x close

นาร์กีส ภัยพิบัติผลพวงจาก ภาวะโลกร้อน





เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

         หลังจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่าโดนฤทธิ์พายุไซโคลนที่มีชื่อว่า "นาร์กีส" ถล่มซะจนได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง กลืนชีวิตผู้คนไปแล้วหลายหมื่นราย ผู้คนอีกนับแสนไร้ที่อยู่และไม่มีนํ้าดื่ม เรียกได้ว่าสร้างความเสียหายให้กับประเทศพม่ามากเป็นประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ 

         ทันทีที่พายุนาร์กีสเริ่มฉายภาพความรุนแรงหลังซัดถล่มประเทศพม่าอย่างบ้าคลั่ง ทำให้หลายคนวิตกกังวลว่าพายุไซโคลนนาร์กีสกำลังจะคืบคลานเข้ามาสร้างภัยพิบัติให้กับประเทษไทยเรา พร้อมๆ กับตั้งคำถามว่าทุกวันนี้คนไทยรู้จักพายุที่มีความรุนแรงระดับนาร์กีสเพียงใด เอาเป็นว่าเราไปรู้จักกับที่ไปที่มาของมหัตภัยจากธรรมชาติที่มีชื่อว่า "นาร์กีส" กันก่อน เพื่อจะได้เตรียมรับมือหรือหาวิธีป้องกัน...  

         พายุ คือ สภาพบรรยากาศที่ถูกรบกวนแบบใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อพื้นผิวโลก และบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่รุนแรง เวลากล่าวถึงความรุนแรงของพายุ จะมีเนื้อหาสำคัญอยู่บางประการคือ ความเร็วที่ศูนย์กลาง ความเร็วของการเคลื่อนตัว ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ และขนาดความกว้างหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวพายุ ซึ่งบอกถึงอาณาบริเวณที่จะได้รับความเสียหายว่าครอบคลุมเท่าใด และพายุแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 ประเภท คือ

         1. พายุฝนฟ้าคะนองมีลักษณะเป็นลมพัดย้อนไปมา หรือพัดเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน อาจเกิดจากพายุที่อ่อนตัวและลดความรุนแรงของลมลง หรือเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องความกดอากาศต่ำ อาจไม่มีทิศทางที่แน่นอน 

        2.พายุหมุนเขตร้อนต่างๆ เช่น เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น และไซโคลน ซึ่งล้วนเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน และจะเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นก่อตัวในทะเล หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร จะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยมีชื่อต่างกันตามสถานที่เกิด กล่าวคือ 

         ++ พายุเฮอร์ริเคน (hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก 

         ++ พายุไต้ฝุ่น (typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น 

         ++ พายุไซโคลน (cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย เหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น แต่ถ้าพายุนี้เกิดบริเวณทะเลติมอร์และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย จะเรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี (willy-willy) 

         ++ พายุโซนร้อน (tropical storm) เกิดขึ้นเมื่อพายุเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลง ขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง มีความเร็วลม 62-117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

         ++ พายุดีเปรสชัน (depression) เกิดขึ้นเมื่อความเร็วลดลงจากพายุโซนร้อน ซึ่งก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก มีความเร็วลมน้อยกว่า 61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

         3. พายุทอร์นาโด (tornado) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดในทวีปอเมริกา มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่าศูนย์กลางน้อย แต่หมุนด้วยความเร็วสูง หรือความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่นๆ ก่อความเสียหายได้รุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน เกิดได้ทั้งบนบกและในทะเล 

         สำหรับ "นาร์กีส" (Nargis) เป็นชื่อเรียกของพายุหมุนเขตร้อน เกิดในอ่าวเบงกอลตอนกลาง ในประเทศปากีสถานมีความเร็วลม 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จัดอยู่ในความรุนแรงระดับ 3 คือทำลายล้างปานกลาง ทำลายโครงสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก น้ำท่วมขังถึงพื้นบ้านชั้นล่าง ซึ่งระดับความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมเกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 

         - ระดับที่ 1 มีความเร็วลม 119-153 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างเล็กน้อย ไม่ส่งผลต่อสิ่งปลูกสร้าง มีน้ำท่วมขังตามชายฝั่ง 

        - ระดับที่ 2 มีความเร็วลม 154-177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างเล็กน้อย ทำให้หลังคา ประตู หน้าต่างบ้านเรือนเสียหายบ้าง ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง 

        - ระดับที่ 3 มีความเร็วลม 178-209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างปานกลาง ทำลายโครงสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก น้ำท่วมขังถึงพื้นบ้านชั้นล่าง 

         - ระดับที่ 4 มีความเร็วลม 210-249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างสูง หลังคาบ้านเรือนบ้านเรือนบางแห่งถูกทำลาย น้ำท่วมเข้ามาถึงพื้นบ้าน 

         - ระดับที่ 5 มีความเร็วลมมากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทำลายล้างสูงมาก หลังคาบ้านเรือน ตึกและอาคารต่างๆ ถูกทำลาย พังทลาย น้ำท่วมขังปริมาณมาก ถึงขั้นทำลายทรัพย์สินในบ้าน อาจต้องประกาศอพยพประชาชน

         ขณะเดียวกันหลังพายุไซโคลน "นาร์กีส" ที่มีความเร็วลม 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซัดถล่มเมืองย่างกุ้งและบาสเซน แถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ของประเทศพม่า เมื่อเช้าตรู่วันที่ 3 พฤษภาคม 2551ซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่าจะจู่โจมประเทศบังกลาเทศก่อน แต่ก็เปลี่ยนทิศทางลมมาที่ประเทศพม่าแทน สำหรับความรุนแรงของไซโคลนนาร์กีสพัดหลังคาบ้านเรือนปลิวว่อน ต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่น ไฟฟ้าดับทั่วเมือง ในขณะที่ทางภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทยก็เจอหางเลขอิทธิพลนาร์กีสเล็กน้อย ซึ่งทำให้หลายจังหวัดเกิดฝนตกชุก มีน้ำท่วมขัง 

         พิบัติภัยธรรมชาติไม่มีทางเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะประเทศไหนหรือแผ่นดินใด ไม่มีทางหลีกลี้หนีพ้น แต่มีวิธีป้องกันซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดก็คือ รัฐบาลต้องมีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ early warning คือเตือนประชาชนคนของตนแต่แรก ด้วยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและทันการณ์ จากนั้นก็ต้องรีบดำเนินการต่างๆ อย่างเหมาะสม เช่น ย้ายผู้คนให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัย ทั้งนี้ นับเป็นโชคดีของประเทศไทยที่ เมื่อนาร์กีสมาถึงบ้านเราก็ลดความแรงลง คงมีแต่ฝนเป็นส่วนใหญ่ แม้จะทำความเสียหายแก่พืชไร่ ของเกษตรกรไม่น้อยแต่ก็เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ ได้พอเพียงที่จะไว้ใช้เพาะปลูกได้ 

         อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาประกาศเตือนประชาชนแล้วว่า ปีนี้ฤดูฝนจะมาเร็วกว่าปกติ ซึ่งที่จริงแล้วฤดูฝนจะเริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคม แต่ปีนี้มาตั้งแต่ต้นเดือนทำให้ถึงฤดูฝนเร็วขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากพายุไซโคลนนาร์กีส ประกอบกับลานินญ่า โลกร้อน และการแปรปรวนของสภาพอากาศ ประชาชนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะพายุมีโอกาสเข้ามาได้ ทำให้หลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่าผลพวงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาจาก "ภาวะโลกร้อน" ซึ่งก็เกิดจากฝีมือมนุษย์ล้วน

         ภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะมันมีพลังอำนาจทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้อย่างน่าหวาดหวั่น เมื่อเกิดแล้วก็อาจจะเงอะงะกันไปทั้งประเทศ อย่างที่รัฐบาลทหารพม่ากำลังประสบอยู่ในขณะนี้...


ข่าวที่เกี่ยวข้อง



- พระเทพฯ ทรงห่วงคนไทย-พม่า น้ำทะเลอุ่นปะทะเย็นไทยเสี่ยง
- พม่าจ่อ 5 หมื่นศพ-นาร์กิสฤทธิ์เท่าสึนามิ
- เหยื่อ นาร์กีส พุ่ง 1.5 หมื่นราย แล้ว
- เอลนีโญส่งผลทะเลไทย น้ำเย็นลงมีตะกอนขุ่นทำให้คัน 
- ตะลึง! ทะเลเหือด
- เสียงเตือนจาก "อัล กอร์" "หยุดโลกร้อน...คุณทำได้ !"
- เมืองมืดเพื่อโลกสว่าง
- "สมิทธ" เตือนมหาวิบัติภัย ยัน "ภาวะโลกร้อน" ของจริง
- โลกร้อน...ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง จริงหรือ?
- "ภาวะโลกร้อน" ความจริงช็อกโลก!!! 
- พิษวิกฤตโลกร้อนน้ำตกแห้ง-ป่าลด 
- เผย กทม. ปีนี้ ร้อนทะลุ 40 องศา
- "โลกร้อน" พาโลกมนุษย์ ย้อนกลับสู่ยุคไดโนเสาร์!
- ไทยมีเอี่ยวทำโลกร้อน ติดอันดับ 9 โลกปล่อยก๊าซสูงสุด
- ปี 2549 ทำสถิติ ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ 



ข้อมูลจาก
 
  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นาร์กีส ภัยพิบัติผลพวงจาก ภาวะโลกร้อน อัปเดตล่าสุด 15 ตุลาคม 2551 เวลา 15:54:40 145,433 อ่าน
TOP