นวัตกรรมการเกษตรวิถีใหม่ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรอยยิ้มให้ชุมชน

จะดีแค่ไหน ? หาก “เกษตรกรรม” ซึ่งเป็นรากฐานวิถีชีวิตของสังคมไทย ได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

นวัตกรรม ปตท.

ในช่วงหลายปีมานี้ ความสนใจในการทำเกษตรกรรมมีมากขึ้น ได้ถือกำเนิดเกษตรกรรุ่นใหม่มากมาย มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่ดี ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นตามลำดับ กลุ่ม ปตท. จึงมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาชุมชนเกษตรให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยพลังของหนุ่มสาวที่กลับสู่บ้านเกิดในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพื่อไปสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยได้จ้างงานนักศึกษาจบใหม่จากโครงการ Restart Thailand เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่โครงการ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานที่สร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและพื้นที่บ้านเกิด ช่วยต่อยอดทักษะให้คนในชุมชนผ่านโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม ซึ่งดำเนินงานเพื่อชุมชนและสังคมมากว่า 3 ปีแล้ว

นวัตกรรม ปตท.

จนนำมาสู่งาน PTT Group Innovation for Future Society จุดพลังสร้างอนาคต ขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืน ที่เสมือนเป็นการสรุปรวมสิ่งต่าง ๆ ที่ กลุ่ม ปตท. ได้ร่วมกับชุมชน เครือข่ายต่าง ๆ นำนวัตกรรม เทคโนโลยี เทคนิค กลยุทธ์ หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้าไปเสริมกับต้นทุนเดิมของแต่ละพื้นที่ จนสามารถทำให้ชุมชนเกษตรเหล่านั้นสามารถข้ามอุปสรรค บริหารจัดการตนเองได้ และก้าวสู่การเป็นเกษตรวิถีใหม่ เราจึงถือโอกาสพาทุกคนไปรู้จักกับนวัตกรรมเพื่อชุมชน ที่ดำเนินการโดยโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท. จะมีนวัตกรรมอะไรน่าสนใจบ้าง และเป็นแนวทางให้แต่ละพื้นที่ได้ลองนำไปปรับใช้ได้ ตามไปดูกันเลยค่ะ

นวัตกรรมเพื่อชุมชน ต้นแบบการเกษตรวิถีใหม่
ในยุคเทคโนโลยี

โรงเรือนอัจฉริยะ และ IoT ระบบน้ำ

นวัตกรรม ปตท.

นวัตกรรม ปตท.

นวัตกรรม ปตท.

โรงเรือนอัจฉริยะที่ใช้ระบบ IoT (Internet of Things) จะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่เพาะปลูก มีส่วนช่วยควบคุมระบบการเพาะปลูกให้พืชเจริญเติบโตได้เร็ว ลดเวลาทำการเกษตร สามารถคุมอุณหภูมิและปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก ลดความเสียหายของผลผลิตจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน กำหนดรอบการเพาะปลูกได้ มีผลผลิตสม่ำเสมอ ไว้กินไว้ขายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกัน อาทิ

  • ระบบเซ็นเซอร์สำหรับวัดค่า pH อุณหภูมิและความชื้นในดิน เพื่อมอนิเตอร์สภาพอากาศและคุณภาพของดิน ตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติ ควบคุมระบบเปิด-ปิดและปริมาณน้ำได้ จากโครงการสวนผักปันรัก สถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง

  • โรงเรือน IoT ระบบน้ำ ช่วยลดความเสียหายของต้นมะสังดัดของวิสาหกิจชุมชนฅนดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่มีลมพัดแรงทำให้ใบมะสังดัดเสียหาย และยังติดตั้งโรงเรือนเพาะเมล็ดและรักษาไม้ดัด เพิ่มความแข็งแรงให้ต้นกล้าและต้นมะสังดัดที่พร้อมเข้าสู่กระบวนการดัดจำหน่าย

  • โรงเรือน IoT ร่วมกับภูมิปัญญาการใช้ชันโรงผสมเกสรเมลอน จากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลพิมาน จังหวัดนครพนม ช่วยลดการเกิดโรคเชื้อรา ลดเวลาการปลูกเมลอนได้ถึง 5.5 เท่า เพิ่มรายได้ได้ถึง 150,000 บาทต่อปี

  • โรงเรือนและ IoT ระบบน้ำเพื่อปลูกพืชผักสวนครัวชนิดอื่นนอกเหนือจากการทำนาปลูกข้าวของวิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่ จังหวัดสระบุรี เพิ่มรายได้ให้ชุมชน ควบคุมปริมาณการรดน้ำ และกำหนดรอบการเพาะปลูกได้

  • โรงเรือน IoT ร่วมกับการติดตั้งหลอดไฟ LED เพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืชผักสวนครัวและผักสลัดของชุมชนบ้านห้วยขาบ จังหวัดน่าน ให้สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี

โดรนเพื่อการเกษตร

นวัตกรรม ปตท.

“AiAng” หรือ “เอี้ยง” นวัตกรรมโดรนเพื่อการเกษตร โดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มี 4 ก้านใบพัด 4 หัวฉีด นำไปใช้ในภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก พ่นสารเคมีอย่างปุ๋ยน้ำได้อย่างแม่นยำ สม่ำเสมอ และทั่วถึง ย่นระยะเวลา ลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ลดการสัมผัสสารเคมี และช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายได้

โซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร

นวัตกรรม ปตท.

นวัตกรรม ปตท.

ต้นทุนด้านพลังงานถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายอันดับต้น ๆ ในการทำเกษตรกรรม อีกทั้งบางพื้นที่ยังห่างไกลระบบไฟฟ้า จึงมีการนำนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ มาใช้ในหลายรูปแบบ ช่วยประหยัดค่าไฟได้มากขึ้น เช่น

  • โครงการ GPSC Smart Farming อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง และอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาขนาด 5kW ประหยัดค่าไฟได้ถึง 24,000 บาทต่อปี

  • โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ชุมชนบ้านห้วยขาบ จังหวัดน่าน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอบเมล็ดกาแฟ ลดเวลาตากแห้งเมล็ดกาแฟได้ถึง 1.75 เท่า มีผลผลิตเมล็ดกาแฟที่แน่นอน

  • Floating PV ระบบสูบน้ำในการเพาะปลูกจากพลังงานทดแทนของนาวาฟาร์ม จังหวัดชลบุรี ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและลดเวลา โดยทำงานร่วมกับโรงเรือน IoT ระบบน้ำ

  • โซลาร์เซลล์สูบน้ำจากวิสาหกิจชุมชนพออินคำแคน จังหวัดขอนแก่น ช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงในการปั่นไฟ 

  • ตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จากสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ช่วยให้ผลผลิตสะอาด ปลอดภัยจากฝุ่นและแมลง ใช้เวลาในการตากแห้งน้อยลง เช่น กล้วยตาก ใช้เวลาเพียง 4-5 วัน มีสีสันสวยงาม เนื้อนุ่ม หวาน หอม ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 100%

ฟิล์มเพื่อการเกษตร

นวัตกรรม ปตท.

ผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อการเกษตรนี้เป็นนวัตกรรมจากเม็ดพลาสติก โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงาน ลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะสามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติ เช่น ฟิล์มคลุมดิน (Bio Mulch Film) รักษาความชื้นในดิน ป้องกันวัชพืช สะท้อนแสงอาทิตย์เพื่อลดความร้อนในดิน ถุงเพาะ (Bio Nursery Bag) ใช้ปลูกต้นกล้า เหนียว ไม่ขาดง่าย ช่วยให้ต้นกล้าเติบโตอย่างแข็งแรง ฟิล์มคลุมโรงเรือน (Green House Film) ผลิตจากเม็ดพลาสติก InnoPlus คุณภาพสูง ช่วยคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืช และแผ่นจีโอเมมเบรน (Geomembrane) แผ่นพลาสติกหนาที่มีความแข็งแรง ทนทานทุกสภาพอากาศ เพื่อไม่ให้น้ำไหลลงไปในดินและป้องกันแหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษ นิยมนำมาใช้งานการก่อสร้างบ่อขยะ อ่างเก็บน้ำ บ่อไบโอแก๊ส 

สารปรับปรุงดินไบโอชาร์ (Biochar)

นวัตกรรม ปตท.

สถาบันนวัตกรรม ปตท. ได้สนับสนุนการแปรรูปเศษไม้ให้เป็นสารปรับปรุงดินไบโอชาร์ (Biochar) เพื่อใช้เป็นปุ๋ยหมักเศษใบไม้ด้วยจุลินทรีย์ BioBooster เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตพืชใบ ลดต้นทุน เวลา และเพิ่มอาหารให้กับดิน โดยพื้นที่แต่ละแหล่งจะใช้วัตถุดิบไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับผลผลิตของแต่ละแห่ง เช่น ศูนย์เรียนรู้ตำบลวิถีพอเพียง ตำบลท่ามะนาว จังหวัดลพบุรี ผลิตไบโอชาร์จากถ่านไม้ไผ่ผสมกากตะกอนมูลสุกร ช่วยลดค่าปุ๋ยยูเรีย 3 เท่า ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ส่วนวิสาหกิจชุมชนพออินคำแคน จังหวัดขอนแก่น ผลิตไบโอชาร์จากเหง้ามันสำปะหลังผสมกากตะกอนมูลสุกร 

นาโนซิงก์ออกไซด์ (Nano ZnO)

นวัตกรรม ปตท.

นาโนซิงก์ออกไซด์ (Nano ZnO) นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น ปุ๋ยหมีขาว รีอินฟอกซ์ โดย IRPC เป็นซิงก์ออกไซด์ระดับนาโนที่มีน้ำเป็นส่วนผสม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทำให้พืชดูดซึมสารอาหารเสริมได้ดีขึ้น เร่งผลผลิต และทนต่อสภาวะอากาศได้ดี 

เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว

การทำนาปลูกข้าวในสมัยก่อนต้องอาศัยคนในการหว่านเมล็ดพันธุ์ ซึ่งใช้เวลานาน วิสาหกิจตามรอยพ่อ ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลบ้านน้ำพุ จังหวัดสุโขทัย ได้นำนวัตกรรมเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวแทนการหว่านแบบเดิมควบคู่ไปกับการใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นข้าวได้รับสารอาหารตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 2 เท่า และยังใช้นวัตกรรมเครื่องอบข้าวลดความชื้นแทนการตากข้าวตามถนน ช่วยให้ข้าวทุกเม็ดแห้งสม่ำเสมอ คงเหลือความชื้นต่ำ ผลผลิตได้ราคาดี

ระบบเทคโนโลยีโทรมาตร

ดำเนินการโดย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ Thaioil เป็นเทคโนโลยีผันน้ำที่นำมาใช้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่กักเก็บไว้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงต้องผันจากที่อื่นมาเติม ช่วยให้สำนักงานกรมชลประทานที่ 9 จังหวัดชลบุรี สามารถจัดเก็บข้อมูลปริมาณน้ำและติดตามปริมาณน้ำที่สูบออก-ผันเข้าได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่มีปริมาณน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอ

นวัตกรรม ปตท.

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท. ได้นำความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการจัดการ เข้าไปเสริมกับทุนเดิมของแต่ละชุมชนจนก้าวสู่การเกษตรวิถีใหม่แบบ SMART Farming อีกทั้งยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดทำแผนการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผสานกับองค์ความรู้ต่าง ๆ ยกระดับสินค้าการเกษตรด้วยหลัก SMART Marketing เพื่อทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นมีรายได้ ก้าวข้ามอุปสรรคและบริหารจัดการตนเอง สามารถยืนได้ด้วยตัวเองแบบยั่งยืน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นวัตกรรมการเกษตรวิถีใหม่ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรอยยิ้มให้ชุมชน อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10:48:03 3,272 อ่าน
TOP