ก้าวไกล เจาะพิรุธ คำตอบประธานไม่ตรงรายงานประชุม ซัด ขบวนการปลุกผี ITV !

          พรรคก้าวไกล แถลงล่าสุดชี้พิรุธเนื้อหาคำตอบประธานในคลิป ขัดแย้งเอกสารรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น จี้ผู้มีอำนาจ ITV ชี้แจง ส่วนกรณี ม.151 มั่นใจรอดคดีเหมือนหุ้นวีลัค


          จากกรณี ข่าว 3 มิติ เผยคลิปการประชุมผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 พร้อมระบุว่าบันทึกการประชุมที่มีการเผยแพร่เป็นเอกสารไม่ตรงกับการประชุมที่มีการถ่ายทอดผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการบันทึกเป็นคลิปวิดีโอไว้โดยเฉพาะช่วงคำถามว่า ITV ยังดำเนินกิจการสื่อหรือไม่ตามที่รายงานไปแล้วนั้น

อ่านข่าว : สรุปดราม่าร้อนจนไม่ได้นอน คลิปผู้ถือหุ้น ITV ไม่ตรงกับเอกสาร - นิกม์ โพสต์ แยมโต้ !


          ล่าสุดวันที่ 12 มิถุนายน 2566 นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าวโดยมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญ ดังนี้
 
          1. ความขัดแย้งระหว่างคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 กับรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัท ในประเด็นที่ว่า ไอทีวียังดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่

          หากดูคลิปการประชุมดังกล่าวจะพบว่า คุณภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ในฐานะผู้ถือหุ้น ได้ถามในที่ประชุมว่า บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหม จากนั้น นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้ตอบอย่างชัดเจนว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ"

          และในเอกสารรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กลับบันทึกไม่ตรงกับคลิปการประชุมอย่างสิ้นเชิง โดยระบุว่า "ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ"

          และก่อนที่นายเรืองไกรจะไปยื่นร้องต่อ กกต. นั้น นายนิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กของตนเองเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวี 2 วันว่า "นักการเมืองที่กำลังถือหุ้น ITV เตรียมตัวประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และมอบตัว กกต. ด้วยนะครับ หัวหน้าพรรคหนึ่งถือ 42,000 หุ้น"

          ทำให้น่าสงสัยว่ามีการวางแผนจะให้นายภานุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้นไอทีวีที่รับโอนหุ้นมาจากนายนิกม์ เพื่อตั้งคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เพื่อต้องการให้ผู้บริหารของไอทีวีตอบว่า ไอทีวียังดำเนินกิจการสื่อมวลชนอยู่ ใช่หรือไม่ และการที่บันทึกการประชุมไม่ตรงกับคำพูดนั้นถือเป็นการเข้าข่ายการทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จหรือไม่ และถือเป็นการทำผิดกฎหมายอีกหลายฉบับใช่หรือไม่ เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีอำนาจในบริษัทไอทีวีต้องตอบคำถามต่อสังคมให้ชัดเจน

          2. ความขัดแย้งกันระหว่างคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 กับแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 และเอกสารงบไตรมาสแรกปี 2566 ของไอทีวี

          หากพิจารณาใจความสำคัญของข้อความที่ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไขในบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น คือการแก้ไขคำตอบของประธานในที่ประชุม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ก่อนวันเลือกตั้ง 4 วัน และเป็นวันเดียวกับที่นายเรืองไกรไปยื่นร้องต่อ กกต. หรือไม่ เพราะในเอกสาร (ส.บช.3) ดังกล่าวระบุประเภทธุรกิจว่า "สื่อโทรทัศน์" และระบุสินค้า/บริการว่า "สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน" ต่างจากน (ส.บช.3) ของไอทีวีในปี 2561-2562 ที่ระบุประเภทธุรกิจว่า "กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก" และปี 2563-2564 ที่ระบุประเภทธุรกิจว่า "สื่อโทรทัศน์" โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า "ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ"

          ซึ่งข้อความใน (ส.บช.3) ขัดแย้งกับการตอบของประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ปรากฏในคลิป ที่มีการซักถามว่า "หากคดีความต่าง ๆ จบสิ้นเรียบร้อย บริษัทจะมีปันผลไหม บริษัทจะมีแผนการดำเนินงานธุรกิจต่อไป หรือจะเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกหรือเปล่า บริษัทจะมีแผนชำระบัญชี หรือกิจการคืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นหรือไม่"
       
          แสดงให้เห็นว่า ณ วันที่ 26 เมษายน 2566 นายคิมห์ สิริทวีชัย ในฐานะประธานที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการบริษัท มิได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่ว่าไอทีวีประกอบกิจการ "สื่อโทรทัศน์" และมีรายได้จาก "สื่อโฆษณา" แต่อย่างใด แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรว่า แบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ในปี 2566 จะระบุว่า รายได้ของไอทีวีในรอบปี 2565 มาจากสื่อโทรทัศน์ โดยมีสินค้า/บริการ คือ "สื่อโฆษณา"

          จากข้อพิรุธนี้ ยังทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับรายงานงบแสดงฐานะการเงินไตรมาส 1/2566 ของไอทีวี (สามารถดูได้ในเว็บไซต์) เพราะในหมายเหตุประกอบงบการเงินงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 หน้าสุดท้ายมีการระบุว่า "เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2566"

          คำถามคือว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ไอทีวีจะมีรายได้จากการเป็น "ผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา" เพราะ นายคิมห์ ตอบคำถามว่าบริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ต้องรอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน หากไอทีวีมีแผนธุรกิจดังกล่าวจริง นายคิมห์ย่อมต้องแจ้งในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ถึงความเป็นไปได้ในการมีแผนธุรกิจใหม่ แต่ปรากฏว่าหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นเพียง 2 วัน คณะกรรมการบริษัทมีมติรับทราบ "แผนธุรกิจใหม่"
       

          3. สุดท้าย พรรคก้าวไกล ขอยืนยันกับประชาชนว่า เราจะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องรักษาเสียงของประชาชน แม้จะมีความพยายามใช้ประเด็นหุ้นไอทีวีเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลหยุดปฏิบัติหน้าเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

        ส่วนกรณีที่ กกต. อาจจะดำเนินคดีกับนายพิธาในอนาคต ตามความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น พรรคก้าวไกลมั่นใจว่า ข้อกล่าวหานี้ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ เช่นเดียวกับที่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ในคดีหุ้นวีลัค และทางพรรคมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องคดีหุ้นไอทีวี ถ้า กกต. มีการสอบสวนเรื่องนี้เพื่อส่งศาล รธน. เราจะต่อสู้อย่างเต็มที่ เราเชื่อมั่นว่าไม่มีใครกล้ารวบรัดกระบวนการสอบสวน และฟ้องเรื่องนี้ โดยรวบรัดได้อีก


ข้อมูลจาก พรรคก้าวไกล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ก้าวไกล เจาะพิรุธ คำตอบประธานไม่ตรงรายงานประชุม ซัด ขบวนการปลุกผี ITV ! อัปเดตล่าสุด 12 มิถุนายน 2566 เวลา 16:39:17 12,763 อ่าน
TOP
x close