น้ำมันไทย ทำไมต้องส่งออก ทั้ง ๆ ที่ยังต้องนำเข้ามาใช้ในประเทศ

           ตอบคำถามคาใจ ทำไมไทยต้องส่งออกน้ำมัน ทั้ง ๆ ที่ยังใช้ภายในประเทศไม่เพียงพอ แถมยังต้องนำเข้าน้ำมันบางส่วนมาใช้บริโภคด้วย
น้ำมันไทย

           ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการส่งออกน้ำมันในมูลค่าที่ไม่น้อยในแต่ละปี แต่นั่นก็ทำให้หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาว่า ในเมื่อไทยมีทั้งแหล่งปิโตรเลียม อุปกรณ์ขุดเจาะ และโรงกลั่นน้ำมันเป็นของตัวเอง แต่ทำไมถึงไม่ผลิตน้ำมันใช้เองให้เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศก่อน แล้วค่อยส่งออกไปจำหน่ายให้ต่างประเทศ แถมยังต้องนำเข้าน้ำมันมาใช้อีกด้วย วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกันค่ะ
แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีที่ไหนบ้าง ?
น้ำมันไทย

น้ำมันไทย

          ประเทศไทยมีแหล่งปิโตรเลียมอยู่จำนวนมากก็จริง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแอ่งตะกอนเล็ก ๆ กระจายอยู่หลายที่ทั้งบนบกและในอ่าวไทย ซึ่งแหล่งที่รู้จักกันดี ได้แก่ แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร แหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และแหล่งน้ำมันอู่ทอง-สังฆจาย จ.สุพรรณบุรี ซึ่งปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้จากแหล่งต่าง ๆ เหล่านี้มีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ของคนในประเทศ อีกทั้งน้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาบางแหล่งก็มีสารปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนักในปริมาณสูง ต้องอาศัยเวลาและใช้อุปกรณ์เฉพาะในการกำจัดและนำไปทิ้งก่อน หากนำมาใช้โดยที่ไม่ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการกลั่นให้เหมาะสม สารดังกล่าวก็จะกัดกร่อนทำให้ชิ้นส่วนของโรงกลั่นหรือภายในเครื่องยนต์เสียหายได้

          นอกจากนี้การจะหาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านหลายกระบวนการและใช้เวลาหลายปี ทั้งการสำรวจ สร้างแท่นขุดเจาะ ไปจนถึงการตั้งแท่นผลิต ซึ่งใช้ต้นทุนสูงมาก ดังนั้นจึงต้องมีการคำนวณความคุ้มค่าก่อนจะเริ่มลงทุนด้วย 

ไทยมีแหล่งปิโตรเลียม
แต่ทำไมผลิตน้ำมันใช้เองได้น้อย ?
น้ำมันไทย

          อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า น้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาจากบางแหล่งในประเทศมีโลหะหนักปนเปื้อนสูง ไม่เหมาะกับโรงกลั่นของไทย หากโรงกลั่นรับซื้อน้ำมันดิบส่วนนี้ไป ก็เท่ากับว่าจะเพิ่มต้นทุนการกลั่นและค่าปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้เหมาะสม และจะยิ่งทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันแพงขึ้น สุดท้ายแล้วภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็จะตกไปอยู่ที่ผู้บริโภค ซึ่งถือว่าไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ เพราะใช้เงินสูงแต่ได้ผลตอบแทนต่ำ

ไทยส่งออกน้ำมันไปที่ไหนบ้าง ?

          จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปี 2564 การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านลิตรต่อวันของน้ำมันทั้งหมดที่ผลิตได้ โดยจะพิจารณาส่งออกเฉพาะส่วนที่จำเป็น  

          ส่วนราคาน้ำมันส่งออกนั้นก็จะสูงกว่าราคาของตลาดประเทศ ตามแนวทางของผู้รับสัมปทานที่กำหนด โดยภาครัฐมีกฎหมายกำกับอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้สามารถจัดเก็บรายได้ได้มากกว่า เพราะมีทั้งการเก็บค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศด้วย

ทำไมต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ?
น้ำมันไทย

          ในเมื่อมีการใช้น้ำมันในหลายภาคส่วน ทั้งการผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง การเกษตร รวมถึงในครัวเรือน จึงจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันบางชนิดเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้น้ำมันที่สมดุลกับการใช้งานภายในประเทศ เช่น น้ำมันดิบ มากลั่นเบนซินเพิ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้ของคนในประเทศ ประมาณ 30 ล้านลิตรต่อวัน 

          แต่ในกระบวนการกลั่นก็ได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ ด้วย เช่น น้ำมันดีเซล ในปี 2564 สามารถผลิตได้ประมาณ 74 ล้านลิตรต่อวัน แต่มีความต้องการใช้ประมาณ 66 ล้านลิตรต่อวัน จะเห็นได้ว่ามีส่วนเกินเยอะ ดังนั้นส่งออกไปขายต่างประเทศจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ไทยกำหนดราคาน้ำมันเองได้หรือไม่ ?
น้ำมันไทย

          ถึงแม้ทุกประเทศจะสามารถกำหนดราคาน้ำมันได้เองตามนโยบายของตน แต่เนื่องจากน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อ-ขายกันทั่วโลก ดังนั้นประเทศที่ไม่สามารถผลิตน้ำมันได้เอง หรือผลิตได้ไม่พอใช้ จึงต้องนำเข้าอย่างประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องใช้ราคาอ้างอิงราคาตลาดเพื่อเป็นหลักในการกำหนดราคา โดยประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทย ที่นำเข้าน้ำมันเป็นหลักนั้น อ้างอิงราคาน้ำมันดิบจากสิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศที่มีตลาดการส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และที่เห็นว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปบ้านเราต่างจากเพื่อนบ้าน เป็นเพราะโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปตามนโยบายรัฐที่แตกต่างกันนั่นเอง

          มาถึงตรงนี้คงพอทราบกันแล้วว่า แม้ประเทศไทยจะมีแหล่งปิโตรเลียมเป็นของตัวเอง แต่ก็มีในปริมาณน้อย และคุณภาพของน้ำมันดิบไม่เป็นที่ต้องการของโรงกลั่นภายในประเทศ เพราะเมื่อกลั่นแล้วจะให้ผลผลิตเป็นน้ำมันเบนซินในสัดส่วนที่สูง จึงไม่เหมาะกับตลาดผู้ใช้น้ำมันภายในประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลสูง การส่งออกน้ำมันดิบที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมจึงช่วยสร้างมูลค่าให้กับน้ำมันส่วนเกินและสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วยนั่นเอง

หมายเหตุ : สถิติการจัดหาและใช้น้ำมัน ระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ค. ปี 2564 จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำมันไทย ทำไมต้องส่งออก ทั้ง ๆ ที่ยังต้องนำเข้ามาใช้ในประเทศ อัปเดตล่าสุด 8 กันยายน 2564 เวลา 09:12:03 22,860 อ่าน
TOP
x close