เปิด 3 ปัจจัย แพทย์ลาออกจากระบบราชการ ยิ่งกว่าการทำงานหนัก ชี้ปัญหามีมานาน แต่เริ่มสะท้อนชัดเจน ผอ. โรงพยาบาลรามาธิบดี ชี้ปัญหาบริหารงบกองทุนบัตรทอง ยิ่งเพิ่มภาระแพทย์

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
โดย รศ. นพ.สุรศักดิ์ ยอมรับว่า ประเด็นบุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากระบบราชการเป็นเรื่องจริง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวิชาชีพแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพยาบาลและเภสัชกรด้วย จะพบมากในบุคลากรที่ทำงานระบบราชการในต่างจังหวัด นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานาน และปัญหาเริ่มสะท้อนชัดเจนมากขึ้นจาก 3 ปัจจัย คือ

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
จากกรณีนักแสดงสาว ปุยเมฆ นภสร หรือ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล ได้ออกมาแชร์เรื่องราวหลังยื่นหนังสือลาออกจากราชการ เผยเหตุผลที่ตัดสินใจ เนื่องจากงานในระบบหนักจริง อยู่ในระดับทนได้ ไม่ตาย แต่ก็ใกล้ตาย พร้อมเล่าเรื่องที่เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย เช่นเดียวกับ หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ ที่พบเจอเหตุสุดทนจนตัดสินใจลาออกจากราชการ ทั้งที่จะได้เป็น ผอ. โรงพยาบาลแล้ว
อ่านข่าว : หมออั้ม เล่าลาออกราชการ ทั้งที่จะได้เป็น ผอ. รุ่นพี่คนนั้นคือคำตอบ จ. เดียวกันกับหมอปุยเมฆ
ต่อมาวานนี้ (5 มิถุนายน 2566) เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว เผยข้อมูลจาก รศ. นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) ในประเด็นแพทย์ลาออกจากระบบราชการ เนื่องจากระบบการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย และภาระงานที่เยอะจนทำให้แพทย์หลายคนต้องควงเวร บางส่วนไม่ได้พักผ่อน แต่ต้องเดินทางไปประชุมต่อจนเกิดอุบัติเหตุ
โดย รศ. นพ.สุรศักดิ์ ยอมรับว่า ประเด็นบุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากระบบราชการเป็นเรื่องจริง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวิชาชีพแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพยาบาลและเภสัชกรด้วย จะพบมากในบุคลากรที่ทำงานระบบราชการในต่างจังหวัด นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานาน และปัญหาเริ่มสะท้อนชัดเจนมากขึ้นจาก 3 ปัจจัย คือ
1. จากภาระงานที่มากขึ้น
2. ทัศนคติของบุคลากรรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องค่าตอบแทน ค่าครองชีพที่อาจไม่สอดคล้องกับในสภาวการณ์ปัจจุบัน โอกาสการศึกษาต่อเพื่อพัฒนา รวมถึงการฟ้องร้อง เพราะการรักษาคนไข้ในปัจจุบันก็ไม่เหมือนในอดีต
3. หลังสถานการณ์โควิด 19 ภาคเอกชน หรือต่างประเทศ มีความต้องการบุคลากรมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนออกนอกระบบ
ทั้งนี้ เรื่องบุคลากรลาออกเคยมีการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมาแล้วเมื่อต้นปี 2566 แต่เรื่องเหล่านี้ยังต้องมีการหารือกันบ่อยครั้ง แต่อีกส่วนที่ต้องยอมรับคือ การบริหารจัดการงบประมาณในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทำให้ภาระการทำงานของแพทย์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เงินบำรุงลดลง
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่ง บริหารงบประมาณด้วยสภาพตัวแดง ขาดทุน เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เพียงพอเพื่อพัฒนาระบบ ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งยังเป็นระบบใช้คนทำ กับงานบางประเภทหรือบางอย่างที่ควรนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ระบบสารสนเทศภายในโรงพยาบาล การใช้หุ่นยนต์จัดยา เพื่อลดต้นทุน
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว