เปิดหลักสูตร STEEM 4E คอนเซ็ปต์การเรียนการสอนรูปแบบที่ไม่เหมือนใครจากโรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือก (ถาวรวิทย์อุปกฤต) ต้นแบบการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC
“เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” วลีหนึ่งจากเพลงวันเด็กแห่งชาติที่ได้ยินกันมานาน เพราะเด็กถือเป็นกำลังสำคัญที่จะเติบโตและมีโอกาสได้พัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องการศึกษาเลี้ยงดู และการปลูกฝังวางรากฐานให้เด็กมีความเข้มแข็งทั้งภายในและภายนอก ใช้ปัญหาหรือเรื่องที่สงสัยเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้พร้อมรับกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และวันนี้เราจะพาทุกคนไปที่ โรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือก (ถาวรวิทย์อุปกฤต) 1 ใน 209 โรงเรียนที่ได้เข้าร่วมแผนพัฒนาการศึกษาในโครงการ PTT Group School Model โดย กลุ่ม ปตท. เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนไทยมีความเข้มแข็งทั้งการศึกษาและจิตใจ และยังเป็นต้นแบบในการใช้หลักสูตร STEEM 4E ด้วย
หลักสูตร STEEM 4E ต้นแบบการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ปูพื้นฐานเด็กให้พร้อมเผชิญโลกกว้าง
หลายคนคงจะเคยได้ยินหลักสูตร “สะเต็มศึกษา” (STEM Education) หรือ การบูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) โดยนำเอาแกนหลักของสาขาวิชาเหล่านี้มาผสานรวมกัน เป็นการบูรณาการระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นไปที่ทักษะหรือการปฏิบัติจริง ไม่ใช่เพียงการเรียนทฤษฎีเท่านั้น
กลุ่ม ปตท. ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการศึกษาของเด็กไทยให้สูงขึ้น เพื่อช่วยยกระดับการพัฒนาบุคลากร ทั้งคุณครู นักเรียน รวมไปถึงผู้ปกครอง จึงเกิดเป็นแผนพัฒนาการศึกษาในรูปแบบของ กลุ่ม ปตท. หรือโครงการ PTT Group School Model พัฒนาทักษะความรู้ ยกระดับการศึกษา ผ่านกระบวนการ STEEM 4E (สตีม โฟร์อี) เป็นหลักสูตรการศึกษาแนวใหม่ นำไปปรับใช้กับโรงเรียนในเครือข่าย โดย 4E จะนำจุดแข็งและองค์ความรู้จากความชำนาญของกลุ่ม ปตท. มาประยุกต์และส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน 4 อย่าง คือ
- Energy Literacy ความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงาน สร้างการตระหนักรู้ถึงการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ยั่งยืน และรู้จักการใช้พลังงานทดแทน
- Environmental Awareness ความรู้ด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ หวงแหน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า
- Entrepreneurship การเรียนรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ เมื่อเด็กเติบโตและได้ทำธุรกิจก็จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้
- Ethics & Growth Mindset ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม พร้อมกับการเรียนรู้ให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ ให้กรอบความคิดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
รู้จักกับหลักสูตร STEEM 4E ที่โรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือก
นางสาวจุฬาลักษณ์ ใหม่คำ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือก (ถาวรวิทย์อุปกฤต) หรือ ผอ.เอ๋ ผู้ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดหลักสูตร STEEM 4E ในโรงเรียนแห่งนี้มานานกว่า 6 ปี ได้เล่าให้ฟังว่า “เดิมที โรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือกก็ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบูรณาการจาก โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ที่เปิดโอกาสให้เด็กไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวยสามารถเข้าเรียนได้แบบไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีหลักการในการให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง แล้วบูรณาการการเรียนการสอนให้เหมาะสม จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะนำกลับมาประยุกต์ใช้กับที่นี่ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งครูและนักเรียน”
ทางโรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือกจึงได้นำแนวคิดและเครื่องมือเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงมีการนำนวัตกรรมจาก กลุ่ม ปตท. มาใช้ ทั้งการทำจิตศึกษา ฝึกซอฟต์สกิลต่าง ๆ การทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหา รวมถึงการพูดคุยเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีทั้งนักเรียน-ครู, นักเรียน-ผู้ปกครอง และครู-ผู้ปกครอง โดยรูปแบบการเรียนการสอนของที่นี่จะเป็นรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- ปัญญาภายใน หรือ การทำจิตศึกษา มนุษยธรรม ซอฟต์สกิลต่าง ๆ
- ปัญญาภายนอก PBL (Problem-Based Learning) การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหา
- ความสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้ปกครอง PLC (Professional Learning Community) การพูดคุยเพื่อความสัมพันธ์ที่ดี
วิถีการเรียนของเด็กนักเรียน โรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือก
ในแต่ละวันเมื่อเด็ก ๆ มาถึงโรงเรียนแล้ว หลังจากที่เก็บกระเป๋าเรียบร้อยก็จะลงมาปรนนิบัติสถานที่ ปัดกวาดเศษใบไม้ เก็บขยะ ทำความสะอาดโรงเรียน ร่วมกับนักการ จนถึงประมาณ 07.45 น. นักเรียนก็จะตั้งแถวรอเคารพธงชาติ โดยไม่มีเสียงออด เพื่อเป็นการฝึกวินัยให้ตัวเองรู้เวลา รู้หน้าที่ จากนั้นก็จะแยกย้ายเข้าชั้นเรียน และทำจิตศึกษา พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดกันก่อนเข้าเรียน และที่แตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือ ที่นี่ไม่มีการสอบเลื่อนชั้น แต่จะแบ่งการเรียนออกเป็น ควอเตอร์ (Quarter) ปีหนึ่งจะมี 4 ควอเตอร์ ควอเตอร์ละ 10 สัปดาห์ เมื่อเรียนครบตามควอเตอร์จะเป็นการสรุปองค์ความรู้ทั้งหมดโดยการพรีเซ็นต์สิ่งที่ได้เรียนรู้มา หรือพรีเซ็นต์สิ่งที่ชอบที่มีการบูรณาการกับการเรียนรู้ และใช้คะแนนจากส่วนนี้เป็นตัวชี้วัด
ปรนนิบัติสถานที่ช่วงเช้าก่อนเข้าแถว ทำความสะอาดพื้นที่ต่าง ๆ ในโรงเรียน
เข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
จิตศึกษา พัฒนาปัญญาภายในให้เข้มแข็ง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่
จิตศึกษา คือ การพัฒนาปัญญาภายในหรือความฉลาดด้านใน ได้แก่ การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เห็นคุณค่าในตัวเอง คนอื่น และสิ่งต่าง ๆ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย การอยู่ด้วยกันอย่างเท่าเทียม ยอมรับในความแตกต่าง เคารพและให้เกียรติกัน การมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม อยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย การมีสติอยู่เสมอ รู้เท่าทันอารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุดหรือไปต่อกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ มีความคิดสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้ รวมถึงการเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่าง ๆ นอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่ด้วย ซึ่ง ผอ.เอ๋ บอกว่า “การที่เราใช้จิตศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาภายใน ทำให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีความเข้มแข็ง มีความร่วมมือ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาผู้เรียน พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น”
การทำจิตศึกษา เพื่อให้นักเรียนแสดงความเห็น กล้าแสดงออก
หลังจากที่ทำจิตศึกษาเรียบร้อยก็จะแยกย้ายกันไปเรียนวิชาหลัก เมื่อเข้าช่วงบ่ายก็จะเป็นการทำ Body Scan (ฝึกสมาธิ คล้ายวิปัสสนา) เป็นการนั่งหรือนอนเพื่อผ่อนคลาย ให้ครูเล่านิทานหรืออ่านบทความดี ๆ มีคติสอนใจ หรือเป็นเรื่องราวที่เข้าถึงได้ง่ายให้เด็กฟัง หลังจากนั้นจะเป็นช่วง PBL ของแต่ละชั้นเรียน
การทำ Body Scan เพื่อผ่อนคลายหลังจากพักกลางวัน
PBL เปลี่ยนปัญญาภายนอกเป็นแรงจูงใจ
PBL (Problem-Based Learning) คือ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ซึ่งปัญหานั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเด็กนักเรียน อาจเป็นเรื่องที่สนใจหรือมีความหมายที่สามารถนำมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ ซึ่งการเรียนรู้ด้วย PBL จะมุ่งสร้างประสบการณ์ตรง จึงเน้นให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ ฝึกทักษะการคิด เผชิญสถานการณ์ปัญหา วางแผนการเรียนรู้ และตรวจสอบกำกับการเรียนรู้ นอกจากนี้ PBL ยังช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียนได้อีกด้วย ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่า การเรียนรู้ด้วย PBL เป็นการใช้ปัญหาทำให้เกิดปัญญานั่นเอง
การเรียนรู้ด้วย PBL (Problem-Based Learning) หรือการใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้
ให้นักเรียนได้เรียนรู้ สืบค้นด้วยตัวเอง
PCL สานต่อความสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้ปกครอง
เมื่อถึงเวลาเลิกเรียนประมาณ 15.30 น. นักเรียนทุกคนจะสวดมนต์ ทำเวร และกลับบ้านตามปกติ หลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงเวลา PCL ของครู เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวในแต่ละวัน ซึ่งบางครั้งอาจจะมีผู้ปกครองร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดส่วนร่วมนอกห้องเรียน รวมไปถึงในครอบครัวของนักเรียนด้วย
ความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ หลังจากได้เรียนหลักสูตร STEEM 4E
ผอ.เอ๋ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ก่อนจะนำหลักสูตร STEEM 4E มาใช้นั้น เด็กนักเรียนในโรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กในชุมชน หรือเด็กที่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่น รวมถึงมีเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยเล็กน้อย ในช่วงแรก ๆ เด็กหลายคนมีปัญหาในเรื่องของการใช้ภาษา ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ครูก็ใช้วิธีการเล่านิทาน วรรณกรรมต่าง ๆ ให้เด็กฟัง เพื่อเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับคำศัพท์และคลังคำ ทำให้เด็กมีความมั่นใจมากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออก สามารถสรุปองค์ความรู้และนำไปสังเคราะห์ต่อยอดได้ มีเป้าหมายในการเรียน การใช้ชีวิตชัดเจนขึ้น วางแผนเป็น เป็นนักเรียนรู้ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ และมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของครูก็เป็นสนามพลังบวกมากขึ้น ครูเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กก็มีพลังที่จะทำต่อไป โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไว้วางใจได้ เด็กมีปัญหาอะไรก็จะมาปรึกษาครู นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและครูที่โรงเรียนก็เป็นไปในทิศทางที่ดีและเข้มแข็งขึ้นด้วย
โรงเรียนชุมชนวัดต้นเชือก นับเป็นโรงเรียนต้นแบบที่ได้รับการสนับสนุนผลักดันจากกลุ่ม ปตท. ซึ่งเล็งเห็นในเรื่องของการศึกษาให้มีจุดเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียน นักเรียน และชุมชน เสริมสร้างทักษะให้เด็ก ๆ มีความมั่นใจ กล้าแสดงออก ได้รู้จักทั้งตัวเองและผู้อื่น รวมถึงสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และสังเคราะห์ความรู้ที่ได้มาจากการเรียนรู้ไปต่อยอดในชีวิตจริงได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อในอนาคตเด็ก ๆ เหล่านี้จะกลายมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อไป