ้างภายหลังว่าประชด หรือส่งเล่น ๆ ก็ไม่สามารถอ้างได้ ซึ่งศาลฎีกาได้วางหลักไว้ชัดเจน ตามฎีกาที่ 6757/2560

          ฉะนั้นต่อไป การจะส่งข้อความไปหาใคร หรือโพสต์อะไรให้คิดให้ถี่ถ้วน หากเป็นข้อความมีการก่อหนี้ หรือปลดหนี้ หรือจะยกอะไรให้ใคร ทางกฎหมายอาจจะถือว่า มีผลบังคับได้สมบูรณ์ตามกฎหมายทันทีเหมือนกัน ต่อไปคิดอะไรอย่าโพสต์เล่น ๆ เดี๋ยวมันจะเป็นจริง

ยกหนี้ผ่านเฟซบุ๊ก

          สำหรับเคสตัวอย่าง คำพิพากษาฎีกา 6757/2560

          - จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระเงินต้น ชำระแค่ดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟซบุ๊กถึงจำเลยมีใจความว่า "เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว" การส่งข้อมูลดังกล่าว เป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย

          ทั้งนี้ แม้ข้อความจะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟซบุ๊ก จะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่า ได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลย โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

ยกหนี้ผ่านเฟซบุ๊ก



ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก อานนท์ เชื้อสัตตบงกช

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทนายอานนท์ เตือน โพสต์ยกหนี้ผ่านเฟซบุ๊ก - ไลน์ แม้พูดเล่น แต่มีผลตาม กม. หนี้หายวับ อัปเดตล่าสุด 24 ธันวาคม 2563 เวลา 14:55:59 6,169 อ่าน
TOP