รวมพลแห่จับ ปลาหมอคางดำ บุกแหล่งน้ำ กทม. - เผยสาเหตุทำไมนอนลอยกันเพียบ


           ชาวบ้านรวมใจ แห่จับปลาหมอคางดำที่บึงมักกะสัน เผยสาเหตุทำไมลอยน็อกน้ำหลายพันตัว คนเผยทำเมนูไหนอร่อยบ้าง

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

           กรณี ปลาหมอคางดำ หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่แพร่ระบาดไปหลายจังหวัด รวมทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งหลายชุมชนมีความพยายามในการกำจัดเพื่อลดปริมาณปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง


ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก อีซ้อขยี้ข่าว3 โพสต์ภาพชาวบ้านบุกจับปลาหมอคางดำที่ลอยอยู่ใต้สะพานหลายพันตัว ระบุว่า "ชาวบ้านแถวบึงมักกะสันบุกปราบเอเลี่ยน ปลาหมอคางดำไปทำเมนูอาหารเย็นวันนี้ ตกเย็นบรรยากาศเริ่มคึกคัก...มึงมาผิดจังหวัดหละ" นอกจากนี้ ยังพบว่าหลายคนที่ไปจับแล้วตั้งแต่ช่วงสาย โพสต์คลิปต่าง ๆ ลงโซเซียล จะเห็นว่ามีปลาลอยเต็มบึง ส่งผลให้ประชาชนพากันมุ่งหน้ามายังบึงมักกะสันเพื่อจับปลาเช่นกัน

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก สิรวิทย์ ช่วงเสน sirawit chuangsen

           ความคืบหน้าเรื่องนี้ วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 รายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า ประชาชนบางส่วนในพื้นที่ กทม. ต่างเดินทางมาพร้อมกับอุปกรณ์จับปลาและกล่องใส่ปลา ทั้งถัง กระสอบ ตะกร้า กะละมัง กล่องโฟม ซึ่งพบว่า ในบึงแห่งนี้มีปลาหลากหลายชนิด ทั้งปลานิล ปลาหมอคางดำ

           โดยบรรยากาศการจับปลาเป็นไปอย่างคึกคัก พอจับได้ต่างนำปลาใส่กระสอบซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หรือหลังรถกระบะกลับไปเพียบ ส่วนใหญ่ บอกว่าจับปลาไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร บางส่วนนำไปขายก็มี บางคน ขับรถมาจากพระราม 2 เพื่อมาจับปลาหมอคางดำ พบว่าบางส่วนจับกันถึงมืด 19.00 น. ส่องไฟฉายจับ แต่ช่วงนี้จะได้ปลาตัวเล็ก เพราะปลาตัวใหญ่ถูกจับไปหมดแล้วตั้งแต่ช่วงบ่าย

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก สิรวิทย์ ช่วงเสน sirawit chuangsen

           สอบถาม นายพูนสิทธิ์ อายุ 44 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่มาจับปลา ระบุว่า ตนขี่รถมาจากพระราม 2 เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง วันนี้จับได้ 2 กระสอบใหญ่ เฉลี่ยกระสอบละ 20 กิโลกรัม โดยปลาที่จับได้เหล่านี้จะนำไปทำอาหาร และนำไปแบ่งให้เพื่อนร่วมงาน 30-40 คน รับว่าก่อนหน้านี้เคยกินปลาหมอคางดำแล้ว โดยจะนำไปตากแห้ง แล้วนำมาทอด ส่วนรสชาติจะคล้าย ๆ ปลานิล แต่ที่มาจับครั้งนี้จะลองนำไปทำเมนูใหม่ที่ยังไม่เคยลองคือ "ต้มยำปลาหมอคางดำ"  ยืนยันว่าปลาชนิดนี้เราสามารถกินได้จริง แต่ก็สงสัยเช่นกันที่ปลาหมอคางดำมาโผล่แหล่งน้ำ กทม. ที่อาจทำลายระบบนิเวศน์ และมองว่าการมาช่วยกันจับปลาหมอคางดำไปกินแบบนี้เป็นเรื่องที่ดี

           ด้าน นายณัฐพล อายุ 30 ปี ชาวบ้านย่านประชาสงเคราะห์ซอย 2 ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบึงมักกะสัน บอกว่า ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง จับได้ทั้งปลานิลและปลาหมอคางดำ รวมกว่า 6 กระสอบ เฉลี่ยกระสอบละ 20 กิโลกรัม โดยจะนำไปทำเมนูย่างเกลือ ต้มยำ ยืนยันรสชาติเหมือนปลานิล ซึ่งเมนูแรกที่จะทำหลังกลับถึงบ้าน คือ นำไปเผาและทอดกรอบแกล้มเหล้า ยอมรับว่า เพิ่งจะเจอปลาหมอคางดำที่บึงแห่งหนึ่งราว 2 สัปดาห์ก่อน แปลกใจเช่นกันว่าปลาชนิดนี้มาได้ยังไง  

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

           ขณะที่ นายกรณิศ บัวจันทร์ ผอ.เขตราชเทวี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการอนุญาตให้จับปลาหมอคางดำที่บึงมักกะสัน แต่หลัก ๆ ที่พบคือปลานิล โดยบึงแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่สำหรับกักเก็บน้ำ และเป็นแหล่งที่ผู้คนชอบมาตกปลา ความจริงก็ห้ามตลอดเพราะห่วงเรื่องอันตราย แต่กรณีนี้เป็นกรณีที่เกิดวิกฤต และจะปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร

           ส่วนสาเหตุที่เกิดภาพปลานานาชนิดเต็มบึง จากการสอบถามสำนักระบายน้ำ เป็นเพราะเร่งลดน้ำเพื่อรองรับฝน ป้องกันปัญหาน้ำท่วม เมื่อน้ำลดลงจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ปิดประตูระบายน้ำ ส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจน ก็เกิดภาวะปลาน็อกน้ำ ตอนแรกได้ข้อมูลว่ามีเฉพาะปลานิล แต่พอลงพื้นที่ชาวบ้านเอาให้ดูก็พบว่ามีปลาหมอคางดำอยู่ด้วยลอยเกลื่อนบึงมักกะสัน 

           ขณะนี้ทางผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการแล้ว เพราะเบื้องต้นพบปลาหมอคางดำในพื้นที่ฝั่งธนบุรี และเมื่อวานนี้ (15 กรกฎาคม) บุกมาถึงกรุงเทพฯ ฝั่งในแล้ว แสดงว่าตอนนี้คงไปทั่วแล้ว ไม่ใช่ว่าจะมีเพียง 3-4 เขตเท่านั้น จากนี้ต้องหามาตรการช่วยกัน และประชาชนก็เป็นส่วนสำคัญในการช่วยเรื่องนี้ด้วย

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

           สำหรับบึงมักกะสัน จะมีคูคลองใกล้เคียง อย่างเช่น คลองสามเสน ระบายน้ำลงบึงมักกะสัน ส่งต่อไปท่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีขั้นตอนการระบายน้ำอยู่ พอน้ำลดไปเยอะจึงเกิดประเด็นเป็นปัญหานี้ขึ้นมา แต่น้ำตรงนี้จะไม่ระบายเข้าเมือง จะไประบายออกทางคลองแสนแสบ และมีประตูระบายน้ำระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนในวันนี้ (16 กรกฎาคม) เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตจะมาเก็บซากปลาตายในบึง เพราะปลาน็อกน้ำและตายเยอะ เพราะหากปล่อยไว้ปลาจะเน่า ส่งผลให้น้ำเน่า ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ได้

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก สิรวิทย์ ช่วงเสน sirawit chuangsen

ปลาหมอคางดำ
ภาพจาก สิรวิทย์ ช่วงเสน sirawit chuangsen

ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวมพลแห่จับ ปลาหมอคางดำ บุกแหล่งน้ำ กทม. - เผยสาเหตุทำไมนอนลอยกันเพียบ อัปเดตล่าสุด 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 16:23:02 14,154 อ่าน
TOP
x close