x close

เพจดังเผย JSL จ่ายชดเชยลูกจ้าง 16% ทำได้หรือไม่ ในวันที่บริษัทไปต่อไม่ไหว ไม่มีเงินจริง ๆ


           เพจกฎหมายแรงงาน เผย JSL ไม่มีเงินสดแล้ว จะจ่ายลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง 16% ได้หรือไม่ พร้อมบอกลูกจ้าง ถ้ายื่นเอกสารมาห้ามเซ็นเด็ดขาด อาจทำให้มีผลบังคับคดีได้

           จากกรณีที่บริษัท JSL บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ จำต้องปิดกิจการบางส่วน และจะมีการปลดพนักงานไปด้วยนั้น อันเป็นผลทำให้พนักงาน 89 คน ตกงานโดยทันที ทว่ามีพนักงาน 10 คน ที่ยินยอมพร้อมรับเงินชดเชย 16% ที่บริษัทให้ ส่วนพนักงานอีก 79 คน ไม่พร้อมรับเงินดังกล่าว และเข้าร้องเรียนเรื่องนี้กับทนายเดชา เพราะบางคนทำงานมาเท่าอายุบริษัทด้วยซ้ำ


           อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้เกิดข้อกังขาว่า บริษัทสามารถจ่ายชดเชยพนักงานเพียง 16% ได้หรือไม่ เนื่องจากทางบริษัทก็ประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ เฟซบุ๊ก กฎหมายแรงงาน ได้ออกมาเฉลยแล้ว

เพจดังเฉลย จ่ายชดเชยแค่ 16% ทำได้จริงหรือไม่ และจริง ๆ พนักงานควรได้รับเงินเท่าไร

           ทั้งนี้ เฟซบุ๊กกฎหมายแรงงาน ได้ให้ความรู้ว่า เมื่อมีการเลิกจ้าง ซึ่งหมายถึงการที่สัญญาจ้างสิ้นสุด หรือกิจการของนายจ้างดำเนินต่อไม่ได้ ลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินชดเชย หากไม่จ่ายเงินชดเชยในวันที่เลิกจ้าง นายจ้างก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และถ้านายจ้างจงใจไม่จ่าย ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ทุก ๆ 7 วัน

           วิธีการคำนวณว่า นายจ้างจะต้องชดเชยลูกจ้างเท่าใด เมื่อมีการเลิกจ้าง เป็นไปตามสูตรนี้

           1) หากทำงานครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชย 30 วัน

           2) หากทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชย 90 วัน

           3) หากทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชย 180 วัน

           4) หากทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชย 240 วัน

           5) หากทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชย 300 วัน

           6) หากทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายค่าชดเชย 400 วัน

           วิธีการคำนวณ เช่น พนักงานเงินเดือน 36,000 บาท ทำงานมาแล้ว 12 ปี หากถูกเลิกจ้าง จะคิดเป็น 36,000 / 30 (วัน) = วันละ 1,200 บาท หากทำงานมาแล้ว 12 ปี จะได้รับเงินชดเชย 1,200x300 = 360,000 บาท

           ดังนั้น การที่บริษัท JSL จะจ่ายชดเชยเพียงร้อยละ 16 ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนตามมาตรา 118 แล้ว


เตือนลูกจ้าง อย่าเซ็นรับค่าจ้างร้อยละ 16 นายจ้างไม่มีจ่าย ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้เลย

           อย่างไรก็ตาม หากอยากได้เงินชดเชยเต็มจำนวน พนักงานต้องไม่ไปเซ็นยินยอมว่าจะรับเงินชดเชยเพียง 16% เท่านั้น เพราะตอนที่เซ็นรับ ลูกจ้างถือว่าเป็นอิสระแล้ว อาจทำให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ โดยตามฎีกาที่ 3121/2543 พิพากษาว่า การตกลงเลิกจ้างแล้วลูกจ้างเป็นอิสระ พ้นจากพันธกรณี ไม่อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาโดยสิ้นเชิงแล้ว ข้อตกลงนั้นจึงมีผลบังคับใช้ ลูกจ้างจึงต้องระวังไม่ไปเซ็นยินยอมรับเงินน้อยกว่าสิทธิที่ควรจะได้
    
           ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถฟ้องร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้เลย หากบริษัทเงินไม่พอจ่าย สามารถยึดทรัพย์บังคับขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้มาจ่ายเป็นค่าจ้างแก่พนักงาน ส่วนประเด็นว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ พบว่าบริษัทขาดทุนสะสม และมีเหตุต้องปิดกิจการ การเลิกจ้างนี้ถือว่ามีเหตุอันสมควร จึงไม่สามารถฟ้องร้องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ เว้นเสียแต่ว่าบริษัทขาดทุนไม่จริงเท่านั้น


ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กฎหมายแรงงาน



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพจดังเผย JSL จ่ายชดเชยลูกจ้าง 16% ทำได้หรือไม่ ในวันที่บริษัทไปต่อไม่ไหว ไม่มีเงินจริง ๆ อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2565 เวลา 09:49:28 22,528 อ่าน
TOP