บทบาทรัฐ สื่อ และประชาชน กับการสื่อสารการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19



          ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มพบผู้ติดเชื้อเมื่อปลายปี 2562 ในต่างประเทศ และพบในประเทศไทยเมื่อปี 2563 โดยข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 2564 มีกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ กระจายในหลายพื้นที่ รวมถึงพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดง่ายอย่างสายพันธุ์เดลตา ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ความหวังและทางรอดที่สำคัญมีเพียงวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น ที่จะมาเปลี่ยนสถานการณ์ให้ดีขึ้น ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลได้มีการประกาศแผนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็น "วาระแห่งชาติ" โดยกำหนดให้วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นวันเริ่มต้นการปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะที่ประชาชนก็เริ่มให้ความสนใจเรื่องวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลใน Google Trends เดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับ "วัคซีนโควิด-19" ติด 1 ใน 3 อันดับแรกในการค้นหาของไทย

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว วัคซีนหลักที่ประเทศไทยนำเข้าคือ "ซิโนแวค" ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 จึงมีการประกาศการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้งาน ด้วยความล่าช้าของรัฐบาลในการจัดสรรวัคซีน ประกอบกับการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาล ส่งผลให้หลายคนเกิดความไม่มั่นใจว่าจะได้รับวัคซีนหรือไม่ จนก่อให้เกิดเสียงสะท้อนจากบุคคลทั่วไปในโลกสังคมออนไลน์ในหลากหลายแง่มุม ดังข้อค้นพบจากการศึกษาวิเคราะห์ความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึก ในสื่อออนไลน์ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ต่อประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ศึกษาโดย Media Alert

          Media Alert โครงการภายใต้แผนการทำงานของสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำการศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมการสื่อสารออนไลน์ต่อประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจากการสำรวจ การสื่อสารความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึกในแพลตฟอร์มออนไลน์ เดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ส่วนใหญ่สะท้อนความรู้สึกเชิงลบต่อการบริหารจัดการวัคซีนในประเด็น การจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีน และการเข้าถึงวัคซีน ที่ภาพรวมยังมีความไม่ชัดเจน ไม่เชื่อมั่น และเห็นว่ามีความยุ่งยาก ซับซ้อน



          คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัล ฐานันดร 4 ทองคํา ครั้งที่ 12 ประจำปี 2564 จากมหาวิทยาลัยรังสิต จากผลงานการสื่อสารทางเพจ Sarinee Achavanuntakul เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความคิดเห็น มุมมองเชิงธรรมาภิบาล การพัฒนาที่ยั่งยืน พลังพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ รวมถึงสถานการณ์ของสังคมที่ประชาชนควรรับรู้รับทราบบนพื้นฐานของเหตุผล อาทิ มหากาพย์วัคซีน : ความ(ไม่)โปร่งใสในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 คุณสฤณีวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ผลการศึกษาอารมณ์ ความรู้สึกทางออนไลน์ ต่อประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ออกมาในเชิงลบว่า น่าจะมาจากเหตุที่ข้อมูลการสื่อสารจากรัฐบาลไม่ชัดเจน ทั้งชนิดวัคซีนโควิด-19 การจัดหา กำหนดการส่งมอบ รวมถึงวิธีการที่รัฐบาลให้ประชาชนลงทะเบียนทางแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ซึ่งเกิดปัญหาตั้งแต่ต้น ทั้งลงทะเบียนไม่ได้ เข้าไม่ถึงหรือไม่มีสมาร์ตโฟนเพื่อใช้แอปพลิเคชัน จนทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับกระบวนการจัดสรรหรือการเข้าถึง อย่างเช่นชนิดของวัคซีนทำไมมีแค่ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า หรือเพราะเหตุใดรัฐบาลจึงไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX หรือทำไมประชาชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองสำหรับวัคซีนทางเลือก ที่แม้จองไว้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะได้ฉีดเมื่อใด นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการจัดสรรการฉีดวัคซีน ลำดับการฉีดวัคซีนของผู้ที่ลงทะเบียน รวมถึงการมีแอปพลิเคชันต่าง ๆ ทั้ง หมอพร้อม ไทยร่วมใจ เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของแต่ละจังหวัด ซึ่งทั้งหมดยิ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก

          คุณสฤณี วิเคราะห์อีกว่า ภาวะข้อมูลล้นเกินในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย มีส่วนทำให้เกิดข่าวปล่อย ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จ ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นโรคระบาดร้ายแรง การได้รับหรือส่งข้อมูลที่เป็นเท็จยิ่งส่งผลร้ายมากกว่าเดิม เพราะประชาชนอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปรักษาตัวเองแบบผิด ๆ หรือไม่เข้ารับการรักษา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

          อย่างไรก็ตาม ในการสื่อสารของรัฐบาลเกี่ยวกับโควิดและวัคซีน คุณสฤณี กล่าวว่า เป็นปัญหาที่แยกไม่ออกจากการบริหารจัดการ ถึงแม้จะมีทีมสื่อสารที่เก่งที่สุด งานนี้ก็ไม่ง่ายเลย ดังนั้น หากรัฐบาลมีการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจน โปร่งใส เข้าใจง่าย ไม่ใช้ศัพท์เทคนิค ไม่สื่อสารในเชิงโฆษณาชวนเชื่อ การให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับวัคซีน การประกาศล่วงหน้าว่าวัคซีนยี่ห้อใดจะเข้ามาวันไหน ในจำนวนเท่าไร การกระจายวัคซีนเป็นอย่างไร รวมถึงติดตามข้อค้นพบใหม่ของโควิด-19 ให้ทัน จะช่วยคลายความกังวลใจให้กับประชาชนได้

          ในส่วนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน พบว่า โดยรวมสื่อยังนำเอาสิ่งที่ทางการพูดมา Echo หรือว่ามาสะท้อนต่อทางเดียวมากเกินไป สื่อไม่ควรทำเพียงถ่ายทอดวาระของรัฐบาล แต่สื่อควรมีบทบาทในการกำหนดวาระจากความสนใจของประชาชน สื่อควรคิดประเด็นและการนำเสนออย่างเป็นระบบมากกว่าเดิม สื่อควรพยายามตั้งคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับวัคซีน และหาคำตอบเพื่อรายงานประชาชนอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องประสิทธิผลของวัคซีน หรือภูมิคุ้มกัน การรายงาน Breakthrough Infections หรืออัตราคนที่ฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ เป็นต้น

          ทั้งนี้ คุณสฤณีได้เสนอข้อแนะนำการสื่อสารสำหรับการบริหารจัดการวัคซีนว่า ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับประชาชนด้วยข้อเท็จจริงที่ชัดเจน อย่างตรงไปตรงมา และเข้าใจง่าย ภาครัฐควรมีความโปร่งใสในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ตลอดจนพัฒนาระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงติดตามข้อค้นพบใหม่เรื่องโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างทันท่วงที
         
          สื่อมวลชน ไม่ควรทำหน้าที่เพียงสะท้อนข้อมูลจากรัฐบาล ควรอธิบายปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ทั้งในเรื่องของโควิด-19 วัคซีนโควิด-19 หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรวบรวมข้อมูลเพื่อตั้งคำถามต่อเนื่อง หรือเพื่อขยายต่อประเด็น เพื่อเจาะลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่ประชาชนยังให้ความสนใจ สื่อควรเป็นผู้กำหนดวาระของสารเอง โดยการรวบรวมข้อมูล เริ่มต้นจากข้อมูลที่ประชาชนต้องการรู้ แล้วจัดทำข้อมูลและนำเสนอหรือสื่อสารรายงานประชาชน

          ส่วนประชาชนผู้รับข่าวสาร ควรเปิดรับข้อมูลข่าวสารหลาย ๆ ด้าน อย่าเพิ่งด่วนเชื่อแม้ข้อมูลนั้นมาจากการแถลงของภาครัฐก็ตาม ควรพยายามตรวจสอบโดยสืบค้นจากต้นแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการป้องกันและดูแลตัวเอง อย่างข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยหรือสถิติที่เกี่ยวกับโควิด-19 แนะนำให้เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บทบาทรัฐ สื่อ และประชาชน กับการสื่อสารการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 อัปเดตล่าสุด 25 มกราคม 2565 เวลา 20:45:02 2,410 อ่าน
TOP