x close

เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ แถลงค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมคนจัดหาวัคซีน

          เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ แถลงค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมคนจัดหาวัคซีน ชี้จำเป็นต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริง และจะต้องรับผิดทางกฎหมายเพื่อเป็นข้อยืนยันความบริสุทธิ์ใจต่อประชาชน

แถลงการณ์
ภาพจาก  teera.noisakran / Shutterstock.com

          จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง ให้กับคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด 19 โดยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ซึ่งทำให้มีหลายคนออกมาวิจารณ์ว่า เป็นการตีเนียนไปกับด่านหน้าหรือไม่ ทางด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ต้องการสร้างความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น


          ต่อมาทางเพจใกล้มิตรชิดหมอ ออกมาระบุว่า แพทย์หน้างาน ไม่ได้เท่ากับทีมบริหารจัดการวัคซีน เราไม่ใช่พวกเดียวกับคุณ และสิ่งที่พวกคุณทำกับเราก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเดียวกันจะปฏิบัติต่อกัน

อ่านข่าว : หมอจัดหนัก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง อย่ามาเนียนเอาตัวรอด เราไม่ใช่พวกเดียวกับคุณ !


          ล่าสุด (12 สิงหาคม 2564) เฟซบุ๊ก ภาคีบุคลากรสาธารณสุข ได้โพสต์ภาพแถลงการณ์จากเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด 19 พ.ศ.... ที่อาจมีการประกาศใช้ ว่า

- ข้อกฎหมายที่ดูเหมือนจะปกป้องคนทำงาน แต่ครอบคลุมไปถึงคนที่มีอำนาจสั่งการให้ไม่ต้องรับผิดที่บริหารผิดพลาด

          หลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 282 เมื่อ 26 กรกฎาคม 2564 ซึ่งกำหนดให้บุคลากรสาธารณสุข 7 กลุ่ม และสถานพยาบาล 3 ประเภท ไม่ต้องมีความรับผิดทางกฎหมาย ทั้งทางแพ่ง อาญา วินัย และการละเมิดของเจ้าหน้าที่  ได้นำไปสู่ข้อถกเถียงและคัดค้านอย่างมากในสังคม โดยเฉพาะในเนื้อหาสาระของข้อ 7 ในร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ  ซึ่งระบุว่า

          "บุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน" จะได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ทั้งทางแพ่ง อาญา วินัย และการละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยกำหนดเงื่อนไขยกเว้นความผิดไว้ 3 กรณี คือ

          1. ทำตามที่ถูกแต่งตั้ง/มอบหมาย

          2. ไม่ได้จงใจให้เกิดความเสียหาย เว้นแต่เพื่อประโยชน์ราชการ

          3. ไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เเละให้มีผลย้อนหลัง ตั้งเเต่วันที่ 1 มีนาคม 2563

          ข้อกฎหมายดังกล่าวโหมคำถามขึ้นในสังคมว่า จริงหรือไม่ที่หากมองเผิน ๆ ร่าง พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว ดูราวกับเป็นการปกป้องบุคลากรการเเพทย์ระดับปฎิบัติงาน แต่แท้จริงแล้วตีความและกินความไปถึงการปกป้องผู้มีอำนาจบริหารสั่งการ ให้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารงานที่ผิดพลาด ?

- ปลัด สธ. ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐหามาตรการคุ้มครอง ทั้งที่มีกฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว

          อย่างไรก็ตามท่ามกลางเสียงคัดค้านของสังคม วานนี้ (11 สิงหาคม 2564)  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารและสภาวิชาชีพด้านสุขภาพได้ออกแถลงการณ์ "ขอให้รัฐบาลหามาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนนักวิชาการด้านโควิด-19 ป้องกันความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานโดยสุจริตใจ" ซึ่งสอดรับกับแนวทางการผลักดันร่าง พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว แม้ว่าจะมีกฎหมายที่ปกป้อง "ความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานอย่างสุจริตใจ" ของบุคลากรทางการแพทย์อยู่แล้วในกฎหมายฉบับอื่น ๆ

- ต่อให้ทำงานผิดพลาด แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ก็ย่อมเข้าใจได้ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรอย่างรุนแรง

          เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ขอแสดงจุดยืนว่าในสถานการณ์วิกฤต หากบุคลากรทางการแพทย์ท่านใดยึดมั่นทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพและปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ไม่ว่าท่านกำลังปฏิบัติงานด่านหน้าในภาวะยากลำบาก หรือกำลังให้คำแนะนำทางวิชาการเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจสำคัญต่าง ๆ เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ข้อผิดพลาดนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในเงื่อนไขของการปฏิบัติงานภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรอย่างรุนแรง

- การทำงานในช่วงโควิด ถ้าเกิดความผิดพลาดโดยสุจริตใจก็มีกฎหมายอื่นคุ้มครองอยู่

          อีกทั้งการปฏิบัติงานในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 หากเกิด "ความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานอย่างสุจริตใจ" ยังได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. อื่น ๆ อีกจำนวนมากซึ่งคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองเพิ่มเติมที่อาจเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจบริหารสั่งการแต่อย่างใด

- การออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง อาจทำให้ตรวจสอบผู้มีอำนาจบริหารสั่งการให้ไม่ต้องรับผิดชอบได้

          ทางเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ขอยืนยันว่าการพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ โดยรัฐบาล รวมถึงการออกเเถลงการณ์ขอมาตรการคุ้มครอง โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารและสภาวิชาชีพฉบับดังกล่าว อาจส่งผลนำไปสู่การสกัดกั้นกระบวนการตรวจสอบผู้มีอำนาจบริหารสั่งการให้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างเป็นธรรมได้

- ยืนยันว่าต้องมีการตรวจสอบ และรับผิดทางกฎหมายเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจต่อประชาชน

          อีกทั้งหากมีการบริหารจัดการต่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยบุคคลหรือหมู่คณะใดซึ่งนำมาสู่ความเสียหายทั้งในทางชีวิตของประชาชน การสูญเสีย และความเจ็บปวด ด้วยวิถีที่ผิดแผกจากความสุจริตหรือพ้นไปจากหลักวิชาชีพ เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และจะต้องรับผิดทางกฎหมายเพื่อเป็นข้อยืนยันความบริสุทธิ์ใจต่อประชาชน

          เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมลงชื่อคัดค้านร่าง พ​.​ร​.​ก.จำกัดความรับผิดฯ ฉบับนี้ได้ทาง Change.org/AmnestyBill

          เครือข่ายบุคลากรทางการเเพทย์

          12 สิงหาคม 2564

          #คัดค้านพรกนิรโทษกรรมวัคซีน

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ภาคีบุคลากรสาธารณสุข



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ แถลงค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมคนจัดหาวัคซีน โพสต์เมื่อ 12 สิงหาคม 2564 เวลา 22:11:48 6,598 อ่าน
TOP