x close

วิวาทะ แม่ค้า VS สรรพสามิต ล่อซื้อน้ำส้ม ท้ามีหลักฐานปรับก็เอามาโชว์ พร้อมแจงทำไมต้องล่อซื้อ

         คืบหน้า ล่อซื้อน้ำส้ม 500 ขวด แม่ค้าเช็กคนสั่งกับคนบุกร้านคือแก๊งเดียวกัน ด้านโฆษกชี้แค่เตือน ไม่ได้ปรับ 12,000 บาท แจงล่อซื้อเยอะเพราะต้องเช็กว่าผลิตจริง ด้านอธิบดีสั่งย้าย 6 จนท. ยันไม่มีนโยบายรังแกประชาชนช่วงโควิด

ล่อซื้อน้ำส้ม , สรรพสามิต

           จากดราม่าที่แม่ค้าออกมาเผยว่า ตนถูกเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตกลุ่มหนึ่ง วางแผนล่อซื้อน้ำส้ม 500 ขวด ก่อนบุกเข้าตรวจพร้อมถามหาใบอนุญาตขายน้ำส้ม พร้อมเรียกเก็บเงินค่าปรับเป็นเงิน 12,000 บาท ซึ่งต่อมา อธิบดีกรมสรรพสามิต สั่งตรวจสอบเหตุเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวแล้วนั้น

           อ่านข่าว : โดนแล้ว ! อธิบดีกรมสรรพสามิต สั่งสอบ ทีมล่อน้ำส้ม-เฉลย ขายปกติต้องมีใบอนุญาตไหม
 
ล่อซื้อน้ำส้ม , สรรพสามิต

          ความคืบหน้าเรื่องนี้ วันที่ 17 มิถุนายน 2564 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 รายงานว่า แม่ค้าคนดังกล่าว เผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่า กลุ่มชายทั้ง 6 คน ทำทีมานั่งกินสเต๊กในร้าน บอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต แล้วก็เข้าไปดูของในร้านว่ามีน้ำอะไรบ้าง ก่อนจะถามว่าน้ำมีใบอนุญาตหรือไม่ จึงบอกไปว่าตนขายออนไลน์ ไม่ได้ทำขายแบบโรงงานใหญ่ เลยไม่รู้ว่าต้องทำใบอนุญาต จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นับน้ำส้มทั้งหมดและคิดค่าปรับ

           ก่อนที่กลุ่มชายดังกล่าวจะเข้ามาที่ร้าน ตนได้ทักแชตเฟซบุ๊กไปสอบถามคนสั่งน้ำส้มว่า จะมารับกี่โมง จะมารับจริงหรือไม่ ปรากฏว่าไม่ตอบ ก่อนจะบล็อกเพจร้านไป เมื่อนำเฟซบุ๊กอื่นไปเช็กดูข้อมูลคนสั่ง พบว่า ชายคนดังกล่าวแต่งกายเป็นเจ้าหน้าสรรพสามิต บางภาพพบว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่มาล่อซื้อน้ำส้ม ขณะนั้นตนไม่ได้อยู่ในร้าน ทำได้แค่ดูกล้องวงจรปิดผ่านมือถือและแคปภาพไว้ ส่วนเงิน 12,000 บาท ที่เสียไปไม่คิดว่าจะได้คืน ก็คงปล่อยให้เรื่องจบไป

           ต่อมาเจ้าตัวได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า โทร. ไปถามที่กรมสรรพสามิตมาแล้ว ไม่ต้องมีใบอนุญาตได้ เนื่องจากเราไม่ได้ตั้งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ขายของเล็ก ๆ ปกติ ขอบคุณทุกออร์เดอร์ที่ให้ความช่วยเหลือขอบคุณสื่อทุกสื่อที่ติดต่อ แต่เราไม่สะดวกจริง ๆ ที่โพสต์ลงไปเพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนตัวเองและแม่ค้าด้วยกัน ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด ๆ ทั้งสิ้น ใครทำอะไรไว้ขอให้ได้รับผลกรรมนั้น

สรรพสามิต โต้อีกทาง ไม่ได้เก็บเงิน 12,000 บาท หากปรับจริงเอาหลักฐานมาโชว์


ล่อซื้อน้ำส้ม , สรรพสามิต

           ด้าน กรมสรรสามิต ออกแถลงใจความว่า กรณีดังกล่าวได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เสียภาษีอย่างถูกต้องว่า มีบางโรงอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน และยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิตนำไปขายยังสถานที่ต่าง ๆ ในพื้นที่เลียบทางด่วนรามอินทรา ซึ่งรายนี้ (เคสน้ำส้ม) เป็นรายที่ 5 เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต จึงได้ทำการให้คำแนะนำเพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบและเสียภาษีสรรพสามิตอย่างถูกต้อง โดยไม่ได้เรียกค่าปรับเงิน จำนวน 12,000 บาท ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

            โฆษกกรมสรรพสามิต ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีน้ำส้มเป็นข้าราชการกรมสรรพสามิตจริงพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 ฝ่ายตรวจสอบป้องกันและปราบปราม แต่ไม่ได้เรียกค่าปรับเงิน 12,000 บาท เพราะการจะปรับต้องมีเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน หากปรับจริงหรือเรียกรับเงินตามที่แม่ค้ากล่าวอ้าง ให้นำหลักฐานมาโชว์ กรณีนี้เป็นแค่การประเมินคร่าว ๆ ให้ทางร้านฟัง ซึ่งอาจเป็นเรื่องไม่ถูกเท่าไร แต่ยืนยันว่าแค่อธิบายให้ฟังไม่ได้ปรับ หลักเกณฑ์ไม่ได้อยู่ที่ร้านเล็กร้านใหญ่ อยู่ที่วิธีการผลิต ถ้าทำเอง ดื่มเอง ขายเองที่ร้าน 10 ขวด 20 ขวดนั้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าผลิตเพื่อจำหน่ายในแง่อุตสาหกรรม มีการปิดผนึก ติดฉลากส่งไปขายตามสถานที่ต่าง ๆ เข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต้องเสียภาษีสรรพสามิต

            ส่วนคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ต้องสั่งให้แม่ค้าผลิตเยอะถึง 500 ขวดแล้วไปล่อซื้อ โฆษกกรม สรรพสามิต กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ชุดที่ไปล่อซื้อเขาต้องการทราบว่า ร้านนี้เข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือไม่ หากไม่ทำแบบนี้ ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าร้านดังกล่าวเปิดผลิตน้ำส้มบรรจุขวดแบบไหน

            เมื่อถามไปที่แม่ค้าน้ำส้มอีกว่าเสียค่าปรับ 12,000 บาท จริงหรือไม่ เพราะโฆษกกรมสรรพสามิต ยืนยันว่าไม่ได้เรียกค่าปรับเงิน ทางแม่ค้าบอกว่า เธอผิดตรงที่ไม่มีหลักฐาน ไม่สะดวกให้ข้อมูลอะไร และไม่สะดวกให้ดูกล้องวงจรปิดในร้าน มีแต่ภาพนิ่งเท่าที่เธอแคปไว้เท่านั้น

เปิดแง่มุมกฎหมาย ถ้าล่อจับอย่างไรรัฐก็ผิด ยันรัฐไม่มีนโยบายรังแกประชาชนช่วงโควิด


ล่อซื้อน้ำส้ม , สรรพสามิต

            ในแง่มุมกฎหมายนั้น เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ระบุว่า ถ้าเป็นการขายตามร้านทั่วไปไม่มีปัญหา ยกเว้นจะเป็นการผลิตน้ำส้มคั้นแบบเข้าข่ายโรงงานผลิตอาหาร คือ ใช้คนงาน 50 คนขึ้นไป หรือใช้เครื่องจักรที่มีกำลังเทียบเท่า 50 แรงม้าขึ้นไป ถ้าไม่ถึงขั้นนี้ก็ไม่เข้าข่ายโรงงานผลิต ไม่ต้องยื่นขออนุญาตตั้งโรงงานผลิต ส่วนถ้าขายน้ำส้มคั้นตามร้านปกติ แต่วันหนึ่งกลับถูกจ้างให้ผลิตเยอะ ๆ แล้วมาดำเนินคดีภายหลัง ศาลเคยตัดสินแล้วว่าเป็นการล่อซื้อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โจทย์เองถือผู้กระทำความผิดด้วยเพราะเป็นผู้ว่าจ้าง คล้ายกับกรณีแก๊งหลอกให้เด็กผลิตกระทงลิขสิทธิ์นั่นเอง

            ขณะที่ ทนายเกิดผล แก้วเกิด ระบุว่า ตามแนวทางคำตัดสิน แบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้มีเจตนาจะทำผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น แต่ถูกออกอุบาย ล่อลวงให้หลงเชื่อ แล้วกระทำตามที่ถูกอุบายนั้น ๆ ซึ่งศาลตีความว่า เป็นการล่อลวงให้ผู้ถูกจับกระทำผิดกฎหมาย ส่วนอีกกรณีที่จะมีความผิดคือทำลักษณะดังกล่าวเป็นประจำอยู่แล้วไม่ว่าจะมีการล่อซื้อหรือไม่ แบบนี้จะเข้าข่ายมีความผิด

ล่อซื้อน้ำส้ม , สรรพสามิต

            ล่าสุด เรื่องเด่นออนไลน์ รายงานว่า นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต มีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ 5 ราย ของสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 ที่ไปล่อซื้อน้ำส้ม ให้ไปประจำที่สำนักงานสรรพสามิต ภาคที่ 10 พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบขอเท็จจริง ประเด็นเรียกรับเงินหรือไม่ หรือประพฤติผิดอะไรนอกเหนือกฎหมายหรือไม่ เพื่อความโปร่งใส หากไม่พบความผิดก็ส่งกลับที่เดิม โดยคำสั่งมีผลวันนี้ (17 มิถุนายน) ยืนยันว่า กรมสรรพสามิตไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ออกรังแกประชาชนไปล่อซื้อในช่วงสถานการณ์โควิด แพร่ระบาดเป็นอันขาด

ล่อซื้อน้ำส้ม , สรรพสามิต

ล่อซื้อน้ำส้ม , สรรพสามิต
ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้เรื่องเด่นออนไลน์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิวาทะ แม่ค้า VS สรรพสามิต ล่อซื้อน้ำส้ม ท้ามีหลักฐานปรับก็เอามาโชว์ พร้อมแจงทำไมต้องล่อซื้อ อัปเดตล่าสุด 17 มิถุนายน 2564 เวลา 15:04:28 20,699 อ่าน
TOP