กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ทางสว่าง อยากขายปังชาต่อทำยังไง หลังมีคนโดนโนติส 102 ล้าน


          กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ทางสว่าง อยากขายปังชาต่อ ต้องทำยังไง หลังมีคนโดนโนติส 102 ล้าน ข้อหาผิดลิขสิทธิ์ ความจริงคือ มันยังมีทางรอด และก็มีทางที่ถ้าทำแล้วผิดกฎหมายแน่ ๆ
          ชื่อของปังชา กลายเป็นชื่อที่โด่งดังผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก หลังจากที่มีร้านแห่งหนึ่งแจ้งว่า ได้จดทรัพย์สินทางปัญญาคำ ๆ นี้เอาไว้ แล้วก็มีการยื่นโนติสให้กับร้านปังชาร้านหนึ่ง เรียก 102 ล้านบาท ทำให้หลายคนสงสัยว่า เรื่องนี้ทำได้หรือไม่ เพราะคำว่าปังชามันก็เป็นคำทั่วไป

          ล่าสุด วันที่ 30 สิงหาคม 2566 เฟซบุ๊ก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ออกมาชี้แจงข้อสงสัยและให้ความรู้ไปพร้อม ๆ กัน ดังนี้

ความหมายของคำว่า ลิขสิทธิ์


          หมายถึงการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่เจ้าของผลงานที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยเกิดขึ้นทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน และไม่ต้องจดทะเบียน เช่น งานวรรณกรรม งานดนตรี งานภาพยนตร์ เป็นต้น

          ถ้าหากเป็นลิขสิทธิ์ในร้านอาหาร ก็อาจจะหมายถึงภาพถ่ายสินค้า รูปเล่มของเมนูอาหาร ภาพวาดบนภาชนะใส่อาหาร เป็นต้น ดังนั้น ถ้าหากผู้ประกอบการต้องการนำภาพวาดหรือภาพถ่ายของผู้อื่นไปใช้ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนเสมอ

          อย่างไรก็ตาม หากมีการออกแบบภาพวาด ภาพถ่ายที่ทำขึ้นเอง แต่คล้ายกับคนอื่น เช่น มุมเดียวกัน แนวคิดเดียวกัน ก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของใคร

          ส่วนหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะมีบริการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการตรวจสอบ และขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์


ความหมายของคำว่าสิทธิบัตร


          สิทธิบัตร ความหมายคือจะเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองในแง่ของผลกำไรหรือทางธุรกิจ ซึ่งต่างจากลิขสิทธิ์ที่เน้นคุ้มครองเรื่องความคิดริเริ่มมากกว่า แบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้

          - สิทธิบัตรการประดิษฐ์ จะเกี่ยวกับการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่มีความซับซ้อน เช่น กระบวนการฆ่าเชื้อสเตอริไรซ์สำหรับอาหาร เป็นต้น

          - อนุสิทธิบัตร เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น แต่ไม่มีความซับซ้อน เช่น สูตรอาหารเจลสำหรับพกพา หรือเครื่องผลิตน้ำแข็งไสแบบเกล็ดละเอียด

          - สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นการคุ้มครองรูปร่าง ลวดลาย องค์ประกอบของสี เช่น รูปร่างขนมที่มีลักษณะพิเศษ ลวดลายของกล่องบรรจุอาหาร เป็นต้น

ปังชา มีส่วนทั้งผิดและไม่ผิดสิทธิบัตร


          น้ำแข็งไสราดชาไทย มีมานานแล้ว จึงไม่มีใครจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร อ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้ อย่างไรก็ตาม ภาชนะที่ใส่ปังชาของแบรนด์ดังกล่าว มีการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เอาไว้ ดังนั้น ใคร ๆ ก็สามารถขายน้ำแข็งไสราดชาไทยได้ แต่ห้ามเอาลวดลายที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไปใช้

          อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดสูตรขนมขึ้นใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน สามารถขอจดอนุสิทธิบัตรได้ ไม่มีปัญหา


ว่าด้วยเครื่องหมายการค้า


          เครื่องหมายการค้า คือ ชื่อ ข้อความ โลโก้ ภาพ กลุ่มของสีหรือเสียงหรือหลายอย่างรวมกัน เพื่อสร้างความจดจำในแบรนด์สินค้า แต่เครื่องหมายการค้าคุ้มครองได้ตามรูปแบบที่จดทะเบียนเท่านั้น หากข้อความหรือภาพบางส่วนที่สื่อถึงคุณสมบัติหรือคุณภาพสินค้า จะต้องถูกสละสิทธิ แต่ยังปรากฏบนเครื่องหมายการค้าได้

          ซึ่งการสละสิทธิ หมายถึง ไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้ข้อความนี้หรือภาพนี้ในลักษณะอื่น แต่ถ้ามีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ และเป็นสินค้าบริการที่ใกล้เคียง ยังคงห้ามได้อยู่

สรุป ร้านอื่นใช้คำว่า "ปังชา" ได้หรือไม่ ก็ไม่ 100% มีข้อยกเว้นอยู่


          ดังนั้น คำว่า ปังชา หรือ ปัง...ชา กับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ก็ยังคงทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ทำให้นึกถึงแบรนด์นั้น ๆ

          อย่างไรก็ตาม ข้อความหรือภาพ แม้จะมีส่วนที่สละสิทธิ แต่ก็ไม่ใช่ว่าใช้กับทุกกรณี เช่น หากสืบได้ว่ามีการใช้มาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน จนผู้บริโภคจดจำและแยกแยะได้ว่าเป็นแบรนด์ของสินค้า



ติดตามข่าวดราม่าจดทะเบียน ปังชา ที่น่าสนใจ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ทางสว่าง อยากขายปังชาต่อทำยังไง หลังมีคนโดนโนติส 102 ล้าน อัปเดตล่าสุด 30 สิงหาคม 2566 เวลา 15:17:39 12,417 อ่าน
TOP
x close