x close

เตือน กทม. เตรียมรับมือ 23-30 ต.ค. ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 20-40 ซม.

          ปภ. ส่งหนังสือเตือนผู้ว่า กทม. ชาวกรุงเตรียมรับมือระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา สูงขึ้น 20-40 เซนติเมตร ช่วงวันที่ 23-30 ตุลาคม กระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา


          วันที่ 18 ตุลาคม 2564 เฟซบุ๊ก ภัทราพร ตั๊นงาม-ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส มีรายงานเผยเอกสารจาก นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ส่งถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า ด้วยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศแจ้งว่า ได้ประเมินและวิเคราะห์ปริมาณฝนตกร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากแม่น้ำปิง จะทำให้มีน้ำไหลผ่านบริเวณอำเภอเมืองนครสวรรค์ เพิ่มสูงสุดจากอัตรา 2,484 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 3,000-3,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 22 ตุลาคม 2564 โดยจะบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการหน่วงน้ำและผันน้ำเข้าคลองต่าง ๆ ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรยา จังหวัดชัยนาท อยู่ในเกณฑ์ 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

          ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ประมาณ 20-40 เซนติเมตร และจะกระทบบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 23-30 ตุลาคม 2564

          จึงขอให้กรุงเทพมหานครติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ที่ 24/2564 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ที่แนบมาพร้อมกันนี้
 
เตือนกทม.เตรียมรับมือระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น
ภาพจาก Vach cameraman / Shutterstock.com

          ทั้งนี้ ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ระบุว่าการหน่วงน้ำและผันน้ำเข้าคลองต่าง ๆ ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำสูงขึ้น 20-40 เซนติเมตร ในช่วงวันที่ 23-30 ตุลาคม ดังนี้

          - จังหวัดนครสวรรค์ บริเวณตำบลย่านมัทรี ตำบลยางขาว ตำบลน้ำทรง ตำบลพยะหะ และตำบลท่าน้ำย้อย อำเภอพยุหะคีรี

          - จังหวัดอุทัยธานี บริเวณตำบลท่าซึง ตำบลเกาะเทโพ และตำบลหาดทนง อำเภอเมืองอุทัยธานี

          - จังหวัดชัยนาท บริเวณตำบลชัยนาท ตำบลบ้านกล้วย ตำบลท่าชัย ตำบลในเมือง ตำบลเขาท่าพระ ตำบลหาดท่าเสา และตำบลธรรมมูล อำเภอเมืองชัยนาท ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ ตำบลคุ้งสำเภา ตำบลวัดโคก ตำบลศิลาตาน และตำบลท่าฉนวน อำเภอมโนรมย์ ตำบลโพนางดำออก และตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรยา

          - จังหวัดสิงห์บุรี บริเวณตำบลประศุก ตำบลชีน้ำร้าย ตำบลอินทร์บุรี ตำบลท่างาม ตำบลทับยา และตำบลน้ำตาล ตำบลโพกรวม ตำบลบางกระบือ ตำบลบางสามัญ ตำบลบางพุทรา ตำบลต้นโพธิ์ ตำบลม่วงหมู่ และอำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี ตำบลหัวป่า ตำบลพรหมบุรี ตำบลโรงช้าง ตำบลบ้านแป้ง ตำบลบางน้ำเชี่ยว ตำบลพระงาม และตำบลบ้านหม้อ อำเภอพรหมบุรี

          - จังหวัดอ่างทอง บริเวณตำบลราชสถิต ตำบลชะไว ตำบลไชโย ตำบลหลักฟ้า ตำบลชัยฤทธิ์ ตำบลไชยภูมิ ตำบลเทวราช และตำบลจระเข้ร้อง อำเภอไชโย ตำบลป่าโมง ตำบลบางปลากด ตำบลโรงช้าง ตำบลบางเสด็จ และตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก

          - จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณคลองบางบาล และแม่น้ำย้อย บริเวณตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ ตำบลบ้านกุ่ม ตำบลไทรน้อย ตำบลบางบาล ตำบลบางชะนี ตำบลบางหัก และตำบลบางหลวงโดด อำเภอบางบาล

          - จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

          สำหรับแม่น้ำท่าจีน มีปริมาณน้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำล้น เขื่อนกระเสียว และไหลไปสมทบกับปริมาณน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกด้านท้ายเขื่อน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงแม่น้ำท่าจีน 150-200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ จะบริหารจัดการโดยผันน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยา เพื่อลดปริมาณน้ำหลาก ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ประมาณ 30-50 เซนติเมตร ในช่วงวันที่ 20-27 ตุลาคม 2564

          ขณะที่ข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM ระบุว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสาน 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร รวมถึงกรุงเทพมหานคร ตลอดจนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่

          พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรทางน้ำ ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้อยู่ในสภาพแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง



ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ภัทราพร ตั๊นงาม-ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือน กทม. เตรียมรับมือ 23-30 ต.ค. ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 20-40 ซม. อัปเดตล่าสุด 19 ตุลาคม 2564 เวลา 09:16:21 6,990 อ่าน
TOP