x close

MEA เตือนอย่าหลงเชื่อ ! แอบอ้างเป็น จนท.บริการไฟฟ้า-ขายอุปกรณ์ประหยัดไฟ

          MEA เตือนประชาชนระวัง อย่าหลงเชื่อบุคคลแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ให้บริการด้านไฟฟ้าและจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า

          วันนี้ (26 ตุลาคม 2564) นายจุมภฎ หิมะเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์ระบาดของ COVID-19 มีมาตรการขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทำให้ประชาชนพักอาศัยและทำงานอยู่กับบ้านเป็นสาเหตุมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จึงมีบุคคลแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ อาจใช้ประเด็นดังกล่าวนำมาโฆษณาแอบอ้างผ่านการรับรองเป็นตัวแทนจาก MEA รวมถึงแสดงบัตรพนักงานปลอมสร้างความน่าเชื่อถือให้บริการด้านไฟฟ้าและจำหน่ายอุปกรณ์ช่วยลดค่าไฟฟ้า โครงการล้างแอร์ ปลอมแปลงใบแจ้งค่าไฟฟ้าและใบเสร็จ เพื่อใช้หลอกลวงในการรับชำระค่าไฟฟ้า หรือแจ้งเอกสารเตือนตัดไฟฟ้า แอบอ้างแจ้งเปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (มิเตอร์) ทำให้ประชาชนเสียทรัพย์เกิดความเดือดร้อน
 
          MEA ห่วงใยประชาชน จึงขอเตือนอย่าหลงเชื่อบุคคลแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวฯ ไม่สามารถประหยัดไฟฟ้าได้จริงและอาจส่งผลให้ระบบไฟฟ้าผิดปกติหรือกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งอาจมีความผิดตามกฎหมายได้ ทั้งนี้ MEA กำลังตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ละเมิดแอบอ้างดังกล่าว

          สำหรับวิธีการประหยัดไฟฟ้าแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า โดยเปิดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเฉพาะเวลาที่ต้องการใช้งาน และปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน รวมถึงการปรับตั้งค่าการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เหมาะสม ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26 องศาเซลเซียส เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน
 

          เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อย ๆ พกกระติกน้ำแข็งไว้ดื่ม ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็น ตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า (เบอร์ 5) และควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

          และหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที ป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งติดตั้งสายดิน พร้อมเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า

          นอกจากนี้ MEA ยืนยันว่าปัจจุบันไม่มีตัวแทนพนักงานรับชำระค่าไฟฟ้า เก็บเงินค่าเปลี่ยนเครื่องวัดฯ รวมถึงไปดำเนินการตรวจซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าเก็บค่าบริการนอกสถานที่แต่อย่างใด ยกเว้นกรณีที่ MEA มีงานบริการสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า จัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์กับชุมชน หรือโครงการต่าง ๆ ซึ่ง MEA จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบผ่านช่องทางสื่อสารทางการของ MEA หรือสื่อมวลชนก่อนทุกครั้ง

          ทั้งนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าและคำนวณค่าไฟฟ้าง่าย ๆ ผ่าน MEA Smart Life Application ดาวน์โหลดฟรีทั้ง App Store และ Google Play คลิก http://onelink.to/measmartlife หรือใช้บริการชำระผ่านการหักบัญชีธนาคาร และหักบัตรเครดิตอัตโนมัติ บริการ Mobile Application บริการ Internet Banking หรือ เว็บไซต์ตัวแทนรับชำระเงิน ตู้ ATM ต่าง ๆ และ LINE MEA Connect คลิกเพิ่มเพื่อน

          นอกจากนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเข้าไปเลือกใช้ทุกบริการออนไลน์ สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทาง ตลอด 24 ชั่วโมง ได้ที่เว็บไซต์ https://www.mea.or.th/eservice/

          MEA ยังเพิ่มช่องทางบริการใหม่ ลดเสี่ยง เลี่ยงสัมผัส ช่วง COVID-19 ผ่านทาง Line Official Account ของทุกที่ทำการเขต ยกระดับบริการแยกพื้นที่ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ครบทุกเรื่องไฟฟ้า Scan QR Code Line OA ของทุกเขต หรือคลิก www.mea.or.th/eservice

          ทั้งนี้ หากผู้ใช้ไฟฟ้าพบกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกลวงทำให้เสียทรัพย์ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ รวมถึงระมัดระวังการรับข้อมูลจากช่องทางการสื่อสารในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งอาจมีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่...
          - Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA

          - Line : MEA Connect

          - Twitter: @mea_news

          - ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center โทร 1130 หรือที่ MEA Smart Life Application ดาวน์โหลดฟรีได้ที่ http://onelink.to/measmartlife ตลอด 24 ชั่วโมง
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
MEA เตือนอย่าหลงเชื่อ ! แอบอ้างเป็น จนท.บริการไฟฟ้า-ขายอุปกรณ์ประหยัดไฟ อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2564 เวลา 13:39:44 2,182 อ่าน
TOP