x close

เปิดมาตรการฟื้น SME ไทยจากภาคเอกชน วิกฤตนี้ที่ต้องช่วยเหลือกัน

เปิดมาตรการจากภาคเอกชน ร่วมช่วยเหลือฟื้นธุรกิจรายย่อยให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด 19 ไปด้วยกัน

สยามพิวรรธน์

           ในช่วงที่วิกฤตโควิด 19 รุนแรงต่อเนื่องมายาวนาน ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย ธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังจะเติบโตกลับต้องกลายเป็นปลาช็อกน้ำ เนื่องจากต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างกะทันหัน รวมถึงการประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ-ปริมณฑลครั้งล่าสุด ก็เหมือนถูกคลื่นซัดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคเอกชนหลายแห่งได้มีการยื่นมือเข้ามาช่วยหาทางรอดให้กับธุรกิจเหล่านี้ เพื่อให้สามารถสู้ต่อไปได้ เราจึงขอยกตัวอย่างมาตรการที่น่าสนใจจากแต่ละองค์กรมาฝากกันค่ะ

1. Siam Piwat

สยามพิวรรธน์

ภาพจาก Siam Piwat

          บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของศูนย์การค้าชื่อดังในประเทศไทย อย่าง สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ไอคอนสยาม และสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือร้านค้ารายย่อยภายในศูนย์การค้าในเครือทั้งหมดให้สามารถฝ่าวิกฤตโควิด 19 ไปด้วยกัน อาทิ

  • ลดค่าเช่าสะท้อนตามสถานการณ์จริง
  • สนับสนุน SME ช่างฝีมือ และเกษตรกร
  • เปิดพื้นที่ของศูนย์การค้า ช่วยเหลือคนไทยและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโควิด แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย
  • เพิ่มช่องทางการขายแบบ Omni Channel ขายสินค้าได้ทั้งออนไลน์และหน้าร้าน ช่วยเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น
  • จัดสัมมนาออนไลน์ให้ความรู้กับคู่ค้าเพื่อเตรียมตัวหลังวิกฤตโควิด 19
  • อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินเชื่อให้คู่ค้าและพันธมิตร

          นอกจากนี้ ยังได้ให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในช่วงที่โควิด 19 ระบาด อาทิ

  • เปิดพื้นที่สำหรับบริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล ที่สยามพารากอนและไอคอนสยาม โดยมีจำนวนผู้มาใช้บริการกว่า 50,000 ราย ระดมทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล
  • มอบชุด PPE 4,000 ชุด และน้ำดื่ม 12,000 ขวด แก่กรุงเทพมหานครเพื่อใช้ด้านสาธารณสุข
  • มอบน้ำ อาหาร และบริการฉีดพ่นฆ่าเชื้อกับชุมชนรอบข้าง

2. MBK Center

สยามพิวรรธน์

ภาพจาก MBK Center

           เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ รวมถึงศูนย์การค้าในเครืออย่าง พาราไดซ์ พาร์ค, พาราไดซ์ เพลส และเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ได้ช่วยร้านค้ารับมือวิกฤตในครั้งนี้ ด้วยมาตรการลดภาระค่าเช่าในทุกศูนย์การค้า 30-70% ไม่เรียกเก็บค่าปรับหากต้องปิดร้าน เปิดพื้นที่ลานโปรโมชั่นให้นำสินค้ามาจำหน่ายได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และทำการตลาดออนไลน์โดยนำสินค้าคุณภาพจากร้านค้าต่าง ๆ ภายในศูนย์ฯ ไปขายออนไลน์ที่ MBK Center@Lazada

3. True

          กลุ่มทรู สนับสนุนแพลตฟอร์ม True Virtual World ให้กลุ่มธุรกิจใช้ทำงานได้ฟรี ทุกที่ ทุกเวลาผ่าน VWORK หรือประชุมผ่าน VROOM ซึ่งลูกค้าทรูมูฟ เอช สามารถใช้งาน True Virtual World ไม่เสียค่าเน็ต ตั้งแต่วันนี้ - 31 ก.ค. 64 และสำหรับผู้ประกอบการร้านค้า สามารถฝากร้านฟรีได้ที่ ทรู สมาร์ต เมอร์ชันต์ (True Smart Merchant) โดยไม่เรียกเก็บค่าตอบแทน

4. AIS

          เอไอเอส ออกมาตรการ “AIS พารอด” ให้ลูกค้าสามารถนำ AIS Points ไปซื้อของและใช้เป็นส่วนลดในร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งพอยต์ที่ร้านค้าได้รับนั้น จะถูกโอนเป็นเงินสดเข้าบัญชีในวันถัดไป และยังร่วมกับแพลตฟอร์มส่งอาหาร Robinhood เปิดแคมเปญ “ร้านเล็กที่คุณรักจากใจเอไอเอส” ออกค่าอาหารให้ 50 บาท เมื่อสั่งอาหารตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป วันละ 3,000 สิทธิ์ ถึง 31 กรกฎาคม 2564

5. Dtac

          ดีแทค บิสิเนส หาทางออกให้ผู้ประกอบการ SME และสตาร์ตอัป ได้แบ่งเบาภาระต้นทุนเกี่ยวกับอุปกรณ์สำนักงานไอที เนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล โดยร่วมกับ บริษัท เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกโปรแกรมเช่าซื้อ-เช่าใช้ อุปกรณ์สำหรับทำงานจาก HP ทั้งคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป โปรแกรมไมโครซอฟต์ออฟฟิศ เครื่องพิมพ์ รวมถึงแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตไม่อั้น ความเร็วสูงสุด 10 Mbps ที่ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการพาธุรกิจก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้

6. SCB, Robinhood

สยามพิวรรธน์

ภาพจาก SCB

           ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และแอปพลิเคชันส่งอาหารเดลิเวอรี่อย่าง Robinhood ออกมาตรการพิเศษ “เราช่วยคุณ คุณช่วยร้าน” บริการส่งอาหารฟรีทุกออร์เดอร์ช่วงล็อกดาวน์ 15 วัน (11-15 กรกฎาคม 2564) ที่นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าแล้วยังได้อุดหนุนร้านเล็ก ๆ ให้อยู่รอดไปด้วยจากการสั่งอาหาร และยังได้ช่วยจ้างงานของเหล่าไรเดอร์อีกทางหนึ่งด้วย

6. Grab

           แกร็บ ประเทศไทย ช่วยลดต้นทุนให้กับกลุ่มร้านค้าออนไลน์ หากใช้บริการรับ-ส่งพัสดุผ่าน Grab Express รับส่วนลดพิเศษสูงสุด 50% มอบแพ็กเกจพิเศษพร้อมคำปรึกษาในการทำโฆษณาบน TikTok และมอบคอร์สเรียนฟรีจาก GrabExpress x Grow with TikTok SME Series เพื่อนำไปปรับใช้เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ และยกระดับทักษะดิจิทัลอีกด้วย

7. Line Man

          อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารโดยตรง ได้ร่วมช่วยเหลือผ่านมาตรการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลดค่า GP หรือค่าส่วนแบ่งการขายที่ร้านต้องจ่ายเหลือ 25% เพื่อเยียวยาร้านอาหารใน 4 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ร้านอาหารสามารถเลือกได้ว่าจะขายแบบ Non GP คือ ไม่เสียเปอร์เซ็นต์ แต่คิดค่าส่งตามระยะทางจริง กับแบบ LINE MAN GP คือ คิดเปอร์เซ็นต์ร้านไม่เกิน 30% แต่ค่าส่งเริ่มที่ 0 บาทได้ ยกเว้นค่า GP หากร้านบริการส่งเอง (Self Delivery) และรับที่ร้าน (Pickup) มีการแจกคูปองส่วนลดให้ร้านเพื่อกระตุ้นยอดขาย และขายดีลพรีออร์เดอร์อาหารล่วงหน้าแบบส่งถึงบ้าน โดยไม่คิดค่า GP

           ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยามวิกฤตโควิด 19 ที่หลายคนต้องเจอกับปัญหาและการใช้ชีวิตที่ลำบากมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ "น้ำใจของคนไทย" ที่มุ่งหวังและช่วยกันประคับประคองให้เราทุกคนผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายครั้งนี้ไปด้วยกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก
บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, MBK Center, SCB, Dtac, Grab, เฟซบุ๊ก AIS Bussiness, เฟซบุ๊ก Wongnai For BusinessTrue Corporation

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดมาตรการฟื้น SME ไทยจากภาคเอกชน วิกฤตนี้ที่ต้องช่วยเหลือกัน อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 10:51:00 4,107 อ่าน
TOP