x close

เรียนอย่างไรให้มีความสุข กับเทคนิคง่าย ๆ จากเด็ก KVIS

           เปิดประสบการณ์ตรงจากนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) แชร์เคล็ดลับเรียนเก่งสไตล์เด็กวิทย์ เพื่อเป็นแนวทางปรับใช้พิชิตฝันของตนเองให้สำเร็จ

KVIS

         โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ถือเป็นสถาบันการศึกษาในฝันสำหรับเด็กสายวิทย์ ในแต่ละปีจะมีนักเรียนจากทั่วประเทศมาสมัครเป็นจำนวนมาก ฝ่าฟันการสอบคัดเลือกต่าง ๆ โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือ การเข้าศึกษาในสถานะนักเรียน KVIS และหากนี่คือภาพตัวแทนของเด็กเก่งระดับประเทศ เราจึงถือโอกาสนี้ไปพูดคุยกับตัวแทนน้อง ๆ นักเรียน KVIS ในแต่ละชั้นปี เพื่อค้นหาเทคนิคการเรียนและการใช้ชีวิตในวัยมัธยมฯ มาฝาก ซึ่งแต่ละคนมีเทคนิคส่วนตัวอะไร ที่ทำให้การเรียนสายวิทย์ไม่เป็นเรื่องยากเกินความสามารถ ตามมาดูกันเลย
KVIS

“โรงเรียนกำเนิดวิทย์” แหล่งกำเนิดนักวิทย์คุณภาพ

         ท่ามกลางโลกสมัยใหม่ที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามามีบทบาทแทบจะทุกลำดับขั้นตอนของชีวิต นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ กลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญในการเพาะหน่อต้นกล้าการเป็นนักวิทยาศาสตร์ โดยมีโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันที่ทำหน้าที่จัดการศึกษาให้กับเด็กชั้นมัธยมปลายที่มีความถนัดทางด้าน STEM (Science Technology Engineering Math) เป็นโรงเรียนประจำที่เรียนวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้นและใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ มุ่งผลิตเยาวชนสายวิทย์รุ่นใหม่ ให้พร้อมสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์คุณภาพของประเทศและโลกต่อไป

         ด้วยหลักสูตรการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้นและอาจนำมาซึ่งความกดดันมากมาย เรามาดูกันว่า น้อง ๆ นักเรียนที่นี่ เขามีเคล็ดลับอะไรที่ลับคมสมองให้เรียนเก่ง ใช้ความพยายามมากน้อยแค่ไหน และมีวิธีจัดการชีวิตในวัยมัธยมฯ อย่างไรกันบ้าง วันนี้เราจึงขอตั้งโจทย์เพื่อให้น้อง ๆ ร่วมกันแก้สมการ และหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

"ก้าวแรกของความสำเร็จคือการฝึกฝน"
KVIS

         น้องปอ-ธีรภัทร ตรงเมธีรัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เพิ่งเข้ามาเรียนในภาคการศึกษาแรกในรั้ว KVIS แต่ก็ได้พบกับประสบการณ์ใหม่ ๆ มากมาย เมื่อถามถึงเหตุผลที่ทำให้อยากมาเรียนที่นี่ น้องปอเล่าไปถึงวันวานเมื่อครั้งที่มางาน Open House ทั้งบรรยากาศของโรงเรียน การชมโครงงานต่าง ๆ ของรุ่นพี่ วันนั้นได้จุดประกายความตั้งใจให้ลุกโชน และตัดสินใจที่จะสอบเข้าที่นี่ให้ได้ “หากจะพูดถึงการเตรียมตัว ผมเน้นที่การทำโจทย์เยอะ ๆ หมั่นคิด วิเคราะห์ และทดลอง ถามว่าตอนสอบยากไหม ? ก็ยาก เพราะข้อสอบทั้งหมดเป็นข้อเขียน การฝึกฝนทำเรื่อย ๆ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผมได้เข้ามาเรียนที่นี่”

         แต่การได้ก้าวมาเป็นเด็ก KVIS อย่างเต็มตัว กลับเป็นเพียงแค่บททดสอบแรก เมื่อเข้ามาเรียนจริง ๆ กลับพบว่า การรักษามาตรฐานการฝึกฝนให้คงเส้นคงวาเป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะเนื้อหาวิชาเรียนที่มีความยาก ทำให้เขาต้องโฟกัสกับการเรียนในห้องมากขึ้น

         “เคล็บลับของผมอยู่ที่การตั้งใจเรียนในห้องเป็นหลัก เมื่อไม่เข้าใจผมก็จะถามครูและเพื่อน แล้วก็เน้นการทบทวน และจะชวนเพื่อนมานั่งอ่านนั่งตั้งคำถามบทเรียนนั้นด้วยกัน ซึ่งเพื่อนนี่แหละที่มักจะมีคำถามที่ผมเองก็คิดไม่ถึง ทำให้เรามีความเข้าใจกับวิชานั้น ๆ มากขึ้น หรือตอนสอบ ต่อให้คะแนนจะออกมาไม่ดีอย่างที่คิดก็ไม่รู้สึกเสียใจ และคิดว่าทำดีที่สุดแล้ว ทิ้งไว้สักพักแล้วค่อยกลับมาตั้งใจฝึกฝนอ่านหนังสือใหม่” น้องปอจึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างของนักเรียน KVIS ที่ทำให้เรารู้ว่า การฝึกฝนและความตั้งใจจริงนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีเสมอ

"หมั่นเสริมสร้างทักษะชีวิต ควบคู่ไปกับวิชาการ"

KVIS

         น้องพิงก์กี้-ปานชีวา ทุมมากรณ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เด็กเก่งอีกหนึ่งคนที่เธอออกตัวตั้งแต่แรกว่า ไม่ได้เป็นคนเก่งของรุ่น แถมยังเริ่มต้นบนถนนสายแข่งขันทางวิชาการช้ากว่าคนอื่นเสียด้วยซ้ำ (เวทีการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ สาขาฟิสิกส์) แต่ความโดดเด่นด้านการเรียนของเธอกลับสวนทางกับคำพูดไปมากเลยทีเดียว เพราะน้องพิงก์กี้ยังมีโอกาสร่วมเป็น “นิสิตฝึกงาน” ในโปรเจกต์เล็ก ๆ ร่วมกับสถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับอุดมศึกษารั้วติดกัน

         ส่วนเคล็ดลับเรียนเก่งในสไตล์ของน้องพิงก์กี้ เธอบอกว่า “ส่วนตัวคิดว่า สกิล สำคัญที่สุด นั่นคือ การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ รู้ว่าตอนนี้ต้องทำอะไร จัดลำดับความสำคัญ เหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปต่อยอดการเรียนหนังสือต่อที่ดีต่อไปได้ จากเดิมที่ชอบคิดเอาตัวเองไปเทียบกันคนอื่น เพราะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง แต่เมื่อปรับมุมมองและวิธีคิดใหม่ ก็กลับมานั่งคิดว่า...เราเป็น 1 ใน 72 คนของประเทศ ที่ได้เข้ามาเรียนที่ KVIS แล้วนะ นั่นก็เป็นอะไรที่สุดยอดมากแล้ว”

KVIS

KVIS

          ซึ่งในมุมมองของเธอ ณ ตอนนี้ KVIS จึงป็นมากกว่าโรงเรียน หากแต่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายและพร้อมที่จะสนับสนุนความสนใจด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากการเรียนการสอน เพื่อแบ่งเวลามาเสริมสร้างทักษะชีวิตอื่น ๆ ที่จำเป็นไม่น้อยกว่าทักษะทางด้านวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว  

"หลักสำคัญของการเรียน คือ
การพยายามเข้าใจจนรู้จริง"

KVIS

         อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศ เมื่อน้องผักหวาน-ณิชวดี กาญจนโฆษิต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 คว้ารางวัลเหรียญเงินในการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2564 มาได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเธอได้ยกเครดิตนี้ให้กับทุก ๆ คน ทั้งครอบครัว เพื่อน และโรงเรียน ที่เป็นแรงสนับสนุนและกำลังใจสำคัญ คอยผลักดันเธอจนพบกับความสำเร็จในวันนี้ และทำให้ตัวเธอรู้ว่า ยิ่งลงทุนหว่านเพาะเมล็ดความพยายามมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมเป็นไปตามนั้น

KVIS

KVIS

         ดูเหมือนเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะเรียนหนังสือและทำกิจกรรมแล้วผลออกมาเป็นที่น่าพอใจทั้งคู่ แต่กับผักหวานดูจะเป็นเรื่องยกเว้น เพราะเธอทำได้ดีทั้งสองอย่าง บนข้อแม้ของการรู้จักการวางแผนชีวิตให้ดี โดยเริ่มจากวางภาพใหญ่ไว้คร่าว ๆ หลังจากนั้นวางภาพย่อย ซึ่งเป็นพวกกิจกรรมความสนใจต่าง ๆ พยายามจัดให้บาลานซ์กับการเรียน ฟังดูอาจเหมือนง่าย แต่ส่วนที่ยากเห็นจะเป็นการบังคับให้ตัวเองทำตามแผนอย่างมีวินัย

         “หมั่นฝึกทำโจทย์ให้เยอะ ๆ แน่นอนว่าบางช่วงเวลาเราอาจต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบ แต่อย่าเพิ่งปิดใจ พยายามใช้ความเข้าใจ ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราใช้มันบ่อย ๆ จนเกิดความเข้าใจ และสุดท้ายก็จะรู้จักมันจริง ๆ”

"รู้จักตัวเองเร็ว ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง"

KVIS

         การที่คนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จในการเรียน บางครั้งความพยายามอาจไม่ใช่องค์ประกอบหลักทั้งหมด เช่นเดียวกับ น้องข้าวปั้น-ณัฐกันต์ แสงนิล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผู้ซึ่งคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2564 และด้วยการเลือกเดินเส้นทางสายแข่งขันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้เขารู้ว่า บางครั้งความสำเร็จอาจไม่ได้เกิดจากความพยายามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีจังหวะและโอกาสของตัวเอง รวมถึงมีคนอื่นเข้ามาร่วมผลักดันด้วย

KVIS

         สิ่งหนึ่งที่มีค่าไปไม่น้อยกว่ารางวัลที่ได้รับ นั่นคือ ประสบการณ์ระหว่างทาง การพบปะเจอทั้งรุ่นน้องรุ่นพี่ที่เก่ง ๆ หลากหลาย ช่วยละลายอีโก้ตัวเอง คล้ายเป็นการเตือนสติทางอ้อม กระตุ้นให้เขาปรับปรุงและพัฒนาตัวเองมากขึ้นไปอีก ก่อนหน้านี้ข้าวปั้นยอมรับว่าการแบ่งเวลาค่อนข้างมีปัญหา ด้วยเพราะต้องเรียนในห้องและเข้าค่ายแข่งขันไปพร้อม ๆ กัน จึงต้องปรับแบบแผนชีวิตใหม่ วันธรรมดาก็เรียนในห้องให้เต็มที่ เน้นให้ตัวเองคิดทบทวนจนตกผลึก มากกว่าหักโหมอ่านหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว

         “จริง ๆ แล้วผมไม่มีเคล็ดลับอะไรมาก อย่างถ้ามีงานต้องส่งเวลาไล่เลี่ยกัน ผมจะเลือกงานที่ทำแล้วมีความสุขกับมันก่อน ซึ่งส่วนตัวพอทำแล้วงานเสร็จตรงตามกำหนดเวลาทุกครั้ง”

         จากการผ่านการแข่งขันใหญ่ ๆ ระดับประเทศและโลกมาพอสมควร ข้าวปั้นบอกเราว่าต่อจากนี้อาจขอพัก แล้วหันไปเตรียมตัววางแผนชีวิตมหาวิทยาลัยมากขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งบททดสอบหน้าใหม่ ที่เขาเฝ้ารอผลลัพธ์ไม่แพ้ผลการแข่งขันเลยทีเดียว

"ตั้งเป้าหมายของตัวเองให้ชัด เล่นบ้าง พักบ้าง"
KVIS

         เทคโนโลยีต่าง ๆ ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และมีความหลากหลายชวนทึ่ง พาให้หลายคนหลงใหลค้นคว้าศึกษา ไม่ต่างกับ น้องวิน-ธนาสรรค์ คำดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เมื่อช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น จากการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ เกิดเป็นความสนุกและเริ่มศึกษาด้วยตัวเอง รู้ตัวอีกทีก็ได้เหรียญทองแดงจากการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ (2563) ครั้งที่ 16 มาครองเรียบร้อย

KVIS

         หากแต่เป้าหมายของเขายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ วินได้เตรียมตัวลงแข่งขันในปีนี้ แต่ไม่ได้คาดหวังจะต้องได้เหรียญ แค่อยากไปเก็บเกี่ยวมิตรภาพจากเพื่อนรุ่นพี่และน้องต่างสถาบันเสียมากกว่า แม้เวลาส่วนใหญ่ของวินจะมุ่งไปที่การแข่งขัน แต่การเรียนในห้องก็ต้องไม่ทิ้ง เมื่อใดก็ตามที่เกิดความสงสัยในบทเรียน เขาจะใช้วิธีการเข้าไปถามกับครูโดยตรง

         “แต่ก่อนผมก็เป็นเด็กเรียน ที่เอาแต่เรียนหนังสืออย่างเดียว พอมาตอนนี้ผมเริ่มที่จะแบ่งเวลาไปให้กับการพักผ่อนมากขึ้น ไปทำกิจกรรม เล่นกีตาร์ ร้องเพลง เล่นเกม ขอแค่ให้เรารู้ว่าตอนนี้เป้าหมายของตัวเราคืออะไร ? เพราะทุกคนมีเวลาเท่ากัน อยู่ที่แต่ละคนจะบริหารจัดการยังไง อยู่ที่ว่าเราให้ความสำคัญถูกจุดอยู่หรือเปล่าเท่านั้นเอง”

         มาถึงตรงนี้สำหรับเขาแล้ว การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนดูจะเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความสำเร็จที่รออยู่ปลายทางเสียอีก

         หลากหลายเคล็ด (ไม่) ลับการเรียนเก่งของเด็ก KVIS ยิ่งย้ำเตือนใจว่า จริง ๆ แล้ว ความเก่งไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เกิด แต่ใคร ๆ ก็สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ หากรู้จักพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ไปพร้อมกัน และจากประสบการณ์ตรงเหล่านี้ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ หลายคนที่กำลังวิ่งตามความฝัน ได้ลองนำไปปรับใช้ในแบบฉบับของตัวเอง เชื่อว่า น้อง ๆ จะประสบความสำเร็จในเส้นทางนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตอันใกล้แน่นอน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรียนอย่างไรให้มีความสุข กับเทคนิคง่าย ๆ จากเด็ก KVIS อัปเดตล่าสุด 4 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10:10:21 6,939 อ่าน
TOP