x close

ย้อนคำสั่งอายัดทรัพย์ปู คดีจำนำข้าว โดนขายทอดตลาดไปกว่า 49 ล้าน ก่อนศาลสั่งเพิกถอน


           เปิดคำวินิจฉัยศาลปกครองกลาง เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน คดีจำนำข้าว พร้อมยกเลิกอายัดทรัพย์ ทั้งที่โดนขายทอดตลาดไปแล้ว 49.51 ล้านบาท

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

           จากกรณีศาลปกครองกลาง มีคำสั่งพิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งของกระทรวงการคลัง กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องชดเชยสินไหม 35,000 ล้านบาท ในโครงการรับจำนำข้าว อีกทั้งยังมีคำสั่งยกเลิกการขายทรัพย์สินทอดตลาด เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหาย และคำสั่งดังกล่าว ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น

           อ่านข่าว : ศาลพิพากษา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ต้องชดใช้คดีจำนำข้าว ยกเลิกอายัดทรัพย์สิน

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ (2 เมษายน 2564) เว็บไซต์ศาลปกครอง ได้เผยคำวินิจฉัยศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

           โดยเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่บุคคลที่มีอำนาจสั่งการเพียงผู้เดียว แต่เป็นการดำเนินการผ่านคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกทั้งยังมีส่วนราชการอื่น ๆ ที่ร่วมพิจารณาด้วย จึงยกเลิกคำสั่งอายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดไปด้วย

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สำหรับสาระสำคัญคำวินิจฉัยของศาลปกครองสรุปได้ ดังนี้

           - การดำเนินโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ต้องดำเนินการตามมติ ครม. และเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ลำพังอดีตนายกฯ ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้ และมีอำนาจหน้าที่เพียงการกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไป ระดับมหภาคของโครงการ ไม่ได้มีอำนาจในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี จึงไม่อาจรับรู้ข้อมูล การปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำผิดในระดับปฏิบติ

           - เมื่อมีการทุจริต น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง, มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตควบคู่กับการใช้มาตรการทางปกครอง ตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว จึงถือได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เพิกเฉยละเลย แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว

           - กรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือถึงรัฐบาล เป็นเพียงข้อเสนอแนะนำให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป ไม่ใช่เป็นคำสั่งทางปกครองที่อดีตนายกฯ ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าละเว้น เพิกเฉย ละเลย ไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการตรวจสอบ

           - ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในชั้นการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด การกำหนดสัดส่วนให้อดีตนายกฯ รับผิด จึงมิได้เป็นไปตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 แต่อย่างใด ประกอบกับข้อ 8, 9, 10, 11 และ 17 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อ่านฉบับเต็ม >>คลิก<<

ยกเลิกคำสั่งอายัดทรัพย์สิน

           ปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ระหว่างการลี้ภัย ไปใช้ชีวิตในต่างแดน ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุก 5 ปี ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อปี 2560 (อ่านข่าว : จำคุก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 5 ปี ไม่รอลงอาญา คดีจำนำข้าว) และมีคำสั่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้เงินเป็นจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาทในคดีนี้

           ต่อมากระทรวงการคลังขอให้กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม บังคับทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยขออายัดเงินฝากในบัญชีธนาคาร หน่วยลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์และกองทุนต่าง ๆ ซึ่งมีการส่งเงินตามคำสั่งอายัด 7.9 ล้านบาท และการจ่ายเงินให้กระทรวงการคลังไปแล้ว นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้ขอให้กรมบังคับคดียึดที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดอีกหลายรายการ รวมราคาประเมินทรัพย์สินเป็นเงิน 199.2 ล้านบาท

           โดยปี 2562 จากข้อมูลกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า มีการนำทรัพย์สินของอดีตนายกฯ หญิงไปขายทอดตลาดไปแล้ว 3 รายการ รวมเป็นเงิน 49.51 ล้านบาท และทรัพย์รายการที่เหลืออยู่ในขั้นตอนของการประกาศขายทอดตลาด

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

           ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นเรื่องนี้ต้องศาลปกครองกลาง เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ทว่าเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ระบายในเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ระบุว่า นอกจากตัวเองจะต้องพลัดพรากจากลูก จากครอบครัวและจากพี่น้องประชาชนมาอยู่ต่างแดนแล้ว ยังต้องสูญเสียบ้าน ทรัพย์สิน บัญชีธนาคาร รวมถึงทรัพย์สมบัติส่วนตัวที่หามาตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จนมาเป็นนายกฯ และสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตอบแทนตน

           ตนสูญเสียบ้านและขณะนี้ทรัพย์สินของตนก็กำลังถูกกรมบังคับคดีประมูลชิ้นต่อชิ้น ตนใช้ข้อต่อสู้ทางกฎหมายทุกรูปแบบแล้วแต่ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ ตนได้ร้องต่อศาลปกครองในคดีนี้เพื่อไม่ให้มีการยึดทรัพย์ แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยึดอำนาจ และจนถึงปัจจุบันมาตรา 44 ก็ยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่อยู่ ทุกคนจึงเร่งดำเนินการกับคดีตนโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เพราะจริง ๆ แล้วคดีต้องรอคำพิพากษาศาลปกครองที่ถึงที่สุดว่าตนแพ้คดีก่อน จึงจะสามารถนำทรัพย์เหล่านั้นมาขายทอดตลาดได้ เป็นการถูกกระทำที่ไม่เหมือนใครในประวัติศาสตร์

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ขอบคุณข้อมูลจาก กระทรวงยุติธรรม, ศาลปกครอง




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนคำสั่งอายัดทรัพย์ปู คดีจำนำข้าว โดนขายทอดตลาดไปกว่า 49 ล้าน ก่อนศาลสั่งเพิกถอน อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2564 เวลา 17:22:25 20,755 อ่าน
TOP