รู้จัก เชื้อราดำ เชื้อรามรณะที่มากับโควิดสายพันธุ์อินเดีย ติดแล้วตายครึ่งต่อครึ่ง


           ทำความรู้จัก เชื้อราดำ โรคแทรกซ้อนมรณะ ระบาดในผู้ป่วยโควิดอินเดีย เป็นแล้วรักษายาก ร้ายแรงถึงชีวิต

เชื้อราดำ

           เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า สถาบันวิจัยการแพทย์ของรัฐบาลอินเดีย ออกมาประกาศเตือนให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ให้สังเกตอาการของ เชื้อรามิวคอร์ไมโคซิส (Mucormycosis) ในผู้ป่วยโควิด 19 ที่กำลังรักษาตัวอยู่ และผู้ป่วยที่หายแล้ว เพราะเป็นโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก และอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต

เชื้อรามิวคอร์ไมโคซิส คืออะไร


           มิวคอร์ไมโคซิสมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า black fungus หรือ เชื้อราดำ หรือ เชื้อรามรณะ โดยข้อมูลจากบีบีซี ระบุว่า การติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสเชื้อรามิวคอร์ ซึ่งปกติแล้วพบได้ในดิน มูลสัตว์ พืช ผัก ผลไม้เน่าเปื่อย แต่ทั้งนี้ก็สามารถพบในอากาศได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงสามารถสูดหายใจเข้าไป แล้วฝังตัวอยู่ในโพรงจมูกได้

           กองทุนเพื่อการศึกษาวิจัยและรักษาโรคติดเชื้อรา เปิดเผยว่า มีรายงานว่าพบเคสเชื้อราชนิดนี้ในหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรีย บราซิล และเม็กซิโก แต่พบมากที่สุดที่อินเดีย

อาการของเชื้อราดำ

           การติดเชื้อราชนิดนี้เป็นไปได้ยาก แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว อาการที่เกิดขึ้น รู้สึกเจ็บปวดในโพรงจมูก เหมือนเป็นไซนัส จมูกอุดตันข้างใดข้างหนึ่ง ปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง ตาบวมและเจ็บ ใบหน้าชา ปวดฟันหรือฟันโยก จมูกเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ มองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน เจ็บหน้าอก เคสที่หนักคือถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น รวมไปถึง เลือดไหลออกจากจมูก หายใจลำบาก ไปจนถึงไอเป็นเลือด

เชื้อราดำ


ภาพจาก Narinder NANU / AFP
 
อันตรายของเชื้อราดำ

           เมื่อร่างกายได้รับเชื้อราดำเข้าสู่โพรงจมูกแล้ว สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อที่สมองและปอด และอันตรายถึงชีวิตได้ หากผู้ติดเชื้อเป็นโรคเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำอย่างรุนแรง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคเอดส์

โควิด เสตียรอยด์ เบาหวาน และเชื้อราดำ - หายนะ

           แพทย์เชื่อว่า เชื้อราดำ ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตถึง 50 เปอร์เซ็นต์ อาจเกิดจากการใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เช่น Dexamethasone ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการหนัก เป็นตัวกระตุ้น

           สเตียรอยด์จะลดการอักเสบในปอด และยับยั้งไม่ให้ปอดได้รับความเสียหายจากเชื้อโคโรนาไวรัส แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน และผู้ป่วยที่สุขภาพร่างกายปกติ

           นายแพทย์อักเชย์ นาอีร์ ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลในมุมไบ กล่าวว่า โรคเบาหวานทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง โรคโควิด 19 ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานหนักขึ้น เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเป็นโควิดและติดเชื้อราดำ การรักษาด้วยสเตียรอยด์จึงเหมือนกับการราดน้ำมันลงบนกองไฟ

การรับมือกับเชื้อราดำ

           นายแพทย์อรุณาโลเก จักรภารติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการแพทย์และกิณวิทยา (ศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาเชื้อรา) และที่ปรึกษาของ กองทุนเพื่อการศึกษาวิจัยและรักษาโรคติดเชื้อ กล่าวว่า เชื้อรามิวคอร์นั้นพบมากอยู่แล้วในอินเดีย ตั้งแต่ก่อนที่โควิดจะแพร่ระบาด

           การรักษาจะต้องดูเป็นบางเคส เคสที่รุนแรงอาจจะต้องได้รับการผ่าตัดเพิ่มเติมด้วย แต่ที่ต้องใช้คือยาต้านเชื้อรา แต่มันก็ไม่ง่าย และใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้ โดยค่ายาต้านเชื้อราอยู่ที่เข็มละ 3,500 รูปี หรือประมาณ 1,485 บาท และต้องฉีดติดต่อกันทุกวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 สัปดาห์เท่านั้น จึงจะเห็นผล

ขอบคุณข้อมูลจาก BBC, Reuters


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก เชื้อราดำ เชื้อรามรณะที่มากับโควิดสายพันธุ์อินเดีย ติดแล้วตายครึ่งต่อครึ่ง อัปเดตล่าสุด 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 15:59:44 18,943 อ่าน
TOP
x close