x close

MOU คืออะไร มีผลทางกฎหมายหรือไม่ แล้วทำไมถึงต้องทำ MOU

          MOU คืออะไร ย่อมาจากคำว่าอะไร แล้วมีผลทางกฎหมายไหม เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ MOU ที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมไทยกัน
         MOU คำนี้หลายคนคงจะเคยผ่านหูผ่านตาและได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงนี้ หลังจากที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ปี 2566 และได้หารือกับพรรคอื่น ๆ เสนอการทำ MOU เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยกำหนดวันลงนาม MOU ในวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 9 ปีของการทำรัฐประหารพอดี ทำให้หลายคนสงสัยว่า MOU คืออะไร ทำไมถึงถูกใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญในทางการเมือง กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมข้อมูลแบบเข้าใจง่าย ๆ มาฝากกัน

MOU คืออะไร

MOU คืออะไร

         MOU ย่อมาจาก Memorandum of Understanding พูดง่าย ๆ ก็คือ “บันทึกความเข้าใจ” หรือ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กรหรือบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เหมือนกัน คล้ายเป็นกรอบความร่วมมือที่ตกลงร่วมกันว่าฝ่ายหนึ่งจะทำอะไร ดำเนินการแบบไหน อย่างไร เมื่อไร และอีกฝ่ายก็รับรู้และเข้าใจในแนวทางนั้น ๆ 

         ซึ่ง MOU ไม่ได้ถือเป็นสัญญาผูกมัด (Contract) และไม่มีผลทางกฎหมาย แต่อาจจะถูกนำมาใช้อ้างอิงเมื่อเรื่องที่ทุกฝ่ายลงนามนั้นเกิดปัญหา จนต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และนำบันทึก MOU นี้มากล่าวอ้างได้

MOU ต่างจาก MOA อย่างไร

         MOA ย่อมาจาก Memorandum Of Agreement หมายถึง “บันทึกข้อตกลง” ถือเป็นหนังสือสัญญาที่มีการระบุหลักเกณฑ์หรือข้อกติกาให้ผู้ทำสัญญาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม MOA ก็อาจมีความผิดทางกฎหมายฐานประพฤติผิดสัญญา และอีกฝ่ายสามารถฟ้องร้องได้ ซึ่งแตกต่างจาก MOU ที่เป็นการบันทึกความเข้าใจร่วมกัน แต่ไม่ใช่ข้อสัญญาผูกมัดนั่นเอง

ทำไมต้องทำ MOU

         อย่างที่บอกไปว่าการทำ MOU เป็นเหมือนการทำความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน ด้วยความเต็มใจที่จะดำเนินการตามแผนการหรือเงื่อนไขที่ระบุไว้ในภาพมุมกว้าง ไม่เป็นสัญญาผูกมัดใด ๆ (Non-Legally Binding Agreement) ตามปกติ MOU ใช้สำหรับข้อตกลงที่มีขอบเขตจำกัด ไม่ได้เป็นการถาวร แค่ใช้เป็นเพียงหลักฐานยืนยันถึงการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน การให้ความช่วยเหลือด้านทรัพยากร องค์ความรู้ และบุคลากรระหว่างหน่วยงาน เป็นต้น
MOU คืออะไร

ตัวอย่างการทำ MOU

MOU แรงงานต่างด้าว

           MOU เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยขับเคลื่อนฐานการผลิตและช่วยแก้ไขแรงงานภายในประเทศไม่เพียงพอ โดยเป็นการทำข้อตกลงการนำเข้าแรงงานระหว่างประเทศไทยและประเทศเข้าร่วม ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเข้ามาทำงานภายในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน และได้รับใบอนุญาตทำงานเป็นระยะเวลา 2 ปี (E-Work Permit) ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่เข้าระบบ MOU จะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ตามที่ทางกฎหมายกำหนด และมีเอกสารประจำตัวครบถ้วน
MOU คืออะไร

MOU การเมือง

          การลงนาม MOU ทางด้านการเมืองในต่างประเทศมีการทำมานานแล้ว หลายประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ นิวซีแลนด์ เคนยา หรือประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซีย ก็มีการลงนาม MOU ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ในเมืองไทยล่าสุด การทำ MOU ของพรรคก้าวไกล นับเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับการเมืองไทย เพราะแม้ในอดีตจะมีการเจรจาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐบาลผสม แต่ก็เป็นเพียงการให้สัตยาบัน หรือสัญญาใจ เท่านั้น แต่ยังไม่เคยมีการจัดตั้งรัฐบาลใดที่มีการเซ็นบันทึก MOU อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนกับพรรคก้าวไกลในครั้งนี้เลย
MOU คืออะไร

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล - Move Forward Party

          โดย พรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง 2566 และได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก พร้อมกับได้เสนอร่าง MOU ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติในการบริหารประเทศเพื่อให้เกิดข้อตกลงและความเข้าใจที่เห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยพรรคก้าวไกลมีกำหนดแถลงลงนาม MOU ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปีของการรัฐประหาร 2557 โดยเป็นการลงนามระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด 8 พรรค ได้แก่ ก้าวไกล, เพื่อไทย, ไทยสร้างไทย, เสรีรวมไทย, ประชาชาติ, เป็นธรรม, เพื่อไทรวมพลัง และพลังสังคมใหม่

          นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่สามารถทำ MOU ได้ เช่น MOU เรื่องการส่งข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนภัยธรรมชาติผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น

          MOU หรือบันทึกข้อตกลง มีประโยชน์มากมาย บ่อยครั้งการลงนาม MOU ก็นับเป็นใบเบิกทางหรือจุดเริ่มต้นของความร่วมมือและการสืบสายสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันในหลาย ๆ หน่วยงานและหลาย ๆ ประเทศมาแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : law.disaster.go.th, billionthaisupplygroup.com, pronchinda.co.th, mahidol.ac.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
MOU คืออะไร มีผลทางกฎหมายหรือไม่ แล้วทำไมถึงต้องทำ MOU อัปเดตล่าสุด 24 พฤษภาคม 2566 เวลา 16:43:20 16,007 อ่าน
TOP