x close

ป่าวังจันทร์ 10 สไตล์ รูปแบบปลูกป่าที่ไม่เหมือนใคร

        ขุดราก ถอนความลับ กับการปลูกป่าในสไตล์ของป่าวังจันทร์ ที่ทั้งน่าสนใจและแตกต่าง สู่การเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียวได้อย่างสมบูรณ์

          หากเป็นเมื่อก่อน “การปลูกป่า” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่เทรนด์การเที่ยวป่า เดินเทรล อิ่มเอมเส้นทางธรรมชาติ ค้นหาความลับในผืนป่า กำลังเป็นที่นิยม คนยุคใหม่ก็เลยเริ่มจะตระหนักและหันมากอบกู้ ฟื้นฟู และเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจริง ๆ แล้วเรามีหน่วยงานที่พยายามสร้างพื้นที่ป่าขึ้นมาใหม่มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” จังหวัดระยอง ดำเนินการโดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ที่นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับป่าขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกแล้ว สไตล์การปลูกป่าของที่นี่ก็ยังเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครอีกด้วย วันนี้เราจึงได้รวบรวมความน่าสนใจของป่าแห่งนี้มาฝาก ใครพร้อมจะเดินเข้าป่าแล้วก็หอบเสียม ถางหญ้า ลุยไปด้วยกันเลย

ป่าวังจันทร์

ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ บทบาทสำคัญที่มากกว่าการปลูกป่า

         ใกล้ ๆ กับเทือกเขาขุนอินทร์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง มีผืนป่าขนาดกว่า 351 ไร่ ชื่อว่า “ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” ได้พัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังจันทร์วัลเลย์ จากเดิมเป็นพื้นที่ดินทรายทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด ยางพารา ยาวนานกว่า 20 ปี จนทำให้สภาพพื้นที่เป็นดินเสื่อมโทรม ให้พลิกฟื้นกลายเป็นป่านิเวศที่อุดมสมบูรณ์ สร้างระบบนิเวศใหม่ให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน

         นอกจากนี้ยังได้เปิดเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับป่า ให้ชุมชน เยาวชน และคนทั่วไป ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในป่าคนสร้างแห่งนี้ เสมือนเป็นการปลูกรากฝังลึก บ่มเพาะจิตสำนึกให้ได้รู้ว่า ป่าคือต้นกำเนิดทุกชีวิต มนุษย์ต้องมีส่วนรับผิดชอบธรรมชาติอย่างไม่มีเงื่อนไข
ป่าวังจันทร์

พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ในโซนการศึกษา นอกจากจะมีศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์แล้ว
ยังมีสถานศึกษา 2 แห่ง คือ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี

จุดเด่นของการปลูกป่าสไตล์ป่าวังจันทร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

          กว่าจะมาเป็นป่าวังจันทร์ในทุกวันนี้ ล้วนต้องผ่านความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย ในการวางแผน คิด ค้นคว้า วิจัย และดึงเอานวัตกรรมต่าง ๆ มาปรับใช้มากมาย จนทำให้ป่าแห่งนี้มีความพิเศษเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากป่าอื่น ๆ อยู่ในหลายแง่มุม ดังนี้

1. ปลูกป่านิเวศสไตล์ญี่ปุ่นแบบ “ศ. ดร.อาคิระ มิยาวากิ”

          ป่าวังจันทร์ มีการออกแบบป่าตามแนวคิดของ ศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยาวากิ (Miyawaki’s Method) ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยานานาชาติประจำประเทศญี่ปุ่น โดยร่วมกับองค์ความรู้การปลูกป่าของ ปตท. ให้มีสภาพใกล้เคียงสภาพป่าธรรมชาติมากที่สุด สร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เหมือนป่าดั้งเดิม มีการเตรียมพื้นที่ ขุดบ่อสร้างเนินดินสูง วิเคราะห์และปรับปรุงคุณภาพดิน และเลือกใช้พรรณไม้ดั้งเดิมของจังหวัดระยองที่เหมาะสมกับสภาพของดินมาปลูก จึงสามารถฟื้นฟูป่าได้ในระยะสั้นและเร็ว ปลูกได้ในพื้นที่จำกัด แม้ต้นทุนจะสูงแต่คุ้มค่า ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้ดี 

ป่าวังจันทร์

ป่าวังจันทร์

ป่าวังจันทร์

2. ปลูกป่าด้วยพรรณไม้ดั้งเดิมของจังหวัดระยอง

          เพื่อเป็นการฟื้นฟูป่าให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด ต้นไม้ที่นำมาปลูกในป่าแห่งนี้จะใช้พรรณไม้พื้นเมือง (Native Species) ท้องถิ่นดั้งเดิม ไม่ใช้ไม้ต่างถิ่น เพื่อเป็นการคืนธรรมชาติให้กับดิน และทำให้ง่ายต่อการดูแลรักษาด้วย นอกจากนี้จะมีการปลูกพรรณไม้หลาย ๆ ชนิดปะปนกัน ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ผลไม้ขึ้นชื่อของระยอง เพื่อให้มีสภาพคล้ายธรรมชาติมากที่สุด มีการปลูกพรรณไม้ริมน้ำและไม้ยืนต้นอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน รวมถึงปลูกขิง ข่า พืชเหง้า และกล้วย ซึ่งเป็นพืชที่ให้ความ

3. ปลูกป่าให้หนาแน่น มีต้นไม้เต็มพื้นที่เพื่อแย่งกันเจริญเติบโต

          ภายในพื้นที่ 1 ตารางเมตร จะปลูกต้นไม้ประมาณ 3-4 ต้น เพื่อเพิ่มความหนาแน่น โดยใน 1 ไร่ จะมีได้มากถึง 6,000 ต้นเลยทีเดียว โดยจะปลูกแบบสุ่ม ไม่เป็นแนวตรง เพื่อบังคับให้ต้นไม้สูงขึ้นไปหาแสงแดด และแข่งกันเจริญเติบโต หากต้นไหนรอดก็เท่ากับว่าธรรมชาติได้คัดสรรให้ต้นนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงนั่นเอง
ป่าวังจันทร์

4. ปลูกป่าคาร์บอนต้นแบบ ลดภาวะเรือนกระจก

          ป่าวังจันทร์ ถือเป็นป่าคาร์บอนต้นแบบ (Forest Carbon Model) ที่มีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนได้สูง สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าที่ปลูกทั่วไปกว่า 3-4 เท่า เพราะมีการปลูกเลียนแบบธรรมชาติ ไม่เป็นแถวเป็นแนว และคายออกซิเจนกลับคืนสู่บรรยากาศได้จำนวนมากเช่นกัน
ป่าวังจันทร์

5. ปลูกป่าสร้างระบบนิเวศ ขุดบ่อ สร้างพื้นที่ชุ่มน้ำกระจายทั่วป่า

          ป่าวังจันทร์มีการขุดบ่อน้ำขนาดต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ กระจายอยู่ทั่วทั้งป่าทั้งหมด 8 บ่อ ลดหลั่นตามความสูงของพื้นที่ เพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้และไหลคืนสู่คลองตามธรรมชาติ เมื่อมีพื้นที่ชุ่มน้ำเยอะก็จะทำให้มีระบบนิเวศที่หลากหลาย เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะนกและสัตว์น้ำ และยังมีเส้นทางน้ำเล็ก ๆ จากเขาขุนอินทร์ ไหลลงสู่แม่น้ำประแสร์ ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำอีกด้วย
ป่าวังจันทร์

6. ปลูกป่าหลากหลาย 4 โมเดล

          อีกหนึ่งจุดเด่นด้านการออกแบบป่าวังจันทร์ก็คือ โมเดลป่า 4 แบบ คือ ป่าไม้โตเร็ว ป่าไม้ธรรมชาติ ป่าผสมพืชเกษตร และป่าผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดระยอง เพื่อให้คนในชุมชน หรือประชาชนทั่วไป เข้ามาศึกษาเรียนรู้การสร้างป่าในหลากหลายแบบที่มีความแตกต่างกันออกไป ได้เห็นภาพจริง ๆ แล้วนำกลับไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับพื้นที่ตัวเองในอนาคต
ป่าวังจันทร์

7. ปลูกป่าผสมพืชผักกินได้ ให้ชาวบ้านได้เข้ามาเรียนรู้เพิ่มประโยชน์พื้นที่ทำกิน

          ภายในป่าวังจันทร์จะมีการปลูกพืชผักกินได้แล้วเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งต่อให้ชาวบ้านบริเวณโดยรอบนำไปปลูกต่อได้ เมื่อโตเต็มที่แล้วก็สามารถนำไปขาย หรือผ่านโครงการ “วังจันทร์รวมรัก ปลูกผักแบ่งปัน” บริเวณสถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาป่ายุบใน และนอกจากนี้ก็ยังมีแปลงนาสาธิต ปลูกข้าวนางพญาแม่ทองดำ พันธุ์พื้นเมืองของระยอง มีแปลงผักเพาะเมล็ดพันธุ์พระราชทานเพื่อให้ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปได้เข้าไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วย
ป่าวังจันทร์

ป่าวังจันทร์

ป่าวังจันทร์

8. ปลูกป่าให้เป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด

          การออกแบบป่าให้มีความสมดุล มีสระน้ำขนาดใหญ่ แบ่งเป็นสายเล็ก ๆ จึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ป่า ทำให้มีระบบนิเวศที่หลากหลาย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ รวมถึงเริ่มมีร่องรอยของสัตว์ป่าเข้ามาอยู่อาศัยแล้ว เช่น นก ชะมด หมูป่า เป็นต้น 
ป่าวังจันทร์

ป่าวังจันทร์

ป่าวังจันทร์

9. ปลูกป่าให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่า

          เนื่องจากเป็นการปลูกป่าที่ใช้พรรณไม้ท้องถิ่นของจังหวัดระยอง จึงจำเป็นต้องใช้ความรู้เฉพาะทางและความคุ้นเคยกับพรรณไม้จากชาวบ้านในชุมชนในการช่วยดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องและเข้าใจ เพื่อให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

10. ปลูกป่าให้กลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่

          นอกจากจะเป็นป่าที่สร้างขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติแล้ว ยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องป่าและระบบนิเวศที่เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาศึกษาหาความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก เห็นคุณค่าของการเพิ่มพื้นที่ป่าได้ตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากนี้ยังเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สำหรับเข้ามาเที่ยวพักผ่อนและมีเส้นทางจักรยานสำหรับนักปั่นด้วย

ป่าวังจันทร์

ป่าวังจันทร์

ป่าวังจันทร์

          เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราเริ่มเห็นคนยุคใหม่ ใส่ใจ ฟื้นฟู และเห็นความสำคัญของป่าและธรรมชาติกันมากขึ้น และแม้ป่าวังจันทร์จะมีสไตล์ในการปลูกป่า สร้างพื้นที่ป่าแตกต่างไปจากที่อื่น แต่ผลลัพธ์ก็เพื่อต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าคืนกลับสู่ธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ และฝังรากลึกการอนุรักษ์ป่าให้กับทุกคน สร้างป่าแล้วยังได้สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในชุมชนอีกด้วย
          ซึ่งโดยปกติแล้ว ป่าวังจันทร์จะเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ สำหรับใครที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ทาง เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. และ เว็บไซต์สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. www.pttreforestation.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป่าวังจันทร์ 10 สไตล์ รูปแบบปลูกป่าที่ไม่เหมือนใคร อัปเดตล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09:15:50 9,120 อ่าน
TOP