Thailand Web Stat

เตรียมลงดาบหน่วยงานรัฐ ปมแฮกเกอร์ 9near แฮกข้อมูลคนไทย 55 ล้านคนรั่วไหล

 
              คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองฯ เตรียมลงดาบหน่วยงานรัฐ กรณีแฮกเกอร์ 9near แฮกข้อมูลคนไทย 55 ล้านคนรั่วไหล พร้อมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา

แฮกเกอร์

            จากกรณีผู้ใช้งานบัญชี 9near โพสต์ขายข้อมูลที่อ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนตัวของคนไทยกว่า 55 ล้านรายการ บนเว็บไซต์ Bleach Forums โดยอ้างว่าได้มาจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งในไทย ซึ่งข้อมูลมีทั้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ วันเกิด เบอร์โทรศัพท์ และเลขประจําตัวประชาชน รวมทั้งมีการโพสต์ลักษณะข่มขู่ ให้เวลาหน่วยงานที่ทำหลุดติดต่อกลับมาภายในวันที่ 5 เมษายน มิเช่นนั้นจะปล่อยข้อมูลส่วนตัวของคนไทย 55 ล้านคน พร้อมแฉว่าหลุดจากหน่วยงานใด

            อ่านข่าว : แฮกเกอร์ ยกเลิกปล่อยข้อมูลคนไทย 55 ล้าน พลิกแฉสปอนเซอร์ นับถอยหลังเลย !!


              วันที่ 3 เมษายน 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กระทรวงดีอีเอส พลเอก ดร.ภุชพงศ์ พงษ์ศิริ ประธานคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 กล่าวถึงกรณีข้อมูลหน่วยงานรัฐ ภาครัฐรั่วไหลในขณะนี้ว่า ได้เรียกประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญข้อมูลส่วนบุคคลด่วนเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลในหน่วยงานภาครัฐตามที่เป็นข่าว คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 มีมติร่วมกันว่า

              1. ให้ดำเนินการสอบสวนหน่วยงานรัฐที่ทำให้ข้อมูลรั่วไหลเพื่อตรวจหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไขโดยทันที

              2. ให้มีคำสั่งเรียกหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการสื่อสาร และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มาชี้แจงประเด็นเรื่องข้อมูลรั่วไหลจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงจะขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจัดทำระบบกรองข้อมูล (Filtering system) เพื่อป้องกันปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบผ่านระบบ SMS

              3. ให้ สคส. เร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และขอความร่วมมือสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล โดยให้ดำเนินการปิดบังหมายเลขโทรศัพท์ และข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกนำมาเผยแพร่ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่ผิดตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

              4. เตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 72 (2) ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐว่ามีมาตรการรักษาความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลของประชาชนที่ได้มาตรฐานหรือไม่ โดยเฉพาะจะเริ่มตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐที่มีฐานข้อมูลประชาชนมากกว่า 1 ล้านข้อมูลขึ้นไป และให้หน่วยงานรัฐที่มีข้อมูลรั่วไหลมาชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่แจ้งเหตุข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ภายใน 72 ชั่วโมง หรือระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

              นอกจากนี้หากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญคณะที่ 2 ยังพิจารณาและมีความเห็นเพิ่มเติมว่า หากหน่วยงานที่ข้อมูลรั่วไหลดังกล่าวข้างต้นมีความผิดจริง คณะกรรมการฯ อาจพิจารณาโทษปรับทางการปกครอง ตามมาตรา 83 ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท

แฮกเกอร์


 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก PDPC Thailand




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตรียมลงดาบหน่วยงานรัฐ ปมแฮกเกอร์ 9near แฮกข้อมูลคนไทย 55 ล้านคนรั่วไหล อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2566 เวลา 16:54:27 5,136 อ่าน
TOP
x close