Thailand Web Stat

ตัวย่อรถยนต์ไฟฟ้าต่างกันอย่างไร แบบไหนน่าใช้ที่สุด

รถยนต์ไฟฟ้า HEV PHEV BEV EREV และ FCEV ล้วนเป็นรถกลุ่มทางเลือกใหม่นอกเหนือจากรถ ICE ที่เราใช้กันมานาน ว่าแต่คำเหล่านี้ย่อมาจากอะไร แตกต่างกันยังไง แล้วแบบไหนดีสุด 

ตัวย่อรถ EV

ในวงการรถยนต์มักจะมีการใช้คำย่อเรียกสิ่งต่าง ๆ เยอะแยะมากมายจนหลายคนอาจจะงงไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ซึ่งมีทั้ง HEV PHEV BREV EREV REEV FCEV ที่คาดว่าจะมาแทนรถ ICE (Internal Combustion Engine) หรือรถที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในในอนาคตอันใกล้นี้ แค่นี้ก็งงแล้วใช่ไหม ? ว่าแต่คำย่อพวกนี้คือรถอะไร ต่างกันยังไง มีชื่อเต็มว่าอะไร และรถแบบไหนน่าสนใจที่สุด ซึ่งคนที่สนใจซื้อรถพลังงานใหม่อาจจำเป็นต้องรู้ไว้

แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกับรถยนต์ NEV ประเภทต่าง ๆ เราควรรู้จักกับรถ ICE กันก่อน ซึ่งย่อมาจาก Internal Combustion Engine หมายถึงรถยนต์แบบเดิมที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในล้วนในการขับเคลื่อน มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับรถ BEV และคาดการณ์กันว่าในอนาคตรถ ICE จะเริ่มหายไปในที่สุด แต่ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายยังคงพยายามพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาสำหรับใช้กับเครื่องยนต์ควบคู่กันไปด้วย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ หรือการใช้ก๊าซไฮโดรเจนแทนน้ำมันเชื้อเพลิงในการจุดระเบิดต่อไป

HEV PHEV BEV EREV NEV
และ FCEV คือรถอะไร

รถ HEV

1. HEV รถยนต์ไฮบริด

HEV ย่อมาจากคำว่า Hybrid Electric Vehicle หรือรถยนต์ไฮบริด ซึ่งมีทั้ง MHEV (Mild Hybrid) กับ Full HEV (Full Hybrid) เป็นรถที่ยังติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่ อาศัยมอเตอร์ไฟฟ้ากับแบตเตอรี่ขนาดเล็กช่วยเสริมกำลัง โดยมอเตอร์ไฟฟ้าของระบบ MHEV จะไม่ขับเคลื่อนล้อโดยตรง ขณะที่ Full Hybrid ทำได้ในระยะสั้น ๆ ข้อดีคือ ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง ปล่อยมลพิษน้อยลง และไม่ต้องกังวลเรื่องการชาร์จไฟจากภายนอก

2. PHEV รถปลั๊กอินไฮบริด

PHEV ย่อมาจากคำว่า Plug-in Hybrid Electric Vehicle หรือรถปลั๊กอินไฮบริด หลักการทำงานจะคล้ายกับ HEV เพียงแต่ติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ขึ้น สามารถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วนได้ไกลกว่า ทำให้อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันน้อยลงไปอีก และต้องชาร์จไฟจากภายนอกคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้า สามารถเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ได้โดยตรง แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องระยะทางวิ่ง เพราะมีเครื่องยนต์ช่วยขับเคลื่อน

รถ PHEV

3. BEV รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่

BEV ย่อมาจาก Battery Electric Vehicle หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หากจะเรียกง่าย ๆ ว่ารถยนต์ไฟฟ้าล้วนก็ได้เช่นกัน ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่จ่ายไฟด้วยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ข้อดีคือ ขับเคลื่อนโดยไร้มลพิษ มอเตอร์ไฟฟ้าสามารถสร้างแรงบิดสูงได้ในทันที เร่งได้เร็วทันใจ ไม่มีเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์ แต่มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น สถานที่พักอาศัยไม่อำนวยต่อการชาร์จ ระยะทางวิ่งจำกัด รวมถึงการชาร์จไฟที่ต้องใช้เวลานานกว่าการเติมน้ำมันค่อนข้างมาก

รถ BEV

4. EREV รถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งเครื่องยนต์ขนาดเล็กเพื่อปั่นไฟเข้าแบตเตอรี่

EREV ย่อมาจาก Extended Range Electric Vehicle บ้างใช้คำว่า REEV (Range Extended Electric Vehicle) คือ รถยนต์ไฟฟ้าที่ขยายระยะทางวิ่งด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในขนาดเล็กเพื่อปั่นไฟเข้าแบตเตอรี่เท่านั้น แต่รถยังขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วน และยังต้องชาร์จไฟจากแหล่งจ่ายไฟภายนอก

อย่างไรก็ตาม มี HEV บางรุ่นที่มีรูปแบบการทำงานใกล้เคียงกับ EREV คือ วิ่งด้วยไฟฟ้าล้วนแต่ใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็ก ต้องใช้เครื่องยนต์สร้างกระแสไฟตลอดเวลา และไม่สามารถชาร์จไฟจากแหล่งจ่ายไฟภายนอกได้

5. รถ FCEV รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง

FCEV ย่อมาจาก Fuel Cell Electric Vehicle หรือรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วนเหมือน BEV แต่ใช้ไฮโดรเจนเหลวมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งข้อดีคือ ใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กกว่า BEV ระยะเวลาที่ใช้ในการเติมไฮโดรเจนใกล้เคียงกับรถที่เติมน้ำมัน

รถ FCEV

นอกจากนี้ ไฮโดรเจน พลังงานแห่งอนาคตที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก สามารถผลิตได้จากแหล่งวัตถุดิบหลายประเภท ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนกว่า

ทำให้ในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ๆ ต่างพัฒนาเทคโนโลยี FCEV เพื่อรองรับพลังงานรูปแบบใหม่ควบคู่ไปกับ BEV ซึ่ง กลุ่ม ปตท. ได้เตรียมความพร้อม และนำร่องผลักดันเทคโนโลยีไฮโดรเจนทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน และภาคขนส่งของประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถการเเข่งขันของประเทศ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล จึงได้มีการริเริ่มโครงการนำร่องการติดตั้งสถานีเติมไฮโดรเจน (Hydrogen Refueling Station) เพื่อทดสอบการใช้งานไฮโดรเจนในรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle : FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย ณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยความร่วมมือของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT), บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR), บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) และ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่น Toyota Mirai จำนวน 2 คัน บริการในรูปแบบรถรับ-ส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งมีการต่อยอดสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้รองรับรถบรรทุกขนส่งและรถหัวลาก

สถานีเติมไฮโดรเจน

ภาพจาก : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

สถานีเติมไฮโดรเจน

ภาพจาก : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

สถานีเติมไฮโดรเจน

ภาพจาก : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ กลุ่มยานยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle : NEV) ที่จะมาทดแทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในล้วน อาจไม่ได้เจาะจงแค่รถพลังงานแบบใดแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะอนาคตเป็นเรื่องคาดเดาได้ยากว่ารถยนต์รวมถึงพลังงานที่ใช้จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและไม่มีความตายตัว แต่เชื่อแน่ว่าจะก้าวไปสู่ยุคแห่งพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหาโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ให้เป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตัวย่อรถยนต์ไฟฟ้าต่างกันอย่างไร แบบไหนน่าใช้ที่สุด อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2567 เวลา 09:10:51 8,860 อ่าน
TOP