การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดทดลองเดินรถเสมือนจริงรถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นชานเมือง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต พร้อมให้ประชาชนใช้บริการฟรี ตั้งแต่ ก.ค. - พ.ย. นี้
ในที่สุดก็ถึงช่วงเวลาที่หลายคนรอคอย โดยเฉพาะผู้โดยสารที่พักอาศัยอยู่ย่านรังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน กับการมาเยือนของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง สามารถเปลี่ยนถ่ายการเดินทางจากรถไฟรางทางไกลไปสู่รถไฟความเร็วสูง และยังเชื่อมสนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนอีกด้วย ว่าแต่รถไฟฟ้าสายสีแดงนี้มีจุดเด่นอย่างไร จะเข้ามาช่วยทำให้การเดินทางของประชาชนดีขึ้นแค่ไหน เราไปหาคำตอบกัน
ที่มาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง
โครงข่ายระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) อยู่ภายใต้การดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้พัฒนาและก่อสร้างเป็น 2 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงบางซื่อ-รังสิต รวมระยะทาง 26.3 กิโลเมตร และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน รวมระยะทาง 15 กิโลเมตร โดยได้เปิดการทดลองเพื่อเดินรถเสมือนจริงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มตัวแทนนักเรียน นักศึกษา และผู้แทนภาคประชาชน เข้าร่วมการทดลองในครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบความพร้อมของระบบ และแนวทางการเชื่อมต่อสถานีรถไฟรังสิตกับโครงข่ายต่าง ๆ ก่อนเปิดให้บริการจริงช่วงปลายปีนี้
รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการเมื่อไร
การรถไฟแห่งประเทศไทย มีแผนเปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างไม่เป็นทางการ (Soft Opening) ในเดือนกรกฎาคม 2564 ขึ้นฟรีตลอดเส้นทางไม่เก็บค่าโดยสาร นาน 4 เดือน ก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบและเก็บค่าโดยสารในเดือนธันวาคม 2564 แต่หลังจากวันที่ 26 มีนาคม 2564 หากประชาชน องค์กร หน่วยงาน และสถาบันการศึกษาใด ต้องการเข้าร่วมทดลองใช้บริการ สามารถติดต่อไปที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้
เทคโนโลยี 5G ต้นแบบสถานีอัจฉริยะแห่งแรกของไทยและอาเซียน
ภายในสถานีกลางบางซื่อมีไฮไลต์สำคัญคือ การนำเทคโนโลยี 5G ที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อยกระดับการให้บริการ อาทิ
- เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ ที่สมารถพูดคุยตอบโต้ได้หลายภาษา เพื่อให้บริการข้อมูลการเดินทาง นำทางในสถานี และแนะนำเส้นทางการท่องเที่ยวแก่ผู้โดยสาร รวมถึงการรักษาความปลอดภัยภายในสถานี
- ปัญญาประดิษฐ์เพื่อความปลอดภัย ส่งสัญญาณแบบ Realtime ตรวจจับบุคคลที่เดินล้ำเส้นเหลืองในทันที และระบบจะวิเคราะห์ผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้
- แอปพลิเคชั่นที่ให้ข้อมูลเพื่ออำนวยสะดวกในการเดินทาง
- Automation Wheelchair รถเข็นอัจฉริยะ เพื่อสูงอายุและผู้ทุพลภาพ สามารถสื่อสารกับหุ่นยนต์ได้จริง
จุดเด่นของรถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงจะให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่ทันสมัย มีความสะดวกสบาย ปลอดภัย ตรงเวลา เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างย่านใจกลางเมืองด้วยความรวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ เหล่านี้นับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชนไปยังชานเมือง และช่วยลดความแออัดของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะใช้ให้บริการในโครงการมีรายละเอียด ดังนี้
ตัวรถไฟ
-
รถไฟ : HITACHI
-
ความเร็วสูงสุด ในการออกแบบ : 160 กม./ชม.
-
ความเร็วสูงสุด ในการให้บริการ : 120 กม./ชม.
ขบวนรถไฟ
ขบวนรถไฟแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.ขบวน 4 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,126 คน
2. ขบวน 6 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,714 คน
หมายเหตุ : ทั้งนี้ ปริมาณจำนวนผู้โดยสารอาจมีการเปลี่ยนแปลง
ระบบราง
ขนาดรางมีความกว้าง 1,000 มม. (Meter-gauge track) ใช้แหล่งจ่ายไฟเป็นระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือศีรษะ (Overhead Catenary System : OCS) แรงดันไฟฟ้า 25 kV
ปัจจุบัน งานก่อสร้างสถานีรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ก่อสร้างเสร็จไปแล้วทั้งสิ้น 13 สถานี
สถานีช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย
- สถานีกลางบางซื่อ : อยู่บริเวณชุมทางรถไฟบางซื่อ
- สถานีจตุจักร : อยู่บริเวณบ้านพักนิคมรถไฟ กม.11
- สถานีวัดเสมียนนารี : ใกล้กับวัดเสมียนนารี
- สถานีบางเขน : ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฝั่งประตูวิภาวดี)
- สถานีทุ่งสองห้อง : ใกล้กับกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจ
- สถานีหลักสี่ : หน้าอาคารไอทีสแควร์
- สถานีการเคหะ : ใกล้กับแฟลตการเคหะฯ ดอนเมือง
- สถานีดอนเมือง : บริเวณตลาดใหม่ดอนเมือง (ตรงข้ามอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมือง)
- สถานีหลักหก : บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก และมหาวิทยาลัยรังสิต
- สถานีรังสิต : บริเวณหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี
สถานีช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ประกอบด้วย
- สถานีกลางบางซื่อ : บริเวณชุมทางรถไฟบางซื่อ
- สถานีบางซ่อน : บริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีบางซ่อน
- สถานีบางบำหรุ : เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางบำหรุ-บางกะปิ) ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต
- สถานีตลิ่งชัน : บริเวณซอยฉิมพลี 12
ข้อดีของรถไฟฟ้าสายสีแดง
- ช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดบริเวณจุดตัดถนนกับทางรถไฟจำนวน 8 จุด จึงช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้
- สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถไฟทางไกลสายเหนือและสายอีสาน รองรับการเดินรถที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สามารถจูงใจให้คนหันมาใช้บริการรถไฟมากขึ้น โดยคาดว่าเมื่อเดินรถแล้วระบบรถไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ และเมื่อขยายโครงการจากบางซื่อไปชุมทางบ้านภาชีในอนาคต จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีประมาณ 449,080 คน/วัน
- สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถระบบรถไฟชานเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ซึ่งจะช่วย ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของประเทศได้อย่างมาก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แผนที่รถไฟฟ้าสายสีแดง
- สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต
ช่วงรังสิต-มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงและช่วงหัวลำโพงมหาชัย
- สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน
ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชและช่วงบางซื่อ-หัวหมาก