x close

รู้จัก คริกเก็ต กีฬาสุดดังของอินเดีย เล่นอย่างไรให้สนุก

           กีฬาคริกเก็ต (Cricket) แม้จะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไร แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะอินเดีย บอกเลยว่าฮิตสุด ๆ ถ้าไม่อยากตกเทรนด์ มาทำความรู้จักกีฬาชนิดนี้ให้มากขึ้นกัน
กีฬาคริกเก็ต

           เมื่อเอ่ยถึงกีฬาคริกเก็ต หลายคนก็คงสงสัยว่า Cricket คืออะไร ? คริกเก็ตเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ถึงแม้จะยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในไทยเมื่อเทียบกับกีฬาอื่น ๆ อย่างฟุตบอล ว่ายน้ำ เทควันโด เป็นต้น แต่ในต่างประเทศก็มีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะอินเดียนั้น ที่เรียกว่าเล่นจริงจังจนมีการจัดการแข่งขันยิ่งใหญ่ในระดับโลก กระปุกดอทคอมอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกีฬาคริกเก็ต ทั้งเรื่องกติกา อุปกรณ์กีฬา จำนวนผู้เล่น ช่วงเวลาแข่งขัน และเรื่องน่ารู้ของกีฬาชนิดนี้กันให้มากขึ้น และเชื่อว่าถ้าได้ลองติดตามดูสักครั้งจะติดใจและสนุกสนานมากเลยทีเดียว
คริกเก็ต ภาษาอังกฤษ คือ Cricket

ประวัติกีฬาคริกเก็ต

          คริกเก็ตมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษตั้งแต่ยุคสมัยล่าอาณานิคม คาดว่าน่าจะก่อนปี ค.ศ. 1550 และยังแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา และออสเตรเลีย เป็นต้น โดยเฉพาะอินเดียชื่นชอบคริกเก็ตอย่างมาก ถึงขนาดจัดการแข่งขัน "อินเดียน พรีเมียร์ลีก" (Indian Premier League: IPL) หรือลีกคริกเก็ตในประเทศอินเดีย ซึ่งคนอินเดียจะให้ความสำคัญกับผู้เล่นแต่ละคนดั่งวีรบุรุษ และได้รับค่าตัวแพงที่สุดในบรรดานักกีฬาทุกประเภทของอินเดีย แถมเงินรางวัลก็สูง และแม้แต่ดาราดังอย่าง ชาห์รุข ข่าน (Shahrukh Khan) ก็ยังหันมาตั้งทีมคริกเก็ตของตัวเองชื่อว่า โกลกาตา (Kolkata Knight Riders)

กีฬาคริกเก็ตในประเทศไทย

          คริกเก็ตได้เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกราว ๆ ปี ค.ศ. 1890 โดยเริ่มมีการจัดการแข่งขัน Thailand Cricket League (TCL) เรื่อยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 ทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งมีการจัดตั้งสมาคมคริกเก็ตแห่งประเทศไทยขึ้น มีนักกีฬาคริกเก็ตทีมชาติไทยทั้งทีมชายและหญิงร่วมแข่งขันทั้งในลีกไทยและลีกต่างประเทศอยู่เสมอ

สนามคริกเก็ต

กีฬาคริกเก็ต

          มีลักษณะเป็นรูปวงรีเกือบกลม พื้นสนามเป็นหญ้าคล้ายสนามฟุตบอล ตรงกลางสนามมีกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าไว้สำหรับขว้างและตีลูก ซึ่งเรียกว่า Pitch ความยาวประมาณ 20.12 เมตร ความกว้างประมาณ 3.05 เมตร โดยจะมีเส้นที่เรียกว่าเส้นปลอดภัยอยู่ภายในกรอบทั้ง 2 ฝั่ง อยู่ห่างกันประมาณ 17.68 เมตร และในลาน Pitch จะมีเสาไม้ 3 เสา วางเชื่อมกันด้วยตัวหนอน 2 ตัว เรียกว่า วิกเก็ต (Wicket)

อุปกรณ์คริกเก็ต

กีฬาคริกเก็ต

  • ไม้ตี
  • ลูกบอล
  • ถุงมือ
  • หมวก
  • เครื่องป้องกันสีข้าง
  • เครื่องป้องกันหน้าแข้ง
  • กระจับ
  • ถุงมือคีปเปอร์

เวลาการแข่งขัน

           การเล่นคริกเก็ต 1 เกม จะแบ่งการเล่นเป็น 2 ช่วง (Innings) แข่งกัน 2 ทีม โดยกัปตันทีมจะเสี่ยงทายหัว-ก้อย เพื่อเลือกว่าทีมใดจะเป็นฝ่ายเล่นก่อน โดยสามารถเลือกได้ว่าจะเป็น “ทีมรับ” หรือ “ทีมตี” ก็ได้

ผู้เล่นคริกเก็ต

          มีผู้เล่นทีมละ 11 คน แบ่งเป็นทีมรับและทีมตี

กีฬาคริกเก็ต

ทีมตี - เลือกผู้เล่น 2 คนลงสนาม

  • ผู้ตี (Batter) คนที่ 1 ยืนอยู่หน้าเส้นวิกเก็ตหรือเส้นปลอดภัย

  • ผู้ตี (Batter) คนที่ 2 ยืนอยู่หลังเส้นปลอดภัย ฝั่งตรงข้ามของผู้ตีคนที่ 1 ด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ 

ทีมรับ - ผู้เล่นทั้ง 11 คนลงสนามทั้งหมด

  • ผู้ขว้าง (Bowler) จะยืนหลังวิกเก็ต โดยอยู่หลังกรรมการคนที่ 1 ทำหน้าที่ขว้างลูกให้ไปโดนแท่งไม้ที่ตั้งไว้บนสนาม 3 แท่ง ซึ่งเรียกว่า Wickets

  • ผู้รักษาวิกเก็ต (Wicket Keeper) จะยืนหลังวิกเก็ตฝั่งเดียวกับผู้ตีคนที่ 1

  • ผู้รับ (Fielders) อีก 9 คน จะยืนในสนามตำแหน่งใดก็ได้แต่ต้องอยู่นอกลาน Pitch

กติกาการเล่นคริกเก็ต

วิธีการเล่นกีฬาคริกเก็ต โดยสมาคมกีฬาคริกเก็ตแห่งประเทศไทย (Cricket Thailand)

ทีมตี

  • ผู้ตี (Batter) คนที่ 1 จะมีหน้าที่ตีบอลที่ถูกขว้างมา (ทิศทางใดก็ได้ 360 องศา) ถ้าตีโดนจะต้องรีบวิ่งให้เข้ามาในเส้นปลอดภัยของอีกฝั่ง ก่อนที่ผู้รับจะรับลูกบอลได้แล้วโยนลูกบอลกลับมาทำลายวิกเก็ต

  • โดยผู้ตีทั้งสองจะวิ่งสวนกันกี่รอบก็ได้เพื่อเก็บคะแนน ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ของผู้ตีที่จะสามารถเข้ามาในเส้นปลอดภัยของอีกฝั่งได้ก่อนที่วิกเก็ตจะถูกทำลาย

  • ซึ่งหากวิกเก็ตถูกทำลาย ผู้ตีฝั่งวิกเก็ตนั้นจะต้องออกจากการแข่งขัน (Run Out) และไม่สามารถกลับมาตีได้อีก ทีมตีจะต้องส่งผู้ตีคนใหม่มาแทน

ทีมรับ

  • ผู้ขว้าง (Bowler) จะมีหน้าที่ขว้างบอลเพื่อทำลายวิกเก็ต ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เล่นทีมตีต้องออกไป โดยบอลที่ขว้างต้องกระทบบนลาน Pitch 1 ครั้ง ก่อนที่บอลจะลอยไปถึงเป้าหมาย หากขว้างเสียจะทำให้อีกฝ่ายได้คะแนน

  • ลูกที่ขว้างเสีย 1 ลูก จะได้ 1 คะแนน

  • เมื่อขว้างลูก 6 ครั้ง จะเรียกว่า 1 โอเวอร์ (Over) โดยแต่ละเกมจะมีการกำหนดไว้ว่าจะเล่นกี่โอเวอร์ ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ 10 โอเวอร์, 20 โอเวอร์ หรือมากสุดที่ 50 โอเวอร์

  • ยกเว้นแต่ทีมนั้นจะมีผู้ตีออกจากสนามครบ 10 คน ก่อนจะเล่นครบโอเวอร์

  • เมื่อจบโอเวอร์หนึ่งแล้ว ฝ่ายสนามสามารถเปลี่ยนผู้ขว้างได้

  • ผู้รักษาวิกเก็ต (Wicket keeper) จะมีหน้าที่คอยรับหรือหยุดบอลจากผู้ขว้างหากผู้ตีตีลูกพลาด นอกจากนี้ยังคอยรับลูกที่ถูกตีโดยไม่ให้ลูกกระทบพื้นก่อนด้วย

กีฬาคริกเก็ต

วิธีที่ทีมรับจะทำให้ทีมผู้ตีออกจากการแข่งขัน ได้แก่

  • ขว้างโดนวิกเก็ต

  • รับบอลที่ถูกตีได้ก่อนจะตกพื้น

  • ผู้รับเก็บบอลได้และใช้ลูกบอลทำลายวิกเก็ตก่อนที่ผู้ตีจะวิ่งถึงเขตปลอดภัย

การทำแต้ม

           โดยเป้าหมายของฝ่ายลงสนามคือการทำให้ฝ่ายตีออกจากสนามให้ครบ 10 คนให้ได้นั่นเอง

ทีมตี

  • ตีลูกและวิ่งไปยังไม้วิกเก็ตอีกฝั่งหนึ่งก่อนที่ฝ่ายสนามจะโยนลูกไปโดนไม้วิกเก็ตฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เมื่อมือตีทั้ง 2 คนวิ่งไปสุดทางวิ่งแล้วจึงนับเป็น 1 คะแนน แต่ผู้ตีสามารถตัดสินใจได้ว่าจะไม่วิ่งออกไปก็ได้ถ้าเห็นว่าลูกนั้นเสี่ยงถูกทำให้ออกจากสนาม หรือจะวิ่งมากกว่า 1 คะแนนก็ได้ถ้าเห็นว่าฝ่ายสนามไม่สามารถโยนบอลเข้ามาได้ทัน

  • ตีลูกให้ออกจากสนามโดยที่ลูกกระดอนหรือสัมผัสพื้น นับเป็น 4 คะแนน

  • ตีลูกให้ออกจากสนามโดยที่ลูกลอยออกหรือไม่สัมผัสพื้นเลย นับเป็น 6 คะแนน

ทีมรับ

  • ผู้ขว้าง (Bowler) ทำหน้าที่เป็นคนขว้างลูกให้มือตี (Batsman) โดยต้องทำให้ฝ่ายตีออกจากสนามให้มากที่สุด โดยมีหลายวิธีคือ

    • ขว้างลูกให้โดนไม้วิกเก็ต (wickets) ที่อยู่ด้านหลังของมือตี

    • ขว้างลูกให้โดนขาของมือตีที่อยู่ด้านหน้าของไม้วิกเก็ต

    • รับลูกที่มือตีตีออกมาโดยที่ลูกยังไม่สัมผัสพื้นหรือออกจากสนาม

    • โยน ขว้าง หรือปาลูกไปโดนไม้วิกเก็ตก่อนที่มือตีจะวิ่งมาถึงสุดเส้นของลานวิ่ง ถ้าโดนไม้วิกเก็ตฝั่งไหน มือตีที่ยืนฝั่งนั้นก่อนจะเริ่มเล่นลูกนั้นต้องออกจากสนาม

การจบเกมหรืออินนิ่ง

           หากเล่นจนครบจำนวนโอเวอร์ที่กำหนดไว้หรือหมดผู้ตีแล้ว เมื่อจบอินนิ่งที่ 1 แล้วจะเริ่มอินนิ่งที่ 2 โดยสลับทีมกัน จากผู้ตีเป็นผู้รับ จากผู้รับเป็นผู้ตี และเมื่อจบเกมจะตัดสินจากคะแนนการแข่งขัน โดยฝ่ายใดทำคะแนนได้สูงกว่าฝ่ายนั้นจะชนะ

          เป็นอย่างไรบ้างคะกับกีฬาคริกเก็ต เราได้รู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา กติกาการเล่น การได้แต้มกันไปบ้างแล้ว เอาเป็นว่าถ้าหากมีโอกาสได้เป็นผู้เชียร์ก็จะได้เข้าใจมากขึ้นเนอะ
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก คริกเก็ต กีฬาสุดดังของอินเดีย เล่นอย่างไรให้สนุก อัปเดตล่าสุด 9 กันยายน 2564 เวลา 13:45:44 34,915 อ่าน
TOP