กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงข่าวพบแหล่งลิเทียมในไทย ปริมาณสูงอันดับ 3 ของโลก ที่แท้เข้าใจคาดเคลื่อน Mineral Resource ไม่ใช่ปริมาณลิเทียม

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
จากกรณีข่าวฮือฮา ว่าไทยพบแร่ลิเทียมปริมาณสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นแหล่งขุมทรัพย์ผลิตแบตเตอรี่ EV ในรถไฟฟ้า จนกลายเป็นที่ฮือฮานั้น ดูเหมือนจะกลายเป็นความเข้าใจผิด เมื่อล่าสุด (19 มกราคม 2567) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกมาเผยแพร่ข่าวชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้
อ่านข่าว : ไทยพบแร่ลิเทียมสูง 14 ล้านตัน อันดับ 3 โลก ขุมทรัพย์ใหม่ผลิตแบตเตอรี่รถ EV
"กพร. ชี้แจงข้อมูลเรื่องผลการสำรวจแหล่งลิเทียมในประเทศไทย
ตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เผยแพร่ข่าวว่ามีการพบแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งแร่จากหินแข็งในพื้นที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติมีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน
หากออกแบบแผนผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสมและสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 25 คาดว่าจะสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน นั้น
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม
ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดยะลา โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป

ภาพจาก dpim.go.th