ซีเซียม-137 ถูกหลอมจริง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเผย ถูกถลุงเป็นฝุ่นแดงแล้ว คาดถูกส่งไปโรงงานรีไซเคิล เร่งเช็ก ฝุ่นแดง ซีเซียม-137 หลุดไปไหม
ภาพจาก ช่อง 3
จากกรณี ท่อบรรจุสารซีเซียม-137 ซึ่งเป็นวัตถุกัมมันตรังสี สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำที่ จ.ปราจีนบุรี จนสร้างความกังวลเนื่องจากหากมีคนผ่าเปิดออกอย่างไม่ถูกวิธี สารซีเซียม-137 จะปล่อยรังสีที่มองไม่เห็นออกมา ส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้สัมผัส อาจทำให้อวัยวะที่สัมผัสเปื่อยเน่าได้ใน 3 วัน โดยล่าสุดมีการตรวจพบซีเซียม-137 ภายในโรงงานหลอมเหล็กขนาดใหญ่ ใน อ.กบินทร์บุรี แล้ว
อ่านข่าว : หวิดเกิดโศกนาฏกรรม ! เจอแล้ว ซีเซียม-137 วัตถุกัมมันตภาพรังสี อยู่โรงหลอมเหล็ก
ขณะที่ล่าสุด (20 มีนาคม 2566) ช่อง 3 รายงานข้อมูลจาก นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ปฏิเสธ ซีเซียม-137 ถูกหลอมจริง ขอให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แถลงเพื่อความกระจ่าง ในเวลา 11.00 น. ของวันนี้ (20 มีนาคม)
โดยขณะนี้ได้กันพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้โดยรอบพื้นที่โรงงานแห่งนี้แล้ว และเช้านี้จะเข้าไปตรวจอีกครั้ง
ภาพจาก Thai PBS
ซีเซียม-137 ถูกถลุงเป็นฝุ่นแดง คาดส่งต่อโรงงานรีไซเคิล
ด้านเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว เผยว่า นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยทางโทรศัพท์กับทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ว่าจากการเข้าตรวจสอบโรงถลุงเหล็กในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 2 รอบ รอบแรกได้เข้าไปตรวจสอบบริเวณกองเศษเหล็ก แต่ไม่พบกล่องเหล็กที่บรรจุสารกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม-137 ในรอบ 2 จึงนำเครื่องมือเข้าไปตรวจสอบบริเวณฝุ่นแดง ปรากฏว่าพบ ซีเซียม-137 แต่ไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก ส่วนโรงถลุงเหล็กอื่น ๆ ยังไม่เจอ
สำหรับการถลุงเหล็ก มี 2 กระบวนการคือ ใช้เตาไฟฟ้า และ ใช้เตาแม่เหล็กเหนี่ยวนำ ซึ่งกรณีใช้เตาไฟฟ้าถลุงจะได้เป็นฝุ่นแดงออกมาจากกระบวนการถลุงเหล็ก
ส่วนฝุ่นแดงที่พบในโรงถลุงเหล็กนี้ เจ้าหน้าที่ได้อายัดไว้ที่โรงถลุงเหล็ก และในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังไม่ได้สั่งปิดโรงถลุงเหล็กดังกล่าว
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเหล็กสารกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม-137 น่าจะถูกถลุงหมดแล้ว เพราะทีมที่ไปตรวจไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก
ขณะนี้ทราบว่าได้ส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่ง ในประเทศ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 จำนวน 12 ตัน ในวันนี้ (20 มีนาคม) จะส่งเจ้าหน้าที่นำอุปกรณ์ตรวจวัดสารกัมมันตรังสี ลงพื้นที่ไปทำการตรวจสอบที่โรงงานรีไซเคิลดังกล่าวว่ามีฝุ่นแดงหลุดไปถึงที่นั้นหรือไม่
ส่วนอันตรายจากฝุ่นแดงและสารกัมมันตภาพรังสี ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ ถ้าไม่สัมผัสตลอดเวลาคงจะไม่ได้รับผลอะไร
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว, ช่อง 3