x close

นายกฯ ตอบสภา ทำไมต้องซื้ออาวุธในตอนนี้ ชี้ซื้อแค่ 1 ใน 3 ของที่ต้องการ


           นายกรัฐมนตรี ย้ำงบกลาโหมจัดหาอาวุธจำเป็นสำหรับป้องกันภัยคุกคามและจัดสรรเพียง 1 ใน 3 ของความต้องการ พร้อมแจงค่าใช้จ่ายจัดซื้อวัคซีน

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ภาพจาก INN

           พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ถึงเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ไม่ต้องการให้มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง แต่สิ่งที่สำคัญที่จะต้องประเมิน คือ ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง จะมีเหตุการณ์สู้รบหรือไม่ หรือความจำเป็นในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบภายในประเทศหรือไม่ ซึ่งเป็นภารกิจของรัฐบาลที่จะต้องดูแล และรัฐบาลใช้งบประมาณในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ รถยานเกราะ เพื่อเตรียมไว้สำหรับรองรับสถานการณ์ที่จะต้องดูแลให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยและเป็นการจัดซื้อจัดหาเพียงจำนวน 1 ใน 3 ของความต้องการทั้งหมด

           ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงค่าใช้จ่ายการจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 ในปี 2563 และปี 2564 รวมทั้งสิ้น 21,134 ล้านบาท และโดยใช้งบกลาง 11,346 ล้านบาท จากงบเงินกู้ 9,877 ล้านบาท

           ซึ่งไม่เพียงแค่จะใช้งบประมาณของกระทรวงเท่านั้น และการพิจารณาใช้งบกลางไม่สามารถตัดสินใจเองได้ แต่จะต้องขออนุมัติและมีกระบวนการตรวจสอบจากองค์กรภายในของรัฐบาลและองค์กรภายนอก ทั้ง สตง.-ป.ป.ท.-ป.ป.ช. ยืนยันไม่เคยถูกละเว้นการตรวจสอบ และสามารถชี้แจงได้ว่า ทำตามกติกากฎหมาย ขณะเดียวกันยืนยันรัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งการพัฒนาวิจัยภายในประเทศ ซึ่งในปี 2563 สถาบันวิจัยจุฬาได้รับงบในการผลิตพัฒนาวัคซีน mRNA  365 ล้านบาท และศูนย์วิจัยไพรเมท ในการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลองจำนวน 35 ล้านบาท รวมใช้งบประมาณกลางปี 2563 จำนวน 400 ล้านบาท

           สำหรับวงเงินกู้จากปี 2563 และปี 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาศักยภาพการผลิตและควบคุมคุณภาพวัคซีนฯ 49 ล้านบาท ไบโอเนท พัฒนาและผลิตวัคซีนงบประมาณ 650 ล้านบาท มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี สำหรับโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติและพัฒนาห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง 562 ล้านบาท และองค์การเภสัชในการขยายศักยภาพการผลิตวัคซีนและการแบ่งบรรจุวัคซีน 239 ล้านบาท อีกทั้งยังมีงบประมาณของไบยาไฟโตฟาร์ม ในการวิจัยและทดสอบวัคซีน 164 ล้านบาท สวทช. โครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบ 200 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วใช้งบประมาณจากเงินกู้และงบกลาง 2,260 ล้านบาทซึ่งนี่คืองบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ

           ขณะที่โครงการความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศโดยบริษัทสยามไบโอซายน์ ใช้งบประมาณกลางปี 2563 จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำมาผลิตภายในประเทศภายใต้มาตรฐานการควบคุมของประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนวัคซีนซิโนแวคการจัดหาจัดซื้อภายในประเทศจำนวนเกือบ 69.1 ล้านโดส โดยมีวัคซีนซิโนแวคจำนวน 8.1 ล้านโดส โดยใช้งบประมาณกลางปี 2564 วงเงิน 5,059 ล้านบาท ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 26 ล้านโดส ใช้งบประมาณ กว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนอีก 35 ล้านโดส 6,378 ล้านบาท นอกจากนี้ค่าฉีดวัคซีน ใช้เงินกู้ปี 2564 วงเงิน 1,520 ล้านบาท และมีค่ารักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท จึงขอยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลประชาชน

           ทั้งนี้ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกประเทศทั่วโลก โดยมุ่งหวังว่าไม่ต้องการให้คนไทยต้องเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว เพราะตนรักประชาชน โดยได้คิดทุกวันว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจะบริหารให้เกิดความทั่วถึงทุกพื้นที่ที่มีความจำเป็น ซึ่งไม่ได้หวังผลประโยชน์ใดตอบแทน

ข้อมูลจาก INN
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นายกฯ ตอบสภา ทำไมต้องซื้ออาวุธในตอนนี้ ชี้ซื้อแค่ 1 ใน 3 ของที่ต้องการ อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2564 เวลา 12:02:35 17,709 อ่าน
TOP